ธุรกิจมากมายเกิดจากการคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อช่วยแก้ปัญหาของมนุษย์ ทว่าภายใต้การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น ยังมีธุรกิจอีกไม่น้อยเช่นกันที่เน้นในการตอบสนอง “ความเกียจคร้าน” ของมนุษย์ และได้การตอบรับที่ดีไม่น้อย ซึ่งมันถูกเรียกว่าธุรกิจแบบ Lazy Economy
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าศาสตร์แห่งความขี้เกียจที่ประยุกต์เข้ากับธุรกิจนี้แอบแฝงอยู่ในการซื้อขายอยู่ตลอดมา และปัจจุบันเรื่องราวของความขี้เกียจยิ่งส่งผลชัดขึ้นจนกลายเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว
Lazy Economy เมื่อความขี้เกียจกลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญ
“อยากผอมจัง แต่ไม่อยากออกกำลังเลย”
“บ้านสกปรกจัง แต่ขี้เกียจทำความสะอาด”
“อยากกินข้าวร้านอร่อยแต่ไม่อยากต่อคิว”
สมัยก่อนเรื่องดังกล่าวอาจเป็นเรื่องที่ดูไร้สาระ แต่ถ้าในตอนนี้มีคนบอกว่ามีเครื่องจักรที่พร้อมล้างจานให้คุณ เช็ดพื้นให้คุณ มันก็อาจเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว มีผู้คนจำนวนมากยอมจ่ายเงินหลักหมื่นหลักแสน เพื่อให้ตัวเองสบายขึ้นสักนิดก็ยังดี เศรษฐกิจขี้เกียจ หรือ Lazy Economy จึงกลายเป็นอีกตัวแปรสำคัญ
Lazy Economy คือ เศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับความขี้เกียจของมนุษย์ โดยมองความขี้เกียจเป็นเสมือน “โจทย์” ให้ผู้ประกอบการแก้ปัญหาด้วยปัจจัยต่างๆ และยังรวมไปถึงการทำให้มนุษย์สะดวกสบายในการทำงานต่างๆ มากขึ้น
ตัวแปรสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจแบบนี้เติบโตจึงไม่ใช่เพราะจำนวนคนขี้เกียจเยอะขึ้น แต่เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในปัจจุบันมีความหลากหลายมากขึ้น จนมากพอที่จะตอบสนองความต้องการยิบย่อยของมนุษย์ต่างหาก ซึ่งมูลค่าของตลาด Lazy Economy ก็เพิ่มมากขึ้นตามความหลากหลายของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ นั่นเอง
Lazy Economy อาจมีมานานกว่าที่เราคิด
การไม่ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าคนๆ นั้นเป็นคนขี้เกียจ เพราะมนุษย์จะสรรหาสิ่งที่ทำให้ตัวเองสะดวกขึ้นอยู่เสมอ
นิยามของ “เศรษฐกิจขี้เกียจ” อาจดูเป็นของใหม่สำหรับใครหลายคน แต่หากลองสังเกตดูดีๆ เหล่า “สิ่งอำนวยความสะดวก” นั่นเอง ที่เปรียบเสมือนสินค้าพื้นฐานดั้งเดิมของ Lazy Economy ตั้งแต่ ตั้งแต่เครื่องดูดฝุ่นที่มาแทนไม้กวาด เครื่องทำความร้อนและเครื่องทำความเย็นที่เข้ามาแทนเตาผิงและพัดลม
ดังนั้น Lazy Economy จึงเป็นการมองลึกเข้าไปในเศรษฐกิจที่มีสองด้าน ทั้งการเพิ่มความสะดวกให้กับเหล่าคนที่ไม่มีเวลา และการตอบสนองความขี้เกียจสำหรับคนที่ไม่คิดจะทำเองมาเนิ่นนานแล้ว แต่เราแค่เห็นภาพชัดขึ้นเมื่อมีเม็ดเงินหมุนเวียนที่มากขึ้น และจากเทคโนโลยีที่มีความหลากหลายมากขึ้นนั่นเอง
การทำธุรกิจแบบ SLOTH เพื่อ Lazy Economy
สำหรับคนที่อยากทำธุรกิจที่เกี่ยวกับความขี้เกียจ เราจะสามารถตอบสนอง Lazy Economy ของยุคนี้ได้อย่างไร ? คำตอบคือการทำธุรกิจแบบ SLOTH นั่นเอง โดยมีรายละเอียดคือ
Speed: มีความรวดเร็ว ตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้เร็วที่สุด
Lean: มีความกระชับ ไม่ทำอะไรที่ยุ่งยาก เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกว่าตัวเองใช้งานได้ง่าย
Enjoy: ลูกค้าต้องรู้สึกสนุกในการทำสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวกับสินค้าและบริการนั้น
Convenient: มีความสะดวก ตอบสนองทั้งความขี้เกียจและไม่มีเวลา
Happy: ลูกค้าต้องมีความสุขเนื่องจากสินค้าและบริการสามารถตอบสนองความต้องการของตัวเองได้
โดยจะเป็นการประยุกต์ใช้ทั้ง 5 สิ่งนี้เข้าร่วมกับการทำธุรกิจ โดยมองลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการของตัวเองต่อไป
ตัวอย่างธุรกิจที่ใช้แนวคิดจาก Lazy Economy
ในยุคปัจจุบันมีหลากหลายธุรกิจที่พัฒนาสินค้าและบริการจาก Lazy Economy ไม่ว่าจะในไทยหรือต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น
บริการต่อคิวและจัดการคิว เช่น แอปพลิเคชั่น QueQ ที่ช่วยให้คนสามารถต่อคิวร้านที่ต้องการได้โดยที่ไม่ต้องยืนรออีกต่อไป หากลงทะเบียนกับร้านที่ต้องการทานแล้วเราสามารถไปเดินเล่นหรือทำอย่างอื่นรอได้จนกว่าจะโดนเรียกคิว ซึ่งจะมีสัญญาณเตือนในแอปพลิเคชั่น
เครื่องออกกำลังกายต่างๆ ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อรองรับการออกกำลังกายในบ้านมากขึ้น สามารถพับเก็บได้สะดวก เหมาะสำหรับคนขี้เกียจไปข้างนอกหรือเข้าฟิตเนส
หุ่นยนต์ทำความสะอาด เครื่องดูดฝุ่นหลบไป ในตอนนี้เราไม่จำเป็นต้องกวาด หรือไล่ดูดฝุ่นทีละห้องๆ แต่เราสามารถปล่อยให้หุ่นยนต์ดูดฝุ่นขนาดเล็ก คอยทำความสะอาดห้องแทนเราได้ทันที
ปั้มน้ำมันแบบ One stop service การที่เรามีทุกอย่างในปั้มอาจเป็นเรื่องที่คนสมัยนี้เห็นจนชินตา แต่รู้หรือไม่ว่าเรื่องนี้ก็มีเบื้องหลัง โครงการ PTT Life Station ของปตท.มีการดำเนินการตั้งแต่ปี 2552 เพื่อพัฒนาสถานีบริการน้ำมันให้เป็นมากกว่าจุดจอดเติม เปลี่ยนให้ปั้มธรรมดามีบริการที่หลากหลาย ตอบโจทย์ทุกไลฟืสไตล์ตั้งแต่ร้านขายของฝากจนถึงศูนย์บรการยานยนต์ และได้กลายเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งของการทำปั้มน้ำมัน ปตท.ที่ปัจจุบันกำลังถูกคู่แข่งในตลาดไล่ตามอยู่
เครื่องล้างจานอัตโนมัติ เครื่องจักรที่เพียงใส่จานเข้าไปเครื่องก็จะทำการล้างให้ทันทีโดยเราไม่จำเป็นจะต้องทำอะไรนอกจากรอ และนำจานไปเก็บ
บริการส่งอาหาร ที่ปัจจุบันเปลี่ยนรูปแบบเป็นแอปพลิเคชั่นสำหรับสั่งอาหาร ทำให้คนไม่จำเป็นต้องออกจากบ้านไปสั่งข้าวอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นบริการอย่าง Foodpanda, Grab หรือ Lineman นอกจากนั้นยังรวมไปถึงการสั่งของสดจากซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ เช่นกัน
สรุป
Lazy Economy ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย มันคือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ได้รับการพัฒนา ผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เพื่อทำให้มนุษย์เข้าถึงง่ายขึ้น สะดวกสบายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคนขยันที่ไม่มีเวลาหรือคนขี้เกียจจริงๆ ขอเพียงยินดีจะจ่ายเงินเท่านั้น