Eco Friendly Material หรือก็คือวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างมากจากกระแสรักษ์โลกที่เกิดมากขึ้นเรื่อยๆ กระแสดังกล่าวกระตุ้นให้เกิดความสนใจในการใช้งาน รวมถึงการวิจัยคิดค้นและพัฒนาสิ่งของต่างๆ จากวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่ใช่แค่การประดิษฐ์สิ่งใหม่ หรือวัสดุนวัตกรรม แต่รวมไปถึงการทำให้สิ่งเหล่านั้นเข้าถึงคนหมู่มากได้
ทว่าก่อนเราจะ “ใช้” หรือ “ซื้อ” สิ่งที่ทำจาก Eco Friendly Material การทำความรู้จักมันให้มากขึ้น ก็เป็นสิ่งสำคัญไม่น้อย เพราะเราจะได้รู้ว่าที่มาที่ไปของสิ่งที่เรากำลังจะใช้คืออะไร และทำไมมันจึงเป็นเรื่องสำคัญ จนโลกทั้งใบพยายามดันมันขึ้นให้มันเป็น “เทรนด์” ของช่วงปี 2020
ทำความรู้จักกับ Eco Friendly Material
ดังที่ระบุข้างต้นว่า Eco Friendly Material มีความหมายตรงตัวเลยคือเป็นวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประเด็นจึงตกมาอยู่ที่นิยามของคำว่า “เป็นมิตร” ซึ่งมักแตกต่างไปตามแต่ละคน
วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสำหรับยุคปัจจุบันคือ วัสดุที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นในการผลิต ใช้งาน ไปจนถึงการกำจัด ซึ่งบางฝ่ายก็ได้ให้คุณสมบัติเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Eco Friendly Material ไว้ด้วย ดังนี้
- สามารถใช้ซ้ำ/รีไซเคิลได้
- มีความคงทน สามารถใช้งานได้คุ้มค่า
- เป็นวัสดุที่ไม่ได้ใช้แล้วหมดไป สามารถผลิตเพิ่มได้
- ช่วยลดมลพิษในสิ่งแวดล้อม
- สามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติ
- มีการใช้พลังงานในการสร้างต่ำ
แน่นอนว่าด้วยเงื่อนไขมากมายทำให้วัสดุเหล่านี้นั้นดูเหมือนหายากในสายตาใครหลายคน แต่รู้หรือไม่ว่าแท้จริงแล้ว วัสดุแบบ Eco Friendly อยู่ใกล้ตัวคุณมากกว่าที่คิด
ตัวอย่างของ Eco Friendly Material
- เหล็กรีไซเคิล เหล็ก เป็นวัสดุที่มีอายุการใช้งานยาวนานและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้เรื่อยๆ รวมถึงมีต้นทุนในการรีไซเคิลที่ค่อนข้างต่ำหากเทียบกับวัสดุอื่นๆ นอกจากการใช้งานแล้วเหล็กรีไซเคิลยังสามารถนำไปหลอมเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นโรงงานขนาดใหญ่ หรือคนธรรมดาก็สามารถใช้เหล็กดังกล่าวเพื่อทำเป็นชิ้นงานต่อได้
- ไม้ไผ่ สุดยอดวัสดุ Eco Friendly Material ของโลกเรา ไม้ไผ่ที่เราเห็นกันจนชินตานี้ถือเป็นอีกหนึ่งวัสดุที่สามารถหาได้ง่าย เติบโตได้เร็ว สามารถโตได้ถึง 3 ฟุต ใน 1 วัน สามารถหาได้ทุกที่ยกเว้นแต่พื้นที่เขตหนาว ไม้ไผ่มีความแข็งแรง สามารถรองรับน้ำหนักได้มาก ในทางกลับกันตัวมันเองก็มีน้ำหนักที่เบา สามารถประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย ทั้งการสร้างบ้าน ทำรั้ว ทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ไปจนถึงประยุกต์ใช้เพื่อการก่อสร้างตึกเลยทีเดียว
- ไม้รีไซเคิล ไม้รีไซเคิลเกิดจากการนำเศษไม้ธรรมชาติผสมกับไม้อัดแล้วทำการอัดแปรรูปเป็นแท่ง ก่อให้เกิดไม้อัดแผ่นขึ้นมาใหม่ สามารถนำไปใช้ปูพื้น ตกแต่งอาคาร เมื่อมีการเสียหายหากไม่ได้ถูกน้ำหรือมีการปนเปื้อนมากเกินไป ก็สามารถคัดแยก บด แล้วนำไปใช้เป็นไม้อัดใหม่ได้
- คอนกรีดแผ่นสำเร็จรูป (Precast concrete slabs) สาเหตุที่คอนกรีตแผ่นสำเร็ตได้มาติดอันดับของ Eco Friendly Material นี้ เป็นเพราะการใช้พลังงานผลิตที่น้อย แต่สามารถใช้งานได้หลากหลาย นอกเหนือจากนั้นปัจจุบันยังมีความพยายามผลักดันและวิจัยคอนกรีตรีไซเคิล ที่ช่วยให้คอนกรีตสำเร็จรูปเปล่านี้ดีกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นไปอีก
- ขนแกะ แม้จะไม่ใช่ของคุ้นเคยสำหรับเมืองร้อนอย่างประเทศไทย แต่สำหรับประเทศเขตหนาวแล้ว ขนแกะถือเป็นอีกหนึ่งวัสดุที่สำคัญไม่น้อยในการใช้งานทำเสื้อผ้า ด้วยความที่มันงอกใหม่ได้ สามารถตัดได้เร็ว ใช้งานได้หลากหลาย จึงเป็นวัสดุที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับวงการเครื่องนุ่งห่ม ที่ปัจจุบันยังหาอะไรมาแทนได้ไม่ง่ายนัก
นั่นเป็นเพียงส่วนเดียวจากการใช้งาน Eco Friendly Material ยังมีวัสดุอีกมากที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพียงแต่ขาดการทำความเข้าใจและการจัดการที่ดี หากเรามีการศึกษาและให้ความสำคัญกับวัตถุดิบมากกว่านี้ ไม่แน่ว่าหลังจากนี้ต่อไปทุกอย่างที่เราสามารถผลิตได้จะถูกเปลี่ยนเป็น Eco Friendly Material แทบทั้งสิ้น
ไม่เพียงแค่การผลิตที่สำคัญ
ไม่ใช่เพียงการผลิตที่ใช้งาน Eco Friendly Material เท่านั้นที่เป็นเรื่องที่สำคัญ แต่การจัดการอย่างครบวงจรตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) ตั้งแต่การคัดสรรวัตถุดิบ การผลิต การตรวจสอบ การใช้งาน ไปจนถึงการกำจัด ของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคด้วย ดังนั้นการวางแผนการจัดการจึงต้องคำนึงถึงอายุการใช้งานของวัตถุดิบแต่ละประเภท และแนวทางการจัดการอย่างประสิทธิภาพ
ไม่เช่นนั้นต่อให้เราผลิต Eco Friendly Material ออกมาเป็นร้อยๆ อย่าง แต่มีการกำจัดที่ไม่ถูกต้อง ทิ้งร่วมกับขยะอื่นๆ แบบไม่คัดแยก วัสดุที่เคยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็สามารถก่อให้เกิดความเดือดร้อนได้ไม่ต่างจากวัสดุประเภทอื่นๆ ได้
