เกมไม่ใช่แค่เรื่องของเด็กๆ แต่เกมแฝงอยู่ในแทบทุกอย่างของชีวิตประจำวันของเรา ตั้งแต่คุณตื่นนอน ทำงาน ไปจนถึงเข้านอน การใช้ความคิด ความท้าทาย การแข่งขันหลายอย่างในเกม เป็นตัวจุดประกายให้สิ่งที่เรียกว่า Gamification หรือการใช้แนวคิดเกมมาแก้ปัญหาได้รับความนิยมอย่างมากในตอนนี้
เปิดหลักการทำงานของ Gamification
ทำไมต้องเป็น Gamification
คำอธิบายของ Gamification แบบเข้าใจง่ายๆ คือการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในการทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงาน การเรียน หรือแม้แต่การดำเนินชีวิต ให้คล้ายกับลักษณะของเกม เพื่อทำให้เกิดการจูงในการทำสิ่งต่างๆ มากขึ้น
นั่นเป็นสาเหตุให้เราได้เห็นคนหลายกลุ่มทุ่มทรัพยากร เวลา เงินตรา ให้กับเกม หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่มีแนวทางคล้ายกัน เพราะส่วนใหญ่มีการใช้ Gamification แฝงอยู่ภายในโดยที่เราไม่รู้ตัว
การหลักการทำงานของ Gamification มีด้วยกันหลากหลาย ตามแต่การประยุกต์ใช้ว่าเราต้องการใช้งานรูปแบบใด ซึ่งเราจะนำเสนอในส่วนแก่นของหลักการดังกล่าว เพื่อให้ผู้อ่านสามารถนำไปประยุกต์ใช้ด้วยตัวเองได้ง่ายขึ้น
โดยปัจจัยสำคัญของเรื่องนี้ได้แก่
- Goals (เป้าหมาย)
- Progress (ความคืบหน้า)
- Learning (การเรียนรู้)
- Challenging (ความท้าทาย)
- Track (การเก็บข้อมูล)
- Reward (รางวัล)
- Fun (ความสนุก)
แน่นอนว่านอกเหนือจาก 7 หัวข้อหลักนี้เราอาจมีการเพิ่มเติมเรื่องอื่นๆ เช่น Social (สังคม) Learderboard (การแสดงอันดับ) แต่ใจความหลักเมื่อเราประยุกต์ความเป็นเกมเข้าไป
เช่น ในเชิงการตลาดหากเราต้องการให้ลูกค้าของเรามีการซื้อของมากขึ้น เราอาจกำหนด การซื้อของให้ครบจำนวน (Goals) เพื่อให้ได้รางวัล (Reward) โดยใช้การเก็บข้อมูล (Track) เพื่อดูความคืบหน้าของกิจกรรมและลูกค้าเป็นระยะๆ (Process) ยิ่งลูกค้าซื้อสินค้าได้ครบก็ยิ่งได้ของดีมากขึ้น (Challenge) โดยลูกค้าอาจต้องเรียนรู้ (Learning) ว่าเขาต้องซื้อแบบไหนถึงจะคุ้มค่าที่สุด และหากเราจัดกิจกรรมได้ดี ความสนุก (Fun) ก็จะตามมา
ดังที่บอกว่าในคำอธิบายจะเลือกจุดสำคัญของ Gamification มาเพื่ออธิบาย ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่เราสามารถใช้งานได้
เรามาดูกันต่อเลยว่าทำไมการประยุกต์ใช้ Gamification ถึงเวิร์ก
ทำไม Gamifcation ถึงใช้แก้ปัญหาได้
ทำไม Gamification ถึงช่วยแก้ปัญหาได้จริง สาเหตุหนึ่งคงเพราะมันสามารถเข้าถึงคนได้แทบทุกประเภท และการประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย ดังที่บอกว่ามันคือ ‘กุญแจ’ เผื่อนำไปสู่ความสำเร็จในงานนั้นๆ บางกิจกรรม บางงาน ที่ดูน่าเบื่อหรือไม่น่าสนใจ เราอาจประยุกต์ใช้แนวคิด ‘เกม’ เข้าไปได้
โดย Gamification มีสิ่งที่แฝงอยู่ข้างในเพื่อจูงใจให้คนทำงาน ใช้งาน หรือทำกิจกรรมนั้นๆ ต่อไปแม้ว่าจะกินเวลาหรือลำบากอยู่บ้างก็ตาม ดังนี้
- ความท้าทายสำหรับผู้ทำกิจกรรมนั้นๆ
- มีการแก้ปัญหา มีการอัปเดตผลงานอย่างเป็นขั้นตอน
- ผู้ทำงานหรือทำกิจกรรมเห็นการพัฒนาของตนเอง
- มีรางวัลเพื่อจูงใจให้คนทำกิจกรรมต่างๆ
- มีความยืดหยุ่นในการทำงานสามารถประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย ตั้งแต่กิจกรรมในห้องเรียนไปจนถึงการทำแอปพลิเคชั่น
เห็นแบบนี้มั่นใจว่าหลายๆ คนจะเริ่มอยากนำ Gamification มาประยุกต์กับการทำงานของตัวเองบ้างแล้ว แต่สิ่งสำคัญคืออย่าลืมว่า Gamification ไม่ใช่การใช้เกมแบบตรงๆ แบบเดียวกับ Game-Based Learning แต่อย่างใด
Game-based Learning vs Gamification
เมื่อพูดถึงเกมและการประยุกต์ใช้ แน่นอนว่าคงมีคนสับสนระหว่าง Game-Based Learning และ Gamification หัวข้อนี้จึงจะมาอธิบายสั้นๆ ให้เข้าใจกัน
Game-Based Learning: คือการใช้เกมเป็นสื่อการสอนหรือทำกิจกรรมต่างๆ เช่น เกมที่ช่วยในการคิดเลข เกมที่ช่วยเขียนโค้ด หรือเกมดนตรีที่ฝึกทักษะทางด้านดนตรี
Gamification: การประยุกต์ใช้แนวคิดของเกมเข้ากับธุรกิจ กิจกรรม หรือการเรียนรู้ เพื่อให้การทำงานเหล่านั้นมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จมากขึ้น
เมื่อเข้าใจแล้ว เรามาดูการทำงานของ Gamification ที่เห็นได้ในชีวิตประจำวันกันดีกว่า
การประยุกต์ใช้ Gamification ที่เห็นได้จริง
Gamification อยู่รอบตัวเรา คำพูดนี้คงไม่ผิดไปจากความเป็นจริงเท่าใดนัก และนี่คือตัวอย่างของ Gamification ที่คุณอาจเคยเจอแต่ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีการใช้หลักการนี้แฝงเอาไว้
- ปุ่ม Like บน Facebook
- Achievement ใน Linkedin
- การทำ Level การฝากเงิน ในแอปพลิเคชั่นธนาคารต่างๆ
- การทำแคมเปญการตลาดที่มีการตั้งเป้าหมายและรางวัล
- การทำ UX/UI ในหน้าเว็บไซต์/แอปพลิเคชั่นให้ดูคล้ายเกม
- การวางขั้นตอนการทำงานในบริษัทให้มีความง่าย ความท้าทาย และมี Level
เห็นได้ชัดว่าการทำงานหรือการแกัไขปัญหาปัจจุบันอาจใช้ gamification เข้ามามีส่วนร่วมทำให้ง่ายขึ้น เข้าใจกันได้มากขึ้นและยั่งยืนขึ้นได้ บางบริษัทอาจมีการใช้งานจริงไปโดยไม่รู้ตัว ซึ่งหากเรามาศึกษาในเรื่องนี้มากขึ้น อาจช่วยให้บริษัท หรือการทำงานของคุณมีประสิทธิภาพมากขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่