Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

ธุรกิจคุณอยู่จุดไหนใน Startup Stages

SHARE

ตั้งแต่วินาทีที่คุณตัดสินใจก่อตั้ง Startup หมายถึงการเริ่มต้นก้าวเข้าสู่วงจร Startup Stages ซึ่งมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง และต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่คาดเดาหรือเอาชนะได้ยาก จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ในแต่ละปีจะมีธุรกิจ Startup จำนวนมากที่ล้มเหลวภายในช่วงไม่กี่ปีแรกของการก่อตั้ง

รายงานของ Startup Genome ปี 2019 ระบุว่า 90% ของ Startup ที่ล้มเหลวไม่ได้เป็นเพราะความโชคร้ายหรือปัจจัยของสภาวะตลาดที่อยู่เหนือการควบคุมแต่มักเกิดจากปัจจัยภายใน เช่น การตัดสินใจที่ผิดพลาด การขาดความพร้อมและไม่มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง จึงมองไม่เห็นภาพที่ชัดเจนว่าธุรกิจของตนเองอยู่จุดไหนและจะต้องเดินหน้าต่อไปทางใด

บทความนี้ PTT ExpresSo จะพาไปทำความรู้จัก Startup Stages ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการทุกคนต้องรู้ เพื่อเริ่มต้นขับเคลื่อนและพัฒนาธุรกิจให้ก้าวไปในแต่ละขั้นได้อย่างมั่นคงและประสบความสำเร็จ

มาสำรวจกันว่า ตอนนี้ธุรกิจของคุณกำลังอยู่จุดไหนใน Startup Stages ทั้ง 5 ขั้น ดังต่อไปนี้

startup stages ธุรกิจ

ขั้นที่ 1: Seed Stage

เป็นระยะเริ่มต้นของวงจรธุรกิจ ก่อนที่ Startup จะเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ คุณจำเป็นต้องมีแนวคิดทางธุรกิจและความพร้อมที่จะลงมือทำ ซึ่งควรนำแนวคิดนั้นมาประเมินศักยภาพและความเป็นไปได้ด้วยการรวบรวมคำแนะนำและความคิดเห็นจากบุคคลต่างๆ ให้มากที่สุด เช่น เพื่อนฝูง ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ผู้ร่วมธุรกิจ หรือผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมที่คุณสามารถเข้าถึงได้ เพราะความสำเร็จของธุรกิจมักขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความสามารถของคุณ สภาวะของตลาดที่ต้องการจะแข่งขัน และความสามารถในการหาแหล่งเงินทุนในระยะเริ่มต้น

โดยสรุป นี่คือระยะที่เปิดโอกาสให้คุณพิจารณาความเป็นไปได้ของแนวคิดทางธุรกิจและถามตัวเองว่าคุณมีศักยภาพที่จะทำให้มันประสบความสำเร็จได้หรือไม่ก่อนจะก้าวสู่ขั้นต่อไป

ขั้นที่ 2: Startup Stage

เมื่อคุณได้ตรวจสอบและปรับปรุงแนวคิดทางธุรกิจอย่างละเอียดทุกแง่มุมจนมั่นใจว่าพร้อมแล้ว ก็ถึงเวลาเริ่มลงมือทำธุรกิจให้เป็นรูปเป็นร่าง หลายคนเชื่อว่านี่เป็นระยะที่เสี่ยงที่สุดของวงจรธุรกิจทั้งหมด เพราะความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในขั้นนี้จะส่งผลกระทบต่อบริษัทในปีต่อๆ ไป และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ Startup จำนวนมากต้องล้มเหลว

ดังนั้น ความสามารถในการปรับตัวจึงเป็นสิ่งสำคัญ คุณควรใช้เวลาส่วนใหญ่ในขั้นตอนนี้ไปกับการปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการของคุณให้ตอบโจทย์และสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าตั้งแต่รายแรก อาจมีปัญหาและข้อเสนอแนะมากมายที่ทำให้คุณรู้สึกสับสน การวางแผนล่วงหน้าที่ดีและฝึกพิจารณาสิ่งต่างๆ ด้วยความรอบคอบจนได้คำตอบที่ชัดเจนจะช่วยป้องกันการตัดสินใจผิดพลาดได้ดียิ่งขึ้น

startup stages ธุรกิจ

ขั้นที่ 3: Growth & Established Stage

ธุรกิจที่อยู่ในขั้นนี้จะเริ่มมีการเติบโตทั้งด้านรายได้และจำนวนลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ทำให้กระแสเงินสดหมุนเวียนดีขึ้น มีรายได้ประจำที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่อเนื่อง มองเห็นผลกำไรที่งอกเงยขึ้นอย่างช้าๆ แต่สม่ำเสมอ

ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในขั้นนี้ คือ การแบ่งเวลาให้กับบทบาทหน้าที่ใหม่ๆ ที่คุณต้องให้ความสนใจมากขึ้น เช่น การจัดการรายได้ที่เพิ่มขึ้น การวางระบบดูแลลูกค้า การรับมือคู่แข่งในตลาด การสรรหาบุคลากรเพิ่มขึ้น ฯลฯ

ทั้งนี้ การจ้างพนักงานที่มีศักยภาพสูงเป็นสิ่งที่ผู้ก่อตั้งทุกคนควรให้ความสำคัญกับกระบวนการสรรหา เพราะทีมงานที่มีความสามารถจะเข้ามารับช่วงต่อความรับผิดชอบที่เคยอยู่ภายใต้การควบคุมของคุณได้อย่างมีประสิทธิภาพและไว้วางใจได้ ทำให้คุณมีเวลาเหลือไปทำงานส่วนอื่นที่จำเป็นกว่าเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตโดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง

ขั้นที่ 4: Expansion Stage

ธุรกิจในระยะนี้มักจะเห็นการเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งในด้านรายได้และกระแสเงินสด เนื่องจากมีการวางรากฐานและสร้างระบบธุรกิจจนมีสถานะที่มั่นคงในอุตสาหกรรมแล้ว แต่ในการทำธุรกิจ หากคุณไม่ก้าวไปข้างหน้า แปลว่าคุณกำลังถอยหลังและอาจถูกคู่แข่งแซงโดยไม่ทันตั้งตัว

ดังนั้น คุณจึงต้องเริ่มคิดถึงการขยายขอบเขตธุรกิจออกไปให้กว้างขึ้น โดยคำนึงถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการขยายธุรกิจที่รวดเร็วหรือใหญ่โตเกินไปด้วย เนื่องจากการมีโมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอยู่เบื้องหลังไม่ได้รับประกันว่าจะได้ผลเช่นเดิมในตลาดอื่นๆ เห็นได้จาก Startup จำนวนมากที่ขยายตัวแล้วล้มเหลว

สิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันความเสี่ยงได้ คือ การวางแผนอย่างรอบคอบ พิจารณาทรัพยากรทั้งหมดที่คุณมีอยู่เพื่อประเมินต้นทุนและผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้นจากการขยายธุรกิจ นอกจากนี้ ทุกการเปลี่ยนแปลงจะต้องไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อคุณภาพสินค้าและบริการที่คุณเคยมอบให้กับลูกค้าในปัจจุบันด้วย

ขั้นที่ 5: Maturity & Exit Stage

เมื่อผ่านขั้นตอนการขยายตัวของธุรกิจแล้ว บริษัทของคุณควรเห็นผลกำไรที่มั่นคงแบบปีต่อปีหรือยังคงรักษาระดับการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง อาจกล่าวได้ว่าเจ้าของธุรกิจในขั้นนี้จะต้องเผชิญกับสองทางเลือก คือ ผลักดันให้ธุรกิจขยายตัวต่อไปหรือออกจากวงจรธุรกิจ

หากคุณตัดสินใจที่จะขยายธุรกิจเพิ่มเติม ต้องถามตัวเองให้แน่ใจก่อนว่าธุรกิจจะเติบโตต่อไปได้หรือไม่? มีโอกาสเพียงพอสำหรับการขยายตัวหรือเปล่า? ธุรกิจของคุณมีความมั่นคงทางการเงินมากพอที่จะรองรับการขยายธุรกิจที่ไม่ประสบความสำเร็จแค่ไหน? และคำถามที่สำคัญที่สุด คือ คุณมีความเป็นผู้นำที่พร้อมจะขยายธุรกิจเพิ่มเติมในระดับนี้จริงหรือไม่? เพราะมีหลายบริษัทที่เจ้าของตัดสินใจจ้าง CEO มืออาชีพขึ้นมา บริหารงานแทนเพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ

ในขณะที่ผู้ก่อตั้ง Startup อีกส่วนหนึ่งเลือกที่จะมองหาโอกาสขายกิจการในขั้นนี้แทนการขยายธุรกิจด้วยตัวเอง โดยอาจเป็นการขายหุ้นบางส่วนหรือขายทั้งหมดก็ได้ ขึ้นอยู่กับมูลค่าบริษัทและการเจรจาระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย

สรุป

การเข้าใจ Startup Stages จะช่วยให้คุณสามารถเดินเกมธุรกิจได้อย่างมั่นคงท่ามกลางความท้าทายและโอกาส รวมทั้งสามารถคาดการณ์ปัญหาและอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละขั้นที่ธุรกิจของคุณดำเนินอยู่หรือกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ขั้นต่อไป

ยิ่งธุรกิจ Startup ของคุณเติบโตขึ้นมากเท่าไร การพัฒนาเป้าหมายของธุรกิจ วัตถุประสงค์ การลำดับความสำคัญและวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจก็เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจมากขึ้นตามไปด้วย และนั่นคือเหตุผลที่การตระหนักรู้ถึงขั้นตอนของ Startup Stages จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

ติดตามข่าวสารและคอนเทนต์ดีๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อมที่คุณไม่ควรพลาด

ได้ที่ Facebook PTT Express

 

New call-to-action

ลงทุนอย่างไรให้โลกยั่งยืน รู้จัก ESG Investing การลงทุนในธุรกิจสีเขียว

SHARE

ESG Investing เป็นรูปแบบหนึ่งของการลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งจัดลำดับความสำคัญของผลตอบแทนทางการเงินควบคู่ไปกับผลกระทบของบริษัทที่มีต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ผลประกอบการด้านการเงินของหุ้น ESG เริ่มได้รับความสนใจจากนักลงทุนในช่วงที่ตลาดหุ้นปั่นป่วนจากการระบาดครั้งใหญ่ของ COVID-19 โดยพบว่าหุ้นของบริษัทหลายแห่งที่ดำเนินงานตามหลัก ESG มีความผันผวนต่ำกว่าบริษัทที่มองข้ามในเรื่องนี้ จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่า ESG Investing ช่วยสร้างผลลัพธ์ที่ดีขึ้นให้กับทั้งธุรกิจ นักลงทุน และโลกสีเขียวที่ยั่งยืน

อยากรู้ว่า ESG Investing คืออะไร? ปัจจัยที่ต้องพิจารณาในการลงทุนมีอะไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ

ESG ลงทุน ธุรกิจ

ESG Investing คืออะไร?

ESG Investing คือ กลยุทธ์ในการเลือกลงทุนกับบริษัทที่พยายามทำให้โลกใบนี้น่าอยู่ขึ้น โดยคำนึงถึงการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) ควบคู่ไปกับการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินของธุรกิจเพื่อหวังผลตอบแทนที่ยั่งยืนในระยะยาว รวมทั้งได้ช่วยสร้างผลกระทบเชิงบวกหรือลดผลกระทบเชิงลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานด้าน ESG ยังมีความเชื่อมโยงกับผลการดำเนินงานด้านการเงิน (Financial Performance) ของธุรกิจทั้งในมิติของความเสี่ยง ศักยภาพในการแข่งขัน และการยอมรับจากผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับความอยู่รอดและความสามารถในการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจในระยะยาวอีกด้วย

 

3 ปัจจัยหลักของ ESG ที่นักลงทุนควรพิจารณา

ESG Investing มีรูปแบบและกลยุทธ์ในการลงทุนที่หลากหลาย เช่น การบริหารความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนด้วยการไม่ลงทุนในธุรกิจที่ขัดต่อศีลธรรมของสังคม หรือการเลือกลงทุนในธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและมีความโดดเด่นในการดำเนินงานด้าน ESG เป็นต้น

ปัจจุบัน ESG Investing เริ่มเป็นที่ยอมรับจากนักลงทุนทั่วโลกและมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยนำผลการดำเนินงานประเด็นด้าน ESG ของบริษัทจดทะเบียนมาใช้เป็นองค์ประกอบในการพิจารณาคัดเลือกหลักทรัพย์ในการลงทุน

ต่อไปนี้ คือ 3 ปัจจัยหลักที่นักลงทุนควรพิจารณาเพื่อประเมินความแข็งแกร่งของ ESG ก่อนตัดสินใจลงทุน

  1. ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental)

พิจารณาว่าการดำเนินงานของบริษัทส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร? ซึ่งเป็นไปได้ตั้งแต่การจัดทำ Carbon Footprint ขององค์กร การลดปริมาณสารเคมีเป็นพิษที่ใช้ในกระบวนการผลิต หรือการพัฒนานโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ESG ลงทุน ธุรกิจ

ตัวอย่างอื่นๆ อาทิ

  • สนับสนุนนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษต่างๆ
  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  • ใช้พลังงานหมุนเวียนแทนพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล
  • ให้ความสำคัญกับการรีไซเคิลและกำจัดขยะอย่างถูกวิธี
  • ยกเลิกการทดสอบผลิตภัณฑ์กับสัตว์ทดลอง
  • รณรงค์ให้พนักงานประหยัดน้ำ-ไฟ ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เดินทางด้วยจักรยาน เป็นต้น
  1. ด้านสังคม

พิจารณาว่าบริษัทมีนโยบายปรับปรุงผลกระทบทางสังคมทั้งภายในและภายนอกบริษัท และชุมชนในวงกว้างอย่างไรบ้าง? ซึ่งปัจจัยทางสังคมนี้ครอบคลุมในหลากหลายมิติ อาทิ

  • สร้างความเท่าเทียมทางเพศทั้งชาย หญิง และ LGBTQ+
  • ยอมรับความหลากหลายทางเชื้อชาติในสถานที่ทำงาน
  • ไม่สนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอบายมุข เช่น การพนัน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ส่งเสริมและพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ เช่น การจ้างงาน การฝึกอาชีพ
  • ช่วยจัดการด้านสุขภาพและความปลอดภัยของชุมชน เป็นต้น
  1. ด้านธรรมาภิบาล (Governance)

พิจารณาว่าคณะกรรมการและผู้บริหารของบริษัทดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาลหรือไม่? ซึ่งครอบคลุมการกำกับดูแลทุกอย่างตั้งแต่ประเด็นเกี่ยวกับค่าตอบแทนของผู้บริหารและพนักงานไปจนถึงภาวะผู้นำว่าสามารถจัดการปัญหาในยามวิกฤตและโต้ตอบกับผู้ถือหุ้นได้ดีเพียงใด

นอกจากนี้ ยังรวมถึงการกำกับดูแลในแง่มุมอื่นๆ เช่น

  • กระบวนการสรรหาและแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารที่ต้องมีความใสสะอาด
  • การตรวจสอบและป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
  • ความโปร่งใสเกี่ยวกับนโยบายต่างๆ ภายในองค์กร
  • หลักจรรยาบรรณในการดำเนินงาน
  • นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันและกลไกการร้องทุกข์
  • แนวทางปฏิบัติตามค่านิยมของบริษัท
  • การจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ เป็นต้น

 

สรุป

Hank Smith หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนของ The Haverford Trust Company กล่าวว่า “แก่นแท้ของการลงทุน ESG คือ การสร้างอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคมด้วยการเป็นนักลงทุนที่ดีขึ้น”

ปัญหาต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและ Covid-19 ได้แสดงให้เห็นถึงความเปราะบางของแนวทางการทำธุรกิจแบบเดิมที่มุ่งเน้นผลกำไรสูงสุดโดยไม่ใส่ใจผลกระทบต่อส่วนรวม เนื่องจากผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเริ่มคาดหวังการเปลี่ยนแปลงไปสู่กิจกรรมทางธุรกิจที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และมีธรรมาภิบาล เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนและกลุ่มคนรุ่นต่อไป

ด้วยเหตุนี้ บริษัทต่างๆ จึงต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจและวางกลยุทธ์ ESG ที่แข็งแกร่งเพื่อดึงดูดความสนใจจากนักลงทุน ซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จทางธุรกิจและช่วยสร้างโลกสีเขียวที่ยั่งยืนได้ในระยะยาว

ติดตามข่าวสารและคอนเทนต์ดีๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อมที่คุณไม่ควรพลาด

ได้ที่ Facebook PTT Expresso

New call-to-action

[เจาะลึก] 5 ธุรกิจที่น่าสนใจควรค่าแก่การลงทุนในปี 2021

SHARE

ทุกวิกฤตจะมีโอกาสและทุกโอกาสจะต้องมีผู้ที่มีความสามารถได้ประโยชน์เสมอ ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของเราไม่ได้ส่งผลให้กิจการปิดตัวเพียงอย่างเดียว แต่ทำให้เราเห็นกิจการเกิดใหม่มากมายหลากหลายรูปแบบ ธุรกิจที่น่าสนใจในปัจจุบันมีอะไรบ้าง ไปดูพร้อมๆ กันเลย

5 ธุรกิจที่น่าสนใจ ปี 2021

1.ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม

เรื่องนี้อาจสวนทางกับกระแสที่เกิดขึ้นในปัจจุบันกับการปิดตัวลงของร้านอาหารหลายร้านท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด จนกลายเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ที่แม้แต่แบรนด์ยักษ์จากต่างประเทศยังต้องครั่นคร้าม ทว่าสิ่งที่เรากำลังพูดถึงคือปี 2021 หรือคือ อนาคต

มีปัจจัยที่น่าสังเกตอยู่ 3 ข้อจากเรื่องนี้

1.การแข่งขันครั้งใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ท่ามกลางร้านอาหารที่ปิดตัวลง ยังมีร้านที่เปิดขึ้นมาและสามารถทำกำไรได้ แม้ว่าจะไม่ใช่แบรนด์ใหญ่ โดยเฉพาะหลังจากล็อกดาวน์ทีหลายคนฝึกทำอาหารมาแล้ว แต่คนเหล่านั้นก็ยังโหยหารสชาติอื่นๆ นอกจากสิ่งที่ตนเองปรุงได้อยู่ดี

ทว่าการทำธุรกิจอาหารครั้งนี้แค่การทำร้านอาหารแบบเดิมๆ คงไม่ใช่คำตอบ สิ่งที่ต้องคำนึงยังคงมีการทำแบรนด์ดิ้งเพื่อทำให้ร้านเข้าถึงง่าย การใช้แพลตฟอร์มส่งอาหารอย่าง Grab, Lineman หรือ FoodPanda เพื่อขยายฐานลูกค้าให้เพิ่มมากขึ้น 

2.การกลับมาของลูกค้าหลังจาก Covid-19 โรคระบาดดังกล่าวส่งผลร้ายแรงทั่วโลก ทำให้กำลังซื้อนั้นหดตัวลงจากหลายปลายประเทศ แต่ก็เปรียบเสมือนกับการ ‘อั้น’ ของปริมาณนักท่องเที่ยวเช่นกัน หากมีวัคซีนและการจัดการที่ดีพอ ก็มีโอกาสที่ปริมาณลูกค้าจะกลับมาไม่น้อย เพราะไทยเองก็ถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายแรกๆ ของนักท่องเที่ยว

กระนั้นจากการประเมินของ KKP Research นักท่องเที่ยวในปี 2021 อาจอยู่ที่ประมาณ 6.4 ล้านคนจากเดิม 17 ล้านคน แต่ก็นับเป็นทิศทางบวกหากเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ปริมาณนักท่องเที่ยวเกือบจะไม่มีเลย

ธุรกิจที่น่าสนใจ

3.การเข้าถึงลูกค้าที่เฉพาะกลุ่มมากขึ้น ปัจจัยนี้อาจสำคัญที่สุดทั้งปีนี้และปีหน้า เราอาจเห็นว่าไม่ว่าสภาพเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรจะมีร้านหลายร้านที่ ‘ขายได้’ อยู่ตลอด แม้ว่ายอดอาจลดลงบ้างก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น

  • ร้านอาหารแบบ ‘เดลิเวอรี่โดยเฉพาะ’ ซึ่งเป็นร้านอาหารที่เน้นการเชื่อมกับแพลตฟอร์มขนส่งอาหาร ทำให้ลูกค้าสะดวกสบายมากขึ้น ในขณะเดียวกันเจ้าของร้านก็ไม่จำเป็นต้องรับลูกค้าหน้าร้านเอง โดยรูปแบบการทำร้านแบบนี้เป็นที่นิยมมากขึ้นทั้งจากในไทยและต่างประเทศ
  • ร้านอาหารตามพื้นที่ออฟฟิศของชุมชนเมืองใหญ่ๆ ที่แม้ว่าจะมีแพลตฟอร์มการขนส่งอาหารที่มากมาย แต่ด้วยงบประมาณที่จำกัดรวมถึงค่าส่งที่สูงในหลายๆ จุด ทำให้คนเลือกจะทานอาหารง่ายๆ ใกล้ที่ทำงานตัวเอง
  • ร้านอาหารที่เน้นลูกค้าแบบ Hi-end โดยเฉพาะ เช่น บุฟเฟต์ราคาสูง เชฟเทเบิล หรือโอมาคาเสะ ซึ่งมีฐานลูกค้าประจำอยู่แล้วรวมถึงลูกค้าที่อยากทานอาหารแบบ ‘นานๆ กินของแพงสักที’
  • อาหารที่มีความ ‘แปลกใหม่’ ในตัวเอง เนื่องจากบรรดา Foodie หลายกลุ่มไม่สามารถออกนอกประเทศได้ การเลือกทานอาหารที่หาทานได้ยากในประเทศจึงกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ เช่น อาหารกรีก อาหารตุรกี อาหารเอธิโอเปีย หรือแม้แต่ร้านอาหารที่มีเมนู Plant based protein ก็โดดเด่นออกมาด้วยเหตุผลดังกล่าวเช่นกัน 
  • ร้านอาหารเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เทรนด์ช่วงปี 2019-2020 ที่ยังคงสืบเนื่องไปยังปีหน้า การเอาใจใส่สุขภาพด้วยการออกแบบเมนูเพื่อสุขภาพรวมถึงการใช้แพ็คเกจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยังคงเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความใส่ใจ 

จะสังเกตได้ว่าตัวอย่างที่ยกมานั้นจะมีฐานลูกค้าประจำของตัวเองอยู่แล้ว และสามารถขยายฐานลูกค้าได้ระดับหนึ่งด้วยการโปรโมตตามช่องทางต่างๆ 

ด้วยเหตุผลทั้งหมดจึงนับได้ว่าธุรกิจเกี่ยวกับอาหารคือธุรกิจที่น่าสนใจภายใต้ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ปัจจุบัน แต่กระนั้นคนทำธุรกิจอาหารอาจต้องมีความรัดกุมในการลงทุนมากขึ้น เนื่องจากความไม่แน่นอนทางสภาพเศรษฐกิจ

2.ธุรกิจเกี่ยวกับผู้สูงอายุ 

2021 คือปีที่ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุมากกว่า 13 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 20% ของประชากรทั้งหมดในประเทศ แต่แน่นอนว่าความตื่นตัวในธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุในบ้านเรายังคงต่ำมากๆ และโดยส่วนมากคนจะมองแค่ “บ้านพักคนชรา” หรือธุรกิจประเภท Elderly Care Business  เป็นหลักใหญ่ แต่จริงๆ แล้วเรื่องของธุรกิจเกี่ยวกับผู้สูงอายุมีอะไรมากกว่านั้นอีก

ธุรกิจที่น่าสนใจ

ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุและมีรสชาติอร่อย เริ่มเป็นที่จับตามองของตลาด การเข้ามาเจาะกลุ่มผู้ซื้อในมุมนี้อาจสามารถขยายฐานลูกค้าได้ไม่น้อย 

ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ เฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ตกแต่งบ้านที่ขึ้นชื่อว่าเหมาะสมกับผู้สูงอายุยังมีไม่มากพอและการทำตลาดไม่ค่อยเข้มข้นเท่าที่ควร และหากมีก็มักจะเป็นแบรนด์ใหญ่ๆ การเข้ามาเป็น “ทางเลือก” ให้กับผู้บริโภคในมุมนี้ก็น่าสนใจไม่น้อย

ธุรกิจความงาม ความแก่เป็นแค่คำพูดและอายุก็เป็นเพียงแค่ตัวเลข ยังมีผู้สูงอายุอีกมากมายที่สามารถรักษาสไตล์ของตนเองเอาไว้ได้ ทั้งเครื่องสำอาง เครื่องแต่งกาย จนถึงธุรกิจประเภทสปา การทำธุรกิจความงามที่เน้นกลุ่มลูกค้าเป็นผู้สูงอายุอาจเป็นคำตอบในปี 2021

ตัวอย่างที่เอ่ยมานั้นยังเป็นเพียงส่วนเดียว ยังมีธุรกิจเกี่ยวกับผู้สูงอายุอีกมากมายที่ยังไม่มีในตลาดหรือขาดช่วงไปเพราะโรคระบาดอย่างธุรกิจการท่องเที่ยว แม้ว่าปริมาณของลูกค้าประเภทนี้จะเพิ่มมากขึ้น คงต้องจับตาดูกันว่าจะมีสินค้าและบริการแบบไหนที่เกิดขึ้นในอนาคต

3.ธุรกิจเกี่ยวกับของแต่งบ้าน

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสถานการณ์ปัจจุบันส่งผลให้การ Work from home กลายเป็นเรื่องธรรมดา หลายบริษัทได้มีการบรรจุเรื่องนี้เป็นหนึ่งในมาตรการการทำงานด้วยซ้ำ ซึ่งการทำงานที่บ้านนี่เองอาจทำให้คนจำนวนไม่น้อยมองบ้านของตัวเองแตกต่างออกไปจากเดิม ทั้งจุดที่ควรปรับปรุง ซ่อมแซม หรือแก้ไข

ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวกับของแต่งบ้านประเภทต่างๆ รวมถึงอุปกรณ์ประเภท D.I.Y ที่สนับสนุนซ่อมและตกแต่งได้ด้วยตัวเองมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ดังข้อมูลที่ปรากฎ

  • อิเกียออนไลน์ เติบโตสูงขึ้น 320% 
  • NocNoc.com มียอดขายผ่านเว็บไซต์โตขึ้น 3.3 เท่า
  • Homepro มีรายได้จากช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น 150%

ขอบคุณข้อมูลจาก Marketeeronline

แน่นอนว่าไม่ใช่แค่แบรนด์ใหญ่ สินค้าจากผู้ประกอบการรายย่อย ที่มีความโดดเด่น เฉพาะตัว รวมถึงสินค้าประเภทงานฝีมือ มีโอกาสที่จะเติบโตสูงเช่นกัน 

อีกกระแสที่กำลังมาเกี่ยวกับการแต่งบ้านคือการใช้สินค้ารักษ์โลก เพื่อการใช้งานและการตกแต่งและใช้งานภายในบ้าน ยกตัวอย่างเช่นอุปกรณ์ตกแต่งบ้านที่มีคุณภาพ ความทนทานสูง สามารถนำมารีไซเคิลได้ หรือสินค้าที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลจากที่ต่างๆ 

 4.ธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีวิเคราะห์และจัดการข้อมูล

ในปัจจุบันการทำธุรกิจของไทยโดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดเล็กค่อนข้างขาดความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีและการจัดการข้อมูลให้เป็นประโยชน์ ทว่าในอนาคตเรื่องดังกล่าวก็มีโอกาสไม่น้อยที่จะเปลี่ยนไป 

ธุรกิจที่น่าสนใจ

ข้อมูลปริมาณมหาศาลและข่าวเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลเป็นแรงกระตุ้นให้เกิด ‘ความต้องการในการใช้เทคโนโลยี’ กับผู้คนปัจจุบัน ทำให้ 2021 อาจเป็นหนึ่งในปีที่เทคโนโลยีวิเคราะห์และการจัดการข้อมูลบูมขึ้นมาสุดๆ ก็เป็นได้ เนื่องจากผู้ใช้งานหลากหลายรูปแบบต้องการทำให้งานตัวเองออกมามีประสิทธิภาพมากที่สุด ตรงจุดที่สุด โดยเฉพาะในไทยที่ยังนับว่าบริษัทที่ครองตลาดการจัดการข้อมูลค่อนข้างขาดความโดดเด่นเมื่อมองจากมุมของคนนอก 

ธุรกิจการให้บริการเก็บข้อมูล จัดการข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล เพื่อนำมาใช้งานร่วมกับธุรกิจ จึงกลายเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตอย่างมากในปี 2021 

ทว่าธุรกิจดังกล่าวก็ยังมีจุดที่ต้องจับตาอยู่ นั่นคือการเติบโตของเศรษฐกิจในปีหน้า ยิ่งเศรษฐกิจหวนกลับมาได้เร็วเท่าไหร่ โอกาสที่การใช้งานเทคโนโลยีการจัดการข้อมูลก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น อีกทั้งการหาบุคลากรในสายงานนี้อาจไม่ใช่เรื่องที่ง่ายดายนัก แต่ถ้าหากมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องพร้อมสรรพก็สามารถพูดได้เลยว่าธุรกิจนี้ ‘มีอนาคต’ อย่างแน่นอน

5.ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง

ช่วงเวลาที่เกิดโรคระบาด ทำให้หลายต่อหลายคนต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวและต้องการเพื่อนคลายเหงา และสัตว์เลี้ยงก็เป็นหนึ่งในนั้น ทำให้เราพบเห็นคนเลี้ยงน้องหมาน้องแมวเพิ่มขึ้นมากมาย ซึ่งจากสถิติของ Royal Canin เพียงช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีสุนัขและแมวในประเทศรวมกว่า 21 ล้านตัว และทัศนคติของคนสมัยใหม่ ทำให้เขาเหล่านั้นมีความรับผิดชอบในการเลี้ยง และเลี้ยงในบริเวณจำกัดมากขึ้น 

ธุรกิจที่น่าสนใจ

สิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลให้ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง เช่น 

  • การรับฝากสัตว์เลี้ยง 
  • อาหารสัตว์ 
  • ของเล่นสัตว์เลี้ยง 
  • แอปพลิเคชั่นเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง
  • อุปกรณ์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง เช่น สายจูง ปลอกคอ

ธุรกิจทั้งหมดเกิดการเติบโตขึ้นอย่างมากภายในประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้มีแค่แบรนด์ใหญ่เท่านั้น แม้แต่รายย่อยเองก็ยังมีโอกาสเติบโตในธุรกิจดังกล่าวโดยเฉพาะธุรกิจการรับฝากสัตว์เลี้ยง เมื่อคนยุคนี้​ “ไม่มีเวลา” มากขึ้น จากการทำงานและกิจกรรมต่างๆ การมีคนเป็นเพื่อนน้องหมาน้องแมวจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก

สรุป

5 ธุรกิจที่ยกตัวอย่างขึ้นมานั้นเป็นเพียงตัวอย่างธุรกิจภายใต้ความเป็นไปได้ของปี 2021 เท่านั้น ยังมีธุรกิจอีกหลากหลายประเภทที่สามารถก้าวขึ้นมาเติบโตได้ แต่แน่นอนว่ามันย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยงเสมอ เพราะต่อให้เราเตรียมตัวมาดีแค่ไหนแต่ก็ไม่มีอะไรรับประกันว่าอนาคตจะแปรเปลี่ยนไปในรูปแบบไหน

การลงทุนที่ดีที่สุดนั้นเราจำเป็นต้องเลือกธุรกิจที่เหมาะสมกับตนเอง มีความรัดกุมทางการเงิน และสามารถต่อยอดได้ เพื่อทำให้เราสามารถทำธุรกิจเติบโตได้อย่างสบายใจในปีหน้า

PTT-ebook-2-startup

  • SUBSCRIBE TO BE
    THE FIRST INNOVATOR.

logo