Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

‘ธุรกิจอาหาร’ ต้องปรับตัวอย่างไร ในยุคสมัยที่ขยะอาหารคือวิกฤต

SHARE

ภายใต้ประเด็นปัญหามากมายบนโลก สิ่งหนึ่งที่ใกล้ตัวผู้คนมากที่สุดและมักถูกลืมเลือนไปได้ง่ายๆ คือประเด็นปัญหาเรื่องอาหารเหลือทิ้ง หรือขยะอาหารที่เกิดขึ้นในทุกๆ วัน และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้มากที่สุดนอกจากประชาชนก็คือผู้ทำธุรกิจอาหารนั่นเอง

ทำไมมุมหนึ่งของโลกเต็มไปด้วยอาหารอันอุดมจนเหลือทิ้งกลายเป็นปัญหา ส่วนบางมุมของโลกอาหารกลับกลายเป็นสิ่งหายากที่ต้องแย่งชิง แล้วธุรกิจจะต้องปรับตัวอย่างไร มาหาคำตอบไปด้วยกันเลย

‘ขยะอาหาร’ วิกฤตการณ์ที่คนลืมเลือน

1.3 พันล้านตันคือปริมาณขยะอาหารที่เราสูญเสียไปบนโลกในทุกๆ ปี ทั้งจากการผลิต กินแบบทิ้งขว้าง ไปจนถึงการที่อาหารเหล่านั้นขายไม่ออก จนต้องปล่อยไว้จนหมดอายุแล้วทิ้งไป 

แม้แต่ในประเทศไทยเองก็มีประเด็นนี้ชัดเจนเช่นกัน กว่า 64% ของขยะที่เราทิ้งไปช่วงปี 2015 นั้นคือขยะอาหาร และตัวเลขนี้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีทีท่าว่าจะลดลง โดยเฉพาะการรวมขยะประเภทนี้กับขยะอื่นๆ แล้วระบุว่าเป็นขยะมูลฝอย ยิ่งทำให้การจัดการอย่างชัดเจนและตรงจุดยากขึ้นไปอีก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่เกี่ยวกับอาหารที่ได้รับคำถามสำคัญมากมาย โดยเฉพาะประเด็น ‘ทำไมต้องทิ้ง’ อาหารบางส่วนแม้ว่าจะทานได้ ซึ่งมีเหตุผลอธิบายต่างๆ นานา ทั้งการป้องกันการยักยอกอาหารบางส่วน ความรับผิดชอบในตัวอาหาร โดยเฉพาะอาหารใกล้หมดอายุบางประเภทที่หากแจกจ่ายไปจะเป็นผลเสียให้ผู้ประกอบการเสียเอง

ซึ่งนอกเหนือจากขยะอาหารที่เป็นเป็น ‘ของกิน’ แล้ว สิ่งที่เกี่ยวข้องอย่าง จาน ชาม ไม้เสียบ ตะเกียบ ซองเครื่องปรุง เองก็เป็นอีกหนึ่งผลกระทบ เพราะสิ่งของเหล่านี้บางส่วนถือว่ามีการปนเปื้อนสารอินทรีย์แล้ว ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ง่ายๆ วิธีเดียวคือการทิ้งเพื่อกำจัดเท่านั้น

สุดท้ายปัญหาดังกล่าวก็ยังคงอยู่สำหรับธุรกิจมากมาย และคำถามเหล่านี้ก็เริ่มจะสูญหายไปตามกาลเวลา จนกระทั่งปัญหาขยะผุดขึ้นมาให้สังคมได้รับรู้ในเวลาต่อไปอีกครั้ง ทว่าผลกระทบมันไม่เคยหายไปไหน

ผลกระทบจากขยะอาหาร

แม้ปริมาณต่อคนจะไม่มาก แต่ถ้าทุกคนพากันทิ้ง ไม่มีการคัดแยก ไม่มีการจัดการที่ดีเพียงพอ ขยะอาหารที่เป็นของธรรมดาๆ ก็ก่อให้เกิดผลกระทบลูกโซ่อย่างใหญ่ลวงได้ไม่ยาก ไม่ว่าจะเป็น

  • โรคภัยที่เกิดจากการกำจัดขยะที่ไม่ถูกวิธี เช่น โรคท้องร่วง ปวดท้อง ปวดศีรษะ ภูมิแพ้ โรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารอื่นๆ ที่เกิดจากสิ่งสกปรกและแบคทีเรียจากการหมักหมมของขยะ เพียงแค่ก๊าซที่เกิดจากการหมักตัวของขยะมูลฝอยก็ส่งผลให้เกิดอาการเวียนหัวอาเจียนได้แล้ว
  • การขยายตัวของพาหะนำโรคเช่นหนู และแมลงวัน จากกองขยะอาหารที่ไม่ได้ถูกกำจัด
  • ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณของการย่อยสลายขยะ
  • ปริมาณขยะโดยรวมที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากขยะปกติบางประเภทเมื่อมีการปนเปื้อนขยะอาหารในปริมาณมาก ก็ยากที่จะนำมารีไซเคิลใหม่ได้ จำเป็นต้องเข้ากระบวนการกำจัด

แน่นอนว่าสำหรับภาคประชาชนแล้วหลายต่อหลายสื่อล้วนมีความตั้งใจในการให้ความรู้ ข้อมูล และนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับขยะมากมาย แต่ทว่าในภาคเอกชนและธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร โดยเฉพาะรายย่อยนั้นข้อมูลบางอย่างก็อาจส่งไปไม่ถึง หรือไม่รู้ว่าธุรกิจเกี่ยวกับอาหารของตัวเองจะต้องปรับตัวอย่างไร 

แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่ปัญหาทุกอย่างก็เสมือนกับโรคภัยที่รุมเร้า หากไม่มีการจัดการที่ดีตอนนี้ นานวันเข้ามันจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ ทั้งต่อธุรกิจของเราและต่อคนอื่นๆ

 

การปรับตัวของธุรกิจเมื่อวิกฤตปรากฎตัว

ทุกปัญหามีทางออกและแทบทุกปัญหาจะสามารถแก้ได้หากเรามีการเตรียมตัวและแก้ไขปัญหาเหล่านั้นไวมากเพียงพอ ธุรกิจอาหารในปัจจุบันก็เช่นกัน แม้ว่าจะยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ 100% ในครั้งเดียว แต่เมื่อเริ่มก้าวแรกไปแล้ว ก้าวต่อๆ ไปก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป โดยวิธีปรับตัวของธุรกิจที่เกี่ยวกับอาหารมีดังนี้

  1. เก็บข้อมูลการผลิตและการซื้อขายอาหารในแต่ละวัน ทำสถิติการซื้อของลูกค้าว่ามีแนวโน้มเป็นอย่างไร วางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าเพื่อลดสินค้าคงเหลือต่อวันให้น้อยที่สุด นอกจากจะลดการสิ้นเปลืองวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์แล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับธุรกิจของคุณอีกด้วย
  2. มีการระบุวันหมดอายุอย่างชัดเจนสำหรับอาหาร แม้ว่าจะเป็นเรื่องยากแต่ในบางครั้งการบอกลูกค้าตรงๆ เกี่ยวกับความสดของสินค้าก็เป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะหากสินค้าประเภทนั้นเหลืออยู่เสมอ เราจำเป็นต้องมีกลยุทธ์ในการขาย เช่น ซื้อสินค้าอื่นๆ แถมอาหารชนิดนี้ หรือลดราคาอาหารชนิดนี้ลงเมื่อใกล้วันหมดอายุ
  3. การปรับปรุงรูปแบบการผลิตของร้าน อาจเปลี่ยนเมนูบางเมนูที่ไม่ได้รับความนิยมออก และเพิ่มเมนูที่เก็บได้นานขึ้นเป็นเมนูทดลองภายในร้าน เพิ่มโอกาสให้ผู้ซื้อลิ้มลองของใหม่ ลดโอกาสที่จะเกิดปัญหาขยะอาหารมากขึ้น
  4. มีการวิธีการกำจัดขยะแบบสะอาด ปลอดภัย และรวดเร็ว อาจประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยถ้าจำเป็น เพราะขยะอาหารหากไม่ทำการคัดแยกและแปรรูป หรือกำจัดอย่างถูกวิธี จะทำให้ขยะประเภทอื่นๆ ปนเปื้อน ส่งผลเสียต่อขยะโดยรวม

กลับกันหากมีการคัดแยกขยะและจัดการขยะอาหารแบบถูกวิธี ขยะเหล่านั้นอาจช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจของเราได้อย่างไม่น่าเชื่อเลยทีเดียว

แน่นอนว่าการปรับตัวในช่วงวิกฤตต่อเนื่องจากโรคภัยและวิกฤตเศรษฐกิจอาจเป็นไปได้ยาก แต่การปรับปรุงบางส่วนก่อน เช่น การจัดทำข้อมูล วันหมดอายุ รูปแบบการผลิต สิ่งเหล่านี้ยังเป็นสิ่งที่สามารถปรับปรุงได้ และส่งผลดีกับร้านในระยะยาว เพียงแต่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีการวางแผนการเปลี่ยนแปลงอย่างรัดกุม ไม่ดำเนินการเร็วหรือช้าเกินไป

 

เทคโนโลยีเพื่อการจัดการขยะอาหาร

แม้จะไม่มีการพูดถึงมากในประเทศไทย แต่ถ้าเราสังเกตดีๆ ตามร้านอาหารบางร้านเองก็มีการใช้เทคโนโลยีเกี่ยวกับการกำจัดอาหารแล้ว ไม่ว่าจะเป็น

  • อุปกรณ์ทำปุ๋ยจากเศษอาหารภายในครัวเรือน ที่ช่วยลดกลิ่นเหม็น เพิ่มความรวดเร็วในการทำปุ๋ย ทำให้สามารถเปลี่ยนเศษอาหารเป็นดินและปุ๋ยสำหรับต้นไม้ แก้ปัญหาได้ในระยะยาว
  • อุปกรณ์สร้างพลังงานจากขยะอาหาร เช่น ถังหมักอาหารที่บ่มจนกลายเป็นแก๊สเพื่อหุงต้มในชีวิตประจำวันได้ 
  • การใช้เทคโนโลยีเก็บข้อมูลผู้ซื้อสินค้า ว่าอาหารประเภทไหนลูกค้าชอบ ไม่ชอบ ซื้อเยอะช่วงไหน เจ้าไหนซื้อบ้าง จัดสรรข้อมูลการซื้อขายวัตถุดิบ ใช้ข้อมูลดังกล่าวทั้งหมดเพื่อคาดการณ์อาหารที่ต้องทำในแต่ละวัน 

ทั้งหมดนี้แม้ว่าจะดูน้อย แต่เมื่อเรามีการรวมมันเป็นระบบแล้วจะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีนั้นครอบคลุมตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการจัดการเศษอาหารเลยทีเดียว ซึ่งแน่นอนว่าเทคโนโลยีบางส่วนมีการใช้จนเกิดผลได้จริงมาแล้ว 

ยกตัวอย่างเช่นในโครงการขยะเพิ่มทรัพย์ C-ROS (Cash Return from Zerowaste and Segregation of Trash) ที่ดำเนินการต่อยอดจากงานวิจัยโดยคณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล (Biomolecular Science and Engineering : BSE) สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ร่วมมือกับคนในชุมชนจังหวัดน่าน ดำเนินการจัดการขยะอาหารแบบครบวงจร มีผลผลิตที่สามารถนำกลับมาใช้งานได้อย่าง biogas และอาหารพืชหรือน้ำปุ๋ย ซึ่งเป็นการจัดการง่ายๆที่คนชุมชนสามารถดำเนินกันได้เองด้วย

https://www.youtube.com/watch?v=HPZuK1x7PDo

นั่นเป็นหนทางที่การันตีได้ว่า หากธุรกิจอาหารมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี มีความต้องการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้ดีขึ้นจริงๆ การปรับตัวและประยุกต์ใช้ความรู้และเทคโนโลยีอย่างชาญฉลาดจะช่วยธุรกิจของคุณและโลกใบนี้ให้ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน

 

ปรับตัวเพื่อความยั่งยืนในระยะยาว

ทุกอย่างล้วนมีก้าวแรก แม้แต่การตั้งธุรกิจของตัวเองและดูแลธุรกิจของตัวเองก็มีก้าวแรก 

หากวิกฤตใหญ่ที่เผชิญผ่านไป หลายสิ่งหลายอย่างที่ตามมาล้วนบ่งบอกให้เราต้องใส่ใจปัญหาขยะมากขึ้น แม้ว่าจะเป็นการปรับตัวทีละเล็กทีละน้อยก็สามารถช่วยได้ อาจเริ่มจากการสังเกต จดบันทึกการซื้อขายอาหารอย่างง่ายๆ เพื่อลดอาหารที่ผลิตเยอะเกินไป แล้วค่อยพัฒนาให้ไปใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยเมื่อเป็นร้านขนาดใหญ่

ทุกปัญหามีทางออก แต่บางปัญหารอไม่ได้ ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนจะต้องช่วยกันแก้ไขปัญหา มิเช่นนั้นสิ่งที่หลงเหลือไว้ในรุ่นต่อไปก็อาจเป็นภูเขาขยะกองพะเนินที่ไม่มีทางแก้ไขในอนาคต

New call-to-action

  • SUBSCRIBE TO BE
    THE FIRST INNOVATOR.

logo