Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

เทคโนโลยีรถไร้คนขับ ใครได้รับผลกระทบ?

SHARE

ในขณะที่หลายคนมองว่า “รถไร้คนขับ” เป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัด ลดอุบัติเหตุบนท้องถนนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่กังวลว่าเทคโนโลยีนี้จะส่งผลให้แรงงานหลายภาคส่วนต้องตกงาน

ด้วยเหตุนี้ การพิจารณามุมมองแบบองค์รวมเกี่ยวกับเทคโนโลยีรถไร้คนขับโดยคำนึงถึงผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบ รวมถึงต้นทุนและผลประโยชน์ทางสังคมจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อหาแนวทางการใช้เทคโนโลยีนี้ให้เกิดประโยชน์ต่อทุกคนได้อย่างเหมาะสมที่สุด

อยากรู้ว่ารถไร้คนขับคืออะไร? และผลกระทบของเทคโนโลยีรถไร้คนขับมีอะไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ

autonomous-vehicles

รถไร้คนขับคืออะไร?

รถไร้คนขับ (Autonomous Car หรือ Self-driving Car) คือ ยานพาหนะที่สามารถรับรู้สภาพแวดล้อมและขับเคลื่อนไปทุกที่ได้เองโดยไม่ต้องให้มนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น ผู้โดยสารที่เป็นมนุษย์ไม่จำเป็นต้องควบคุมรถหรือไม่จำเป็นต้องมีผู้โดยสารที่เป็นมนุษย์อยู่ในรถเลยก็ได้

ปัจจุบัน Society of Automotive Engineers (SAE) ได้กำหนดระดับการขับขี่อัตโนมัติซึ่งรับรองโดยกระทรวงคมนาคมของสหรัฐอเมริกาไว้ทั้งหมด 6 ระดับ ได้แก่

  • ระดับ 0: No Automation คือ ระบบอัตโนมัติที่ไม่สามารถควบคุมยานพาหนะได้ แต่แจ้งคนขับถึงอันตรายได้
  • ระดับ 1: Driver Assistance คือ คนขับและระบบอัตโนมัติใช้การควบคุมรถร่วมกัน สามารถพบได้ในรถยนต์ส่วนใหญ่ที่ติดตั้ง ADAS
  • ระดับ 2: Partial Automation คือ ระบบอัตโนมัติที่ควบคุมรถได้อย่างเต็มที่ แต่ผู้ขับขี่สามารถเข้าไปแทรกแซงได้หากระบบไม่รับรู้ถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น
  • ระดับ 3: Conditional Automation คือ ระบบอัตโนมัติที่ควบคุมรถได้อย่างเต็มที่ และผู้โดยสารสามารถละความสนใจจากการขับขี่ได้อย่างปลอดภัย แต่ก็ยังเข้าไปแทรกแซงระบบได้เมื่อเกิดเหตุจำเป็น
  • ระดับ 4: High Automation คือ ผู้โดยสารสามารถละความสนใจทั้งหมดจากการขับขี่ได้อย่างปลอดภัย และปล่อยให้ระบบอัตโนมัติควบคุมได้อย่างเต็มที่ โดยฟังก์ชันนี้จะถูกจำกัดไว้เฉพาะขอบเขตพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่เฉพาะเจาะจงและสภาพแวดล้อมที่มีการควบคุมอื่นๆ
  • ระดับ 5: Full Automation คือ ระบบอัตโนมัติที่ควบคุมรถได้อย่างเต็มที่โดยไม่จำเป็นต้องมีการแทรกแซงของมนุษย์

ผลกระทบของเทคโนโลยีรถไร้คนขับ

รถไร้คนขับเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ผู้คนตั้งตารอและได้เกิดขึ้นจริงแล้ว แน่นอนว่าเทคโนโลยีทุกอย่างย่อมส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและสังคมโดยรวมไม่ว่าจะเป็นด้านบวกหรือด้านลบ ต่อไปนี้ คือ ผลกระทบด้านต่างๆ ของเทคโนโลยีรถไร้คนขับที่คุณควรรู้

autonomous-vehicles

ด้านเศรษฐกิจ

รายงานของ Boston Consulting Group (BCG) คาดการณ์ว่าภายในปี 2035 จะมีการขายรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติเต็มรูปแบบ (Fully Autonomous Vehicles) 12 ล้านคัน และรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติบางส่วน (Partially Autonomous Vehicles) 18 ล้านคันทั่วโลกในแต่ละปี โดยสัดส่วนของรถยนต์ที่มีคุณสมบัติอัตโนมัติจะถือครองตลาดรถยนต์ใหม่ 25% และมีการเติบโตของตลาดอยู่ระหว่าง 42,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ($42 billion) ถึง 77,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ($77 billion)

ด้านแรงงาน

แรงงานในภาคคมนาคมขนส่งเป็นกลุ่มแรกๆ ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น คนขับรถแท็กซี่ คนขับรถบรรทุกเชิงพาณิชย์ พนักงานขับรถโดยสารประจำทางและรถขนส่งสาธารณะ เพราะอาจถูกแทนที่ด้วยรถไร้คนขับ ไม่เพียงแค่นั้น ยังอาจส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานด้านการเกษตร การผลิตและการก่อสร้างอีกด้วย หากในอนาคตข้างหน้า เทคโนโลยีนี้ได้รับการออกแบบและพัฒนาจนสามารถทำงานที่เฉพาะเจาะจงและซ้ำซากโดยไม่ต้องใช้คนได้สำเร็จ

ด้านอุตสาหกรรม

เทคโนโลยีรถไร้คนขับกำลังกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงในภาคอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเหมืองแร่และเกษตรกรรมได้นำรถไร้คนขับมาปรับใช้เป็นส่วนหนึ่งในการทำงาน เช่น รถยก รถตัก และรถขุด เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่มีราคาไม่แพงมาก และสามารถควบคุมความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุให้น้อยที่สุด จึงช่วยเพิ่มความปลอดภัยของคนงานในสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงสูง รวมทั้งสามารถนำผู้ปฏิบัติงานออกจากพื้นที่ที่จมอยู่ใต้น้ำหรือติดอยู่ในอุโมงค์ที่ถล่มได้

นอกจากนี้ การใช้รถไร้คนขับในภาคอุตสาหกรรมยังมีประโยชน์อีกมากมาย เช่น ช่วยประหยัดค่าแรง และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 60% เมื่อมีการตั้งค่าการขับขี่ให้เหมาะสม

ด้านประกันภัยรถยนต์

การใช้รถไร้คนขับของผู้คนทั่วไปจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทประกันภัย เนื่องจากอุบัติเหตุที่เกิดจากขับขี่ของมนุษย์มีแนวโน้มลดลง บริษัทประกันภัยจึงจำเป็นต้องคิดทบทวนและปรับรูปแบบธุรกิจจากเดิม เช่น เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายมารับทำประกันให้กับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ซึ่งมีความเสี่ยงในการแสดงความรับผิดชอบ เมื่อเกิดปัญหาจากความล้มเหลวทางเทคนิคของเทคโนโลยีรถไร้คนขับ ปัจจุบัน บริษัทชั้นนำ เช่น Google, Mercedes-Benz และ Volvo ก็ได้เริ่มทำประกันให้กับผลิตภัณฑ์รถไร้คนขับที่พวกเขาผลิตขึ้นแล้ว

ด้านสุขภาพและความปลอดภัย

หนึ่งในผลกระทบที่สำคัญของเทคโนโลยีรถไร้คนขับ คือ ประโยชน์ด้านสุขภาพและความปลอดภัยจากการช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนและการเสียชีวิตได้ ยืนยันด้วยข้อมูลของสำนักงานบริหารความปลอดภัยการจราจรบนทางหลวงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NHTSA) ที่ระบุว่า ในปี พ.ศ. 2558 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์บนถนน 35,092 คน นอกจากจำนวนผู้เสียชีวิตแล้ว อุบัติเหตุทางรถยนต์ยังส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศคิดเป็นมูลค่าประมาณ 871,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อปี

นอกจากนี้ ผลการศึกษาล่าสุดของ McKinsey & Company พบว่า รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติและระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ขั้นสูงมีศักยภาพในการลดการเสียชีวิตจากยานยนต์ได้ถึง 90% ช่วยชีวิตคนได้หลายพันคนและลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพประมาณ 190,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อปีอีกด้วย

ด้านการจราจร

ผลกระทบอีกด้านของเทคโนโลยีรถไร้คนขับ คือ การบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดระเบียบการจราจรบนท้องถนนจึงช่วยประหยัดเวลาในการเดินทางได้ นอกจากนี้ ยานพาหนะไร้คนขับยังทำให้ผู้โดยสารสามารถใช้เวลาระหว่างการเดินทางเพื่อทำงาน พักผ่อน อ่านหนังสือ หรือดูซีรีส์ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม

สรุป

รถไร้คนขับมีศักยภาพที่จะส่งผลกระทบต่อสังคม ธุรกิจ และการดำเนินชีวิตของผู้คนอย่างมากในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แต่จะเป็นผลกระทบด้านบวกหรือด้านลบมากกว่ากันยังเป็นเรื่องที่ต้องรอดูกันต่อไปเมื่อมีการนำไปใช้อย่างแพร่หลาย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับระดับการยอมรับและความไว้วางใจในเทคโนโลยีของผู้คน รวมถึงการพัฒนาอัลกอริทึม องค์ประกอบด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ และความเสถียรของระบบที่มีการทำงานร่วมกันระหว่างเทคโนโลยีสาขาต่างๆ ตลอดจนการคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะทั้งหมดนี้ถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำพาเทคโนโลยีรถไร้คนขับไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างผลกระทบอย่างยั่งยืนให้กับทุกฝ่ายได้ในอนาคต

 

ติดตามข่าวสารและคอนเทนต์ดีๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อมที่คุณไม่ควรพลาด

ได้ที่ Facebook PTT Expresso

 

New call-to-action

รวม 7 เทคโนโลยีเปลี่ยนอนาคตมนุษย์ในอีก 10 ปีข้างหน้า

SHARE

เคยคิดสงสัยหรือไม่ว่าเทคโนโลยีในอนาคต 10 ปี ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร? โลกจะเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน รวมถึงสิ่งที่เราเคยเห็นจากภาพยนตร์ที่พูดถึงอนาคตพร้อมสิ่งประดิษฐ์สุดล้ำนั้นจะมีอะไรที่เป็นไปได้บ้าง หลายเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่มีมานานแล้ว ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตของเรามากขึ้นจนเกิดความเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าที่รวดเร็ว จะมีเทคโนโลยีไหนที่น่าสนใจบ้างในบทความนี้จะเล่าให้ฟัง

1. ปัญญาประดิษฐ์และระบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีแห่งอนาคตที่จะพัฒนาทุกสิ่งให้ล้ำสมัย

มนุษย์เราอาจรู้จัก Artificial Intelligence (AI) หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และ เทคโนโลยี Automation หรือระบบอัตโนมัติกันมาเป็นเวลานาน แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้เองที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว

AI พัฒนาไวจนน่าจับตามอง

ในช่วงปี 2021 เทคโนโลยี AI ได้ถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น นอกจากด้านของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สื่อสังคมออนไลน์ และด้านการแพทย์แล้ว AI ยังได้เข้ามามีบทบาทในธุรกิจมากยิ่งขึ้น มีการใช้ระบบ AI ในธุรกิจเพิ่มขึ้นถึง 25% ต่อปี ไม่ว่าจะเป็นด้านการบริการลูกค้า การขนส่ง การตลาดแบบ Personalized Marketing และการลงทุน เป็นต้น

เดิมทีเรามักจะคาดการณ์ว่ายังคงมีงานหลายส่วนที่ AI ไม่สามารถทำได้ดีเท่ากับคน เพราะเป็นงานที่ต้องใช้ความเป็นมนุษย์สูง เช่น งานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์และงานที่ต้องใช้ความเข้าใจด้านอารมณ์ แต่ความเชื่อนี้จะค่อยๆ ถูกเปลี่ยนเมื่อมี AI ที่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้

เทคโนโลยี AI ได้พัฒนาระบบ Multi Skill และ Deep Learning ซึ่งทำให้ปัญญาประดิษฐ์มีความสามารถที่จะเรียนรู้เชิงลึกและเรียนรู้หลายสิ่งจนเชี่ยวชาญได้พร้อมๆ กัน AI จึงมีความรู้มากกว่าและยังมีความสามารถเทียบเคียงมนุษย์ ทำให้ AI คิดและทำงานสร้างสรรค์รวมถึงงานที่ใช้ทักษะด้านอารมณ์เองได้

ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ เทคโนโลยี GPT-3 ปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถเขียนหนังสือได้ไม่แพ้มนุษย์ โดยที่ AI สามารถทำงานศิลปะ ด้านดนตรี และการวาดภาพก็สามารถทำได้เช่นกัน รวมทั้งในปัจจุบันคนเริ่มยอมรับให้ AI เป็นเพื่อนกับมนุษย์ได้อีกด้วย

บทความ เทคโนโลยีในอนาคต 10 ปีข้างหน้า

Automation จะยกระดับและนำมาใช้อย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น

เทคโนโลยี Automation หรือระบบอัตโนมัติได้ถูกนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมมาเป็นเวลานานในรูปแบบเครื่องจักรที่ช่วยลดงานให้มนุษย์และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นหุ่นยนต์ ปัจจัยเร่งที่สำคัญในปี 2020 คือสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงขีดจำกัดของมนุษย์ที่ชัดเจนมากขึ้น

เมื่อเกิดโรคระบาดทำให้ภาคการผลิตที่ใช้แรงงานคนหยุดชะงัก วิกฤติครั้งนี้กระตุ้นให้การใช้ระบบ Automation เป็นที่ต้องการมากขึ้น คนสามารถป่วยได้ แต่จักรกลเองไม่มีวันป่วยและยังทำงานได้มีประสิทธิภาพมากกว่า

สิ่งที่น่าจับตามองเป็นอย่างมากก็คือเทคโนโลยี AI ที่พัฒนาอย่างรวดเร็วนี้จะเข้ามาผสานรวมกับเทคโนโลยี Automation มากขึ้น ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือระบบ Automation ที่ทำงานได้อย่างชาญฉลาดมากขึ้นกว่าเดิมและสามารถทำงานแทนมนุษย์ได้เกือบทุกอย่าง แน่นอนว่าจะเป็น เทคโนโลยีในอนาคต 10 ปี ข้างหน้าที่เปลี่ยนชีวิตเราไปโดยสิ้นเชิง

2. เทคโนโลยี R ที่ผสานโลกเสมือนกับความเป็นจริงอย่างสมบูรณ์
เทคโนโลยี ในอนาคต 10 ปีข้างหน้าที่จะเปลี่ยนอนาคตของมนุษย์อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือ “เทคโนโลยีโลกเสมือน” ซึ่งในปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยี R (Reality Technology) เหล่านี้ขึ้นมาใช้งานมากมาย

VR (Virtual Reality) เทคโนโลยีจำลองความเป็นจริงเสมือน สร้างโลกเสมือนจริงให้เราเข้าไปสัมผัสประสบการณ์ในโลกจำลองผ่านอุปกรณ์ต่างๆ เช่น หน้าจอ หรือแว่น VR โดยบริษัทใหญ่อย่าง Google นำเทคโนโลยีนี้มาให้ทุกคนได้สัมผัสได้เช่น Virtual Tour ผ่าน Google Earth หรือ Virtual Tour นิทรรศการและสถานที่สำคัญต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีบริษัทเกมอีกเป็นจำนวนมากที่ผลิตเกม VR ขึ้นมา

ก้าวที่สำคัญของเทคโนโลยี VR คือบริษัท Facebook ที่กำลังพัฒนา Facebook Horizon สังคมออนไลน์ในโลกเสมือนที่ทุกคนสามารถเข้าไปใช้งานและเชื่อมต่อกันได้ทั่วโลกผ่านเทคโนโลยีนี้ ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้งานสามารถใช้ชีวิตในเกมและมีปฏิสัมพันธ์กันได้ทั่วโลกซึ่งจะส่งผลกับวิถีชีวิตของมนุษย์ด้านสังคมอย่างมาก

AR (Augmented Reality) เทคโนโลยีที่ผสานเอาโลกแห่งความเป็นจริงเข้ากับโลกเสมือน เทคโนโลยีนี้จะสามารถจำลองภาพ 3 มิติแสดงผลบนพื้นที่จริงให้เราเห็นโดยต้องมีอุปกรณ์ตัวกลางคือ ซอฟต์แวร์ แอปพลิเคชัน และฮาร์ดแวร์อย่างกล้องโทรศัพท์มือถือหรือแว่น VR เป็นต้น

เทคโนโลยีนี้มีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบันอย่างเช่นในเกม Pokemon Go ก็ใช้เทคโนโลยีนี้ และฟิลเตอร์จากแอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียที่ใช้กันเป็นประจำ นอกจากนี้ ในวงการธุรกิจเองก็มีการนำมาใช้ประโยชน์อย่าง IKEA บริษัทยักษ์ใหญ่แห่งวงการเฟอร์นิเจอร์ก็มีการใช้เทคโนโลยี AR จำลองภาพสินค้าในสถานที่จริงเพื่อให้คนเห็นภาพสินค้าจริงมากขึ้น เทคโนโลยี AR จึงอาจสร้างความเปลี่ยนแปลงให้หลายธุรกิจและวิถีชีวิตมนุษย์ ในอนาคตเราอาจไม่จำเป็นต้องออกไปซื้อของอีกต่อไป

MR (Mixed Reality) เทคโนโลยีที่ผสานจุดเด่นของ VR และ AR เข้าด้วยกัน เทคโนโลยีต่อยอดสร้างภาพจำลองในโลกจริงและยังสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับโลกเสมือนได้ โดยใช้เทคโนโลยี Hologram เข้ามาช่วยให้เรามองเห็น สัมผัส และมีปฏิสัมพันธ์ได้ ลองจินตนาการถึงภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์อย่าง Ironman ที่ตัวเอกสามารถพูดคุยกับจาวิสได้ มองเห็นภาพจำลองของสิ่งต่างๆ ที่คอมพิวเตอร์แสดงผลด้วยโฮโลแกรม พร้อมกับสั่งการด้วยเสียงและการใช้มือเปล่าสัมผัสปุ่มต่างๆ กลางอากาศนั่นเอง

XR (Extended Reality) ขั้นกว่าของโลกเสมือน การพัฒนาผสานรวมเทคโนโลยี AR + VR + MR เข้าด้วยกัน นอกจากจะสั่งการบนโลกเสมือนได้ก็ยังสามารถเชื่อมต่อให้เกิดการสั่งการและปฏิสัมพันธ์ได้ทั้งในโลกจริงและในโลกเสมือนด้วย ในอนาคตจะมีการนำมาใช้กับทุกวงการไม่ว่าจะเป็นด้านอุตสาหกรรม การศึกษา การทหาร สุขภาพ ท่องเที่ยว และความบันเทิง

3. เทคโนโลยี Blockchain เปลี่ยนแปลงโลก

เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) แห่งยุคดิจิทัล มีความสามารถในการเก็บข้อมูลโครงข่ายที่ทุกเข้าถึงได้ ไม่ต้องผ่านคนกลางโดยมีการเข้ารหัสทางคอมพิวเตอร์เพื่อความปลอดภัย ทำให้ได้รับข้อมูลชุดเดียวกันในเวลาเดียวกันได้ทั่วโลก

ประโยชน์ของเทคโนโลยีบล็อกเชนคือ มีความโปร่งใสเพราะทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ ถูกแทรกแซงและทำลายได้ยาก และลดคนกลางในระบบลงได้ เทคโนโลยีนี้เหมาะที่จะนำมาใช้กับการทำธุรกรรมการเงินเป็นส่วนใหญ่ทั้งในธนาคารและใน Bitcoin ที่เรารู้จักกันนั่นเอง

ที่ผ่านมาวงการสกุลเงินดิจิทัล Cryptocurrency ที่ได้รับความนิยมสูงก็ใช้ระบบ Blockchain ในการจัดเก็บข้อมูลการทำธุรกรรมและกำไรของตลาดเช่นกัน รวมถึงบริษัทใหญ่ด้านเทคโนโลยีต่างก็ให้ความสนใจในตัวบล็อกเชน และนำมาใช้กับบริการของตัวเอง เช่น Amazon Web Services (AWS), Microsoft Azure, IBM Blockchain Platform และ Alibaba Cloud เป็นต้น

เทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลนี้สามารถนำมาใช้ได้กับหลายๆ วงการด้วยกันไม่ว่าจะเป็น

  • การนำมาใช้ในด้านบริการออนไลน์ Blockchain as a Service (Baas) 
  • การนำมาใช้งานในด้านธุรกรรมต่างๆ เช่น ธุรกรรมการเงิน ธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ธุรกรรมทั่วไป การบริจาคเพื่อการกุศล และธุรกรรมการซื้อขาย-ประมูลงานศิลปะ (NFT Art)
  • การนำมาใช้งานในการติดตามกระบวนการโลจิสติกส์
  • การนำมาใช้งานในการ Backup ข้อมูล

การเข้าถึงข้อมูลจะเป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน ช่วยลดขั้นตอนลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นด้านเอกสารและค่าธรรมเนียม ลดการคอร์รัปชันในการทำธุรกิจลงได้ เทคโนโลยีในอนาคต 10 ปีข้างหน้า มีความเป็นไปได้สูงที่มนุษย์เราอาจนำบล็อกเชนมาใช้ประโยชน์อื่นๆ เพิ่มเติมในวงกว้างขึ้นในระดับที่ใหญ่ขึ้นไม่ว่าจะเป็นเมือง รัฐ ประเทศ และโลก ไม่แน่ว่าชุดข้อมูลการเลือกตั้งอาจปรากฏบนบล็อกเชนเพื่อสร้างความโปร่งใสก็เป็นได้

4. Brain-machine เทคโนโลยีเชื่อมโยงสมองมนุษย์เข้า AI

เทคโนโลยีในอนาคต 10 ปีข้างหน้าที่น่าตื่นเต้นกำลังจะเกิดขึ้นจริงแล้ว Brain-machine คือเทคโนโลยีใหม่ที่จะเชื่อมมนุษย์กับ AI เข้าด้วยกันแบบที่เราเคยเห็นกันในภาพยนตร์ Sci-Fi สุดล้ำ หากนึกภาพไม่ออกว่า Brain-machine นี้เป็นอย่างไร ให้นึกถึงตัวละครที่สวมหมวกใยประสาทสั่งการเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์ได้ ตัวละครที่มีการฝังชิปลงในสมองเพื่อแลกเปลี่ยนและเก็บข้อมูล รวมถึงตัวละครที่มีบางส่วนของร่างกายเป็นหุ่นยนต์

บทความ เทคโนโลยีในอนาคต 10 ปีข้างหน้า

กรณีศึกษาที่น่าสนใจคือบริษัท Neuralink ของ Elon Musk ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี Brain-machine โดยเฉพาะ มีความตั้งใจที่จะสร้างเทคโนโลยีเชื่อมโยงสมองของมนุษย์เข้ากับเทคโนโลยีต่างๆ

โครงการแรก Neuralink ตั้งใจที่จะฝังชิปที่มีสายสื่อประสาทลงไปในสมองของมนุษย์และแปรสัญญาณให้สามารถสั่งการคอมพิวเตอร์หรือเครื่องจักรได้จริง นอกจากนี้ ยังตั้งใจให้สามารถ Upload ข้อมูลจากสมองเก็บเอาไว้ในชิปรวมถึงดาวน์โหลดชุดข้อมูลเข้าสู่สมองได้อีกด้วย และสิ่งสำคัญที่สุดคือการนำไปใช้รักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวหรือผู้ที่พิการทางอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย โครงการนี้มีความคืบหน้าไปไกลโดย

  • สามารถสร้างสายสื่อประสาท (Threads) ได้สำเร็จและใช้งานได้จริง
  • สามารถสร้างชิปสำหรับอ่านข้อมูลในสมองได้สำเร็จ 
  • สร้างหุ่นยนต์ผ่าตัดฝังชิปลงในสมองที่มีความแม่นยำสูงได้สำเร็จ

เทคโนโลยีของ Neuralink ได้มีการทดลองฝังชิปลงสมองของสัตว์อย่างหนูทดลองและหมูทดลองสำเร็จ รวมทั้งยังอยู่ในขั้นของการพัฒนาต่อก่อนเริ่มทดลองใช้กับมนุษย์ ภายในระยะเวลาเพียง 6 ปีถือว่า Neuralink สามารถพัฒนาเทคโนโลยี Brain-machine ได้อย่างรวดเร็วและยังมีบริษัทอื่นๆ อีกมากมายที่กำลังพัฒนาเช่นกัน จึงคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าเทคโนโลยีนี้จะเสร็จสมบูรณ์และพร้อมที่จะเปลี่ยนโลก

Brain-Machine สามารถนำไปใช้ได้หลากหลาย ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตของมนุษย์อย่างมากและสามารถสร้างอนาคตที่ดีขึ้นได้ โดยเฉพาะในวงการแพทย์ที่จะช่วยรักษาโรคทางสมองและระบบประสาทได้ ไม่ว่าจะเป็นอาการความจำเสื่อม โรคซึมเศร้า โรคตาบอดหูหนวกที่เกิดจากอาการทางสมอง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังสามารถเติมเต็มอวัยวะให้แก่ผู้ป่วยที่พิการหรือผู้ที่สูญเสียอวัยวะจากอุบัติเหตุได้โดยการเชื่อมโยงระบบประสาทกับอวัยวะเทียมและสั่งการส่วนที่เป็นหุ่นยนต์ราวกับอวัยวะปกติ

นอกเหนือไปจากด้านการแพทย์แล้ว เทคโนโลยีนี้ยังสามารถนำมาใช้กับชีวิตประจำวันได้เช่นกัน โดยมนุษย์จะสามารถเชื่อมโยงกับสิ่งของเครื่องจักรต่างๆ ได้ และเทคโนโลยีนี้ยังสามารถช่วยฟื้นฟูด้านจิตใจได้ด้วยการอัปโหลดข้อมูลของผู้คนเก็บเอาไว้และสร้างตัวตนเสมือนจริงจากข้อมูลความทรงจำของคนได้อีกด้วย

5. โครงข่ายอินเทอร์เน็ตดาวเทียมและอินเทอร์เน็ต 6G ความเร็วสูง

เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตคือเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่แท้จริง โดยเป็นสื่อกลางที่ช่วยให้การเข้าถึงข้อมูลและการสื่อสารกลายเป็นเรื่องง่ายเพียงปลายนิ้ว สองเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่กำลังจะมาเปลี่ยนอนาคตภายใน 10 ปีข้างหน้าที่น่าจับตามองก็คือ

Satellite Internet โครงการอินเทอร์เน็ตดาวเทียม

นี่คือเทคโนโลยีที่ทำให้คนใช้อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมนอกโลกได้โดยไม่ต้องพึ่งเสาสัญญาณอินเทอร์เน็ตบริเวณใกล้เคียงพร้อมกับความเร็วที่มากขึ้น สิ่งนี้จะเข้ามาเปลี่ยนชีวิตของมนุษย์โดย 

  • ทุกคนทั่วโลกจะสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้จริงแม้ในบริเวณที่ไม่มีเสาสัญญาณ 
  • ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจ่ายค่าบริการอินเทอร์เน็ตในราคาที่ถูกลงหรืออาจจะไม่ต้องจ่ายเลย 
  • การสื่อสารทั่วทุกมุมโลกเป็นไปได้จริง
  • ผู้ขาดโอกาสและประเทศด้อยพัฒนาสามารถเข้าถึงข้อมูล ความรู้ และการศึกษาได้
  • ช่วยลดงบประมาณค่าใช้จ่ายเรื่องโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตเมื่อเดินทางไปต่างประเทศ (ไม่จำเป็นต้องซื้อซิมโทรศัพท์สำหรับสื่อสารในต่างประเทศอีกต่อไป)

อินเทอร์เน็ตดาวเทียมเป็นโครงการที่สองมหาเศรษฐีอันดับต้นของโลกอย่าง Elon Musk และ Jeff Bezos กำลังแข่งขันกันพัฒนาโครงการนี้ให้เป็นจริง โดย Elon Musk ได้ก่อตั้ง Starlink โดยดำเนินการปล่อยดาวเทียมสู่อวกาศไปแล้วกว่า 1,500 ดวงทั่วโลก และเปิดให้คนที่สนใจจองบริการนี้แล้วในราคา 99 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน

กระแสตอบรับของอินเทอร์เน็ตดาวเทียมเป็นไปในทางที่ดีมาก แม้ในช่วงเริ่มต้นบริการอินเทอร์เน็ตดาวเทียมอาจยังต้องใช้งบประมาณในการเข้าถึง แต่ในอนาคตจะต้องมีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน

6G Internet อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

อีกหนึ่งเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่จะพัฒนาควบคู่กับอินเทอร์เน็ตดาวเทียมคือ เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 6G  ที่มีความเร็วกว่า 5G ถึง 100 เท่า (ดาวน์โหลดข้อมูล 1 Terabit/วินาที) ซึ่งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจะเข้ามาแก้ปัญหาของมนุษย์ในหลายด้านและช่วยพัฒนาให้เทคโนโลยีอื่นๆ ลื่นไหลมากยิ่งขึ้น

  • แก้ปัญหาเรื่องความเร็วของอินเทอร์เน็ต – ทำให้การสื่อสารเป็นไปอย่างลื่นไหลและรวดเร็วขึ้น รวมทั้งยังช่วยให้การทำงานทางไกลและการประชุมทางไกลสามารถทำได้อย่างสะดวกมากขึ้นด้วย อินเทอร์เน็ตที่เร็วขึ้นจะสามารถรองรับเทคโนโลยีโฮโลแกรมฉายภาพสามมิติในการประชุมได้
  • ส่งเสริมเทคโนโลยีทางการแพทย์ – ทำให้การผ่าตัดทางไกล (Telemedicine) มีความแม่นยำมากขึ้น
  • เทคโนโลยีที่ใช้ข้อมูลอินเทอร์เน็ตในการดำเนินระบบอย่างปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) จะสามารถใช้ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ถึงแม้ว่าอินเทอร์เน็ตจะเป็นสิ่งที่คนรู้จักกันมานานแล้วและเปลี่ยนแปลงชีวิตมนุษย์เราอย่างมากในช่วง 50 ปีนี้ แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานยังเข้าไม่ถึง และกลุ่มคนจำนวนมากที่ยังมีปัญหาเรื่องความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ไม่เพียงพอจากข้อจำกัดของค่าใช้จ่าย

ลองจินตนาการดูว่าจะสะดวกขนาดไหนหากทุกคนบนโลกสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ในทุกพื้นที่ แม้ในพื้นที่ทุรกันดารที่ไม่สามารถติดตั้งเสาสัญญาณหรือสายอินเทอร์เน็ตได้ ด้วยต้นทุนราคาที่ถูกลง จะเป็นอย่างไรหากเราสามารถดาวน์โหลดข้อมูลจำนวนมหาศาลได้ใน 1 นาที

6. IoT สรรพสิ่งมีชีวิตโดยอินเทอร์เน็ตเป็นตัวเชื่อมโยง

Internet of Things คือ เทคโนโลยีที่ทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ “ฉลาดขึ้น” โดยสามารถเชื่อมโยงข้อมูลและสื่อสารกันได้ผ่านเครือข่ายออนไลน์ Internet Wi-Fi และ Bluetooth กลายเป็น Smart Device ต่างๆ ที่เรารู้จักกัน

เทคโนโลยีเหล่านี้เริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตเราบ้างแล้วโดยที่เราอาจจะยังไม่รู้ตัว เช่น

  • อุปกรณ์อัจฉริยะที่สวมใส่ได้ Smart Wearable อย่าง Smart Watch
  • โทรศัพท์มือถือ Smartphone
  • บ้านอัจฉริยะ Smart Home
  • เมืองอัจฉริยะ Smart City
  • รถยนต์อัจฉริยะ Smart Car
  • ระบบโครงข่ายสำหรับส่งไฟฟ้าอัจฉริยะแบบครบวงจร Smart Grid

ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า สิ่งของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ รอบตัวเราจะพัฒนาไปเป็น Smart Device มากขึ้นและช่วยวิเคราะห์ข้อมูลได้ละเอียดขึ้น ทำให้ผู้ใช้สามารถใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้ได้ง่ายขึ้น ควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ น้อยลง ไม่ต้องคอยตั้งค่าระบบหรือเปิดปิดการใช้งานเองอีกต่อไป และยังสามารถเก็บข้อมูลพฤติกรรมของผู้ใช้งานและส่งต่อสู่อุปกรณ์ชิ้นอื่นได้อีกด้วย ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนี้ ได้แก่

Industrial IoT:

การนำเทคโนโลยีสรรพสิ่งมาใช้ในอุตสาหกรรมในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการขนส่ง มนุษย์อาจไม่ต้องทำงานจัดหาวัตถุดิบ งานผลิต หรืองานขนส่งอีกต่อไป
IoT Applications in Healthcare:

เทคโนโลยี IoT จะเข้ามาช่วยเรื่องการแพทย์ได้มากขึ้นเลยทีเดียว แพทย์สามารถติดตามอาการทราบข้อมูลและพฤติกรรมคนไข้อย่างละเอียดผ่านอุปกรณ์สวมใส่ที่จะคอยวิเคราะห์และประมวลผลร่างกายผู้ป่วย อาจมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ชิ้นใหม่ๆ มากมายที่สามารถตรวจหาโรคและอาการได้อัตโนมัติ รวมถึงค้นหาสาเหตุและทางรักษาได้ด้วย

IoT Applications in Agriculture:

ในด้านการเกษตรสามารถใช้วัดประเมินเก็บข้อมูลผลผลิตและคาดการณ์ล่วงหน้าได้ รวมทั้งยังสามารถทำงานร่วมกับอุปกรณ์เก็บเกี่ยวได้อีกด้วย
เทคโนโลยี IoT นอกจากจะทำให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้นแล้วยังสร้างความเปลี่ยนแปลงต่ออนาคตเป็นอย่างมาก การทำให้อุปกรณ์ต่างๆ ฉลาดขึ้นด้วยเทคโนโลยี IoT จะเปลี่ยนอนาคตมนุษย์ให้มีชีวิตที่ Smart Life ขึ้น

7. Edge Computing และ ​Cloud ประมวลผลข้อมูลไร้ฮาร์ดแวร์

Edge และ Cloud คือ ระบบประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลบนเซิร์ฟเวอร์ออนไลน์โดยไม่ต้องใช้ฮาร์ดแวร์ของเครื่องเพื่อประมวลผล ทำให้เราสามารถใช้งานโปรแกรม ระบบ หรือเก็บข้อมูลเหล่านั้นได้ทันทีจากอุปกรณ์ใดก็ได้

ความแตกต่างของ 2 สิ่งนี้ คือ Cloud จะต้องส่งข้อมูลไปยังเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อประมวลผลและส่งข้อมูลกลับมาทำให้ใช้เวลามากกว่า ส่วน Edge จะส่งข้อมูลไปยังอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่อยู่ใกล้ๆ เพื่อประมวลผลข้อมูลและสามารถส่งกลับมาได้เลยทำให้ใช้เวลาน้อยลง นอกจากนี้ การส่งข้อมูลไปมาระหว่างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นั้นจะยิ่งสอดคล้องกับเทคโนโลยี Internet of Things ลักษณะการส่งข้อมูลที่แตกต่างกันมีผลต่อต้นทุนค่าใช้จ่าย ประกอบกับการใช้พลังงานในการส่งสัญญาณด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องประเมินวัตถุประสงค์และลักษณะการใช้งานให้เหมาะสม

Cloud Computing เป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยและใช้กันมานานโดยได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นระบบการทำธุรกรรมหรือใช้บริการระบบในโลกออนไลน์อย่าง Internet Banking, Social Media และ Email ระบบการทำงานบน Cloud อย่าง Document Online, Program Online ที่ใช้ทำงาน ระบบการจัดเก็บข้อมูลบนไดรฟ์ เป็นต้น

บทความ เทคโนโลยีในอนาคต 10 ปีข้างหน้า

Edge Computing เป็นเทรนด์ที่กำลังได้รับความสนใจ มีการนำมาใช้งานบ้างแล้วในระบบ Smart Home และอุปกรณ์ Smart Device ข้อดีของ Edge Computing คือการช่วยลดเวลาในการรับส่งข้อมูล ประหยัดพื้นที่บนเซิร์ฟเวอร์ และยกระดับความปลอดภัยของมูลได้

สองสิ่งนี้จะเข้ามาเปลี่ยนอนาคตอย่างไร? ระบบประมวลผลข้อมูลนี้จะส่งผลอย่างมากต่อระบบธุรกิจองค์กร เพราะสามารถนำระบบการทำงานด้านต่างๆ เข้ามาอยู่ในโลกออนไลน์ได้ส่งผลให้การทำงานแบบ Remote Working เป็นไปได้มากขึ้น ในอนาคตทุกคนอาจนั่งทำงานจากที่ไหนก็ได้เป็นปกติ นอกจากนี้ ระบบเหล่านี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้สำหรับการติดตั้งโปรแกรมซอฟต์แวร์ต่างๆ และค่ายใช้จ่ายสำหรับสเปคคอมพิวเตอร์ที่สูงพอเพื่อรองรับโปรแกรมต่างๆ

จินตนาการดูว่าเราอาจไม่จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์สเปคสูงสำหรับเล่นเกมออนไลน์หรือไม่ต้องติดตั้งโปรแกรมเกม โปรแกรมการทำงานใดๆ อีกต่อไป เพราะสามารถใช้ระบบ Edge Computing ประมวลผลข้อมูลแทนได้

เทคโนโลยีในอนาคตจะเปลี่ยนโลกยังไง?

เทคโนโลยีเป็นตัวเร่งความเร็วของโลกทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในด้านวิถีชีวิตและระบบต่างๆ เทคโนโลยีจะเติมเต็มสิ่งที่ขาดให้กับมนุษย์ เทคโนโลยีในอนาคต 10 ปี ข้างหน้าจะพัฒนาไปไกลกว่าเดิมมากและสามารถตอบโจทย์ความต้องการของมนุษย์ได้เกือบทุกด้าน

ความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ดี สิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีอาจทำให้มีอะไรใหม่ๆ ให้เรียนรู้กันอีกมากมาย ในขณะเดียวกัน อาจทำให้อาชีพ วัฒนธรรม หรือกระบวนการบางส่วนหายไปเพราะมีเทคโนโลยีเข้ามาทำหน้าที่แทน เทคโนโลยีจะมอบโอกาสดีๆ ให้กับหลายชีวิต แต่ในขณะเดียวกันการกระจายเทคโนโลยีให้เข้าถึงคนได้ทุกกลุ่มก็เป็นเรื่องสำคัญเพื่อที่จะทำให้อนาคตของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กันอย่างทั่วถึง

สรุป

7 เทรนด์เทคโนโลยีในอนาคต 10 ปี ข้างหน้าที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ได้แก่ AI และระบบ Automation, เทคโนโลยี R (Reality Technology), เทคโนโลยี Blockchain, เทคโนโลยี Brain-machine, เทคโนโลยีโครงข่ายอินเทอร์เน็ตดาวเทียมและอินเทอร์เน็ต 6G ความเร็วสูง, เทคโนโลยี IoT สรรพสิ่งมีชีวิต และเทคโนโลยี Edge computing & ​Cloud computing เทคโนโลยีเหล่านี้จะเข้ามาเติมเต็มชีวิตของมนุษย์มากขึ้นและมอบโอกาสดีๆ ให้กับมนุษย์อีกหลายคน

New call-to-action

แก้ปัญหาการนอนหลับในสังคมสมัยใหม่ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์

SHARE

การพักผ่อนที่ดีที่สุดคือการนอน แต่ในปัจจุบันการนอนหลับให้สนิทกลายเป็นสิ่งที่ผู้คน “ทำได้ยากขึ้น” จนกลายเป็นปัญหาระยะยาว นั่นทำให้เทคโนโลยีทางการแพทย์ ที่เกี่ยวข้องกับการนอน กลายเป็นที่ต้องการของคนยุคใหม่

ปัญหาการนอนภายใต้ความเปลี่ยนแปลงของสังคม 

จากรายงานขององค์กรอนามัยโลก (WHO) พบว่า 45% ของประชากรโลกเคยมีปัญหาเกี่ยวกับการนอน 

ปัญหาด้านการนอนเคยเป็นปัญหาจุดเล็กๆ ของสังคมที่ไม่มีใครเหลียวแล ก่อนที่จะมีการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ผลกระทบของการนอนอย่างจริงจัง จนพบว่ายิ่งสังคมพัฒนาขึ้นมากเท่าไหร่ การนอนของผู้คนก็ยิ่งน้อยลงเท่านั้น โดยเฉพาะการนอนหลับสนิทอย่างมีคุณภาพ

เหตุผลหลักๆ ในปัจจุบันที่เราสามารถพบได้ทั่วไปไม่ว่าจะในไทยหรือต่างประเทศจะมีดังต่อไปนี้

  • มีความจำเป็นต้องทำงานล่วงเวลานอนหรือทำงานกะกลางคืน
  • การเดินทางและการจราจรนานกินเวลานาน
  • แอลกอฮอล์ การสังสรรค์ยามค่ำคืน
  • ภาวะการนอนหลับผิดปกติส่วนบุคคล
  • การใช้อุปกรณ์สื่อสาร เช่น สมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์จนกินเวลานอน
  • ความเครียด 

สิ่งที่ไม่ค่อยได้ถูกเอ่ยถึงเมื่อกล่าวเกี่ยวกับปัญหาด้านการนอนคือ “ทัศนคติ” ของผู้คน กับความเชื่อที่ว่าการนอนไม่ได้จำเป็นกับชีวิตมากเท่าใดนัก ซึ่งกว่าจะรู้ว่ามันส่งผลเสียอย่างหนักกับร่างกาย ก็เกิดปัญหาที่ยากจะแก้ขึ้นมาเสียแล้ว 

Sleep Problems

ปัญหาด้านการนอนไม่ได้เพียงส่งผลกระทบในระดับบุคคล แต่ยังกระทบไปถึงเศรษฐกิจของประเทศไทยได้เลยทีเดียว ทั้งประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง ความเสี่ยงด้านอุบัติเหตุที่เพิ่มขึ้น และงบประมาณที่จะต้องมาแก้ปัญหาในเรื่องนี้ อีกทั้ง ปัญหาด้านการนอนจริงๆ ไม่ใช่แค่การนอนไม่พออย่างเดียว ยังมีปัญหาอื่นๆ แฝงอยู่และหลายอย่างนั้นผู้ที่เป็นอาจไม่รู้ตัวว่าตนเองควรได้รับการรักษาด้วย

บทบาทของเทคโนโลยีทางการแพทย์กับการนอน

สาเหตุที่ปัญหาด้านการนอนดูเป็นประเด็นของสังคมโลกเลยก็คือ มนุษย์ไม่สามารถตรวจสอบการนอนของตัวเองได้เพราะว่าเรานั้น “หลับ” อยู่ ต่อให้ตรวจได้แต่ก็ไม่มีความเชี่ยวชาญมากพอที่จะตัดสินได้ว่าตนเองมีปัญหาหรือไม่ อีกทั้งปัญหาด้านการนอนนั้นยังมีหลายประเภท เช่น

  • นอนกรน
  • นอนละเมอ
  • นอนกัดฟัน 
  • นอนหลับไม่สนิท
  • ภาวะหยุดหายใจเวลานอน

ซึ่งหลายปัญหาอาจส่งผลกระทบกับร่างกายร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย 

หนทางการแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เทคโนโลยีทางการแพทย์ได้เข้ามามีบทบาทในการรักษาปัญหาการนอนในปัจจุบัน โดยจะแบ่งเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ

ตรวจสอบการนอนหลับ แอปพลิเคชั่นเพื่อตรวจสอบการนอนหลับและนอนกรน รวมถึงอุปกรณ์สวมใส่ (wearable device) ที่มีการติดตั้งระบบเพื่อตรวจสอบการนอนของเราอย่างเช่นอุปกรณ์ smart watch อาจไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคนสมัยนี้ แต่รู้หรือไม่ว่าโรงพยาบาลใหญ่ๆ ของประเทศไทยมีห้องสำหรับตรวจสอบการนอน (Sleep Lab) โดยเฉพาะแล้ว 

โดยการทดสอบการนอนหลับนี้จะเป็นการจำลองการนอนหลับจริงของผู้คน พร้อมกับการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ตรวจร่างกายเอาไว้ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้หลากหลายไม่ว่าจะเป็น

  • การตรวจคลื่นสมอง
  • ตรวจวัดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่ใช้หายใจ
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ
  • ตรวจเสียงกรน
  • ตรวจท่านอน
  • ตรวจระดับออกซิเจนในเลือด

โดยแพทย์จะทำการนำค่าต่างๆ ไปวิเคราะห์และวินิจฉัยได้ว่าบุคคลนั้นๆ มีความเสี่ยงและโรคเกี่ยวกับการนอนหรือไม่ ก่อนที่จะดำเนินการรักษาที่ถูกต้องในขั้นต่อไปได้ ซึ่งการตรวจสอบแบบนี้จะช่วยลดความเสี่ยง เพิ่มคุณภาพด้านการนอนที่ดีขึ้น

Sleeping Problems

เทคโนโลยีการรักษาที่มีหลากหลาย ปัญหาด้านการนอนไม่ใช่ปัญหาที่สามารถแก้ได้ในทันทีทันใด และไม่ได้มีทางแก้แค่ทางเดียวเท่านั้น ขึ้นอยู่กับว่าผู้ที่เข้ามารักษามีปัญหาอะไรและเรื้อรังมาขนาดไหนแล้ว ยกตัวอย่างเช่น

  • ปัญหาการนอนหลับไม่สนิท ปัจจุบันเรื่องนี้มีเทคโนโลยีรองรับไม่น้อย ทั้งการประยุกต์เทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อสร้างเตียงและหมอนรองรับสรีระเพื่อการนอนหลับที่ดียิ่งขึ้น การใช้แอปพลิเคชั่นสร้างเสียงที่ส่งผลดีต่อการนอนหลับ  
  • ปัญหาการนอนกรน ในปัจจุบันมีการแก้ปัญหาด้วยการใช้เครื่องเป่าลมหายใจ, เครื่องมือทันตกรรม, การใช้คลื่นความถี่วิทยุในการรักษา และ การผ่าตัดเพื่อฝังอุปกรณ์ป้องกันการนอนกรน

เป็นต้น 

ทัศนคติด้านการนอนหลับที่สำคัญไม่น้อยกว่าเทคโนโลยี

ดังทีกล่าวไว้ข้างต้นว่าทัศนคติเกี่ยวกับการนอนหลับเป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่ไม่อาจละเลยได้ มนุษย์เราจำเป็นต้องเริ่มมองการพักผ่อนและการนอนเป็นสิ่งที่สำคัญเสียก่อน และยอมรับว่ามันมีความ “จำเป็น” ต่อชีวิต ไม่ใช่แค่อยากนอนก็นอน กี่ชั่วโมงก็ว่ากันไป เพราะความคิดแบบนั้นจะเป็นสาเหตุเล็กๆ ที่นำพาโรคใหญ่ๆ ตามมาในอนาคต

การพักผ่อนไม่เพียงพอ อดนอน รวมถึงพฤติกรรมการนอนที่ไม่ปกติย่อมส่งผลกระทบกับร่างกายของเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง นอกเหนือจากการใช้เทคโนโลยีเข้าร่วมในการตรวจสอบและรักษาแล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนของตัวเอง ทั้งการหลีกเลี่ยงการนอนกลางวัน เลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีนก่อนนอน และการทานอาหารที่มีประโยชน์ ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นของทุกๆ คนเสมอ 

 

New call-to-action

  • SUBSCRIBE TO BE
    THE FIRST INNOVATOR.

logo