Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

เทคโนโลยีอวกาศ ไปไกลแค่ไหนแล้วใน 10 ปี 2011 VS 2021

SHARE

หากย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้วเรื่องอวกาศนับเป็นเรื่องที่อยู่ไกลตัวไม่น้อย จนคนทั่วไปอาจไม่เข้าใจว่า เราสำรวจอวกาศไปเพื่ออะไร แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีอวกาศได้มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว มีการจัดตั้งโครงการเพื่อสังเกตการทางดาราศาสตร์ขึ้นมากมาย รวมถึงมีการศึกษาค้นคว้าเพื่อพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับโลกและชีวิตความเป็นอยู่ของคนในปัจจุบันได้

เทคโนโลยีอวกาศคืออะไร

เทคโนโลยีอวกาศหรือ Space Technology นั้นเป็นการนำเอาองค์ความรู้ เทคโนโลยี วิธีการ รวมถึงเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ มาปรับใช้ให้เหมาะสมในการศึกษาด้านดาราศาสตร์ อวกาศ ดวงดาว รวมถึงปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในบริเวณที่อยู่นอกเหนือชั้นบรรยากาศของโลก ตลอดจนสามารถนำมาประยุกต์ให้เกิดประโยชน์กับโลกและการดำเนินชีวิตของคนในปัจจุบันได้ด้วย เช่น การนำเทคโนโลยีอวกาศมาใช้ในการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ การเตือนภัยพิบัติ หรือสร้างเครือข่ายการติดต่อสื่อสารเป็นต้น

the-development-of-astronomy-technology-01

ตัวอย่างเทคโนโลยีอวกาศที่สำคัญและโดดเด่น

ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมามีเทคโนโลยีอวกาศที่มีความสำคัญและถูกพัฒนาให้โดดเด่นจนเป็นที่รู้จักอยู่ 4 ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกัน ได้แก่

ดาวเทียม

ดาวเทียมหรือ satellite เป็นเทคโนโลยีอวกาศที่ถูกส่งขึ้นไปโคจรรอบโลกผ่านการติดตั้งบนจรวดหรือยานขนส่งอวกาศ ดาวเทียมดวงแรกที่ถูกส่งขึ้นไปโคจรรอบโลกก็คือสปุตนิค1 ในปี พ.ศ. 2500

ในปัจจุบันดาวเทียมถูกแบ่งออกเป็นหลากหลายประเภทโดยมีภารกิจต่างๆ กัน เช่น ดาวเทียมที่ใช้ประโยชน์ในด้านการสื่อสาร ดาวเทียมสำรวจพิภพที่ใช้ในการสำรวจทรัพยากรโลก หรือดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาที่ใช้ในการถ่ายภาพและส่งข้อมูลเกี่ยวกับลมฟ้าอากาศกลับมายังโลก เป็นต้น

จรวด

เป็นยานพาหนะที่สำคัญในการส่งดาวเทียมหรือยานสำรวจออกสู่อวกาศ ซึ่งหากความเร็วของจรวดไม่มากพอ อาจทำให้ไม่สามารถเอาชนะแรงโน้มถ่วงของโลกและจะทำให้หัวจรวดตกกลับมายังผิวโลกได้ ซึ่งในปัจจุบันได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนทำให้จรวดสามารถเพิ่มความเร็วและมีแรงขับเคลื่อนที่มากพอจะเอาชนะแรงโน้มถ่วงโลกหรือที่เรียกว่า “ความเร็วหลุดพ้น” ได้ซึ่งความเร็วนี้จะอยู่ที่ 11.2 กิโลเมตรต่อวินาที

ยานขนส่งอวกาศ

ยานขนส่งอวกาศหรือที่เรามักคุ้นเคยกันในชื่อกระสวยอวกาศ เป็นยานพาหนะที่ถูกพัฒนาต่อยอดมาจากจรวด เนื่องจากการใช้จรวดในการส่งดาวเทียมหรือยานอวกาศนั้นมีค่าใช้จ่ายสูงและเมื่อตกสู่พื้นมักเกิดความเสียหายจนไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้

สถานีอวกาศ

เป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่เปรียบเสมือนห้องปฏิบัติการลอยฟ้าที่โคจรอยู่รอบโลก อยู่ในสภาพไร้แรงโน้มถ่วง ส่วนมากมักมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการค้นคว้า ทดลอง สิ่งต่างๆ ที่ไม่สามารถทำได้บนพื้นโลกเช่น สภาพร่างกายหรือจิตใจในการดำรงชีวิตของมนุษย์ในสภาพไร้แรงโน้มถ่วง การศึกษาพฤติกรรมของสัตว์บางชนิด หรือการศึกษาด้านธรณีวิทยาและอุตุนิยมวิทยาควบคู่ไปกับระบบดาวเทียม เป็นต้น

ประโยชน์ของเทคโนโลยีอวกาศ

จากการศึกษาและทดลองในด้านดาราศาสตร์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันทำให้องค์ความรู้ในด้านเทคโนโลยีอวกาศนั้นถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันเครื่องมือต่างๆ เหล่านี้ไม่เพียงแต่ถูกใช้ประโยชน์ในอวกาศเท่านั้นแต่เทคโนโลยีเหล่านี้ยังถูกนำมาประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ในการดำเนินชีวิตประจำวันของคนบนโลกด้วย ตัวอย่างเช่น

the-development-of-astronomy-technology-02

การสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ

ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติเป็นดาวเทียมที่มีการผสมผสานกันระหว่างเทคโนโลยีการถ่ายภาพและโทรคมนาคม มักใช้เพื่อสำรวจดูพื้นผิวโลก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทางธรณีวิทยา นิเวศวิทยาจึงเป็นประโยชน์ต่อโลกทั้งในด้านการเกษตรและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

การพยากรณ์อากาศ

ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาจะเข้ามามีส่วนช่วยในการพยากรณ์อากาศ หรือเตือนภัยพิบัติได้ด้วยการเก็บข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยา เช่น การสำรวจจำนวนเมฆ ตรวจวัดความเร็วลม ความชื้นของอากาศ หรือลักษณะอากาศที่แปรปรวน พร้อมส่งสัญญาณภาพถ่ายทางอากาศมายังพื้นโลกนั่นเอง

การสื่อสารและโทรคมนาคม

ดาวเทียมสื่อสารจะทำหน้าที่เป็นสถานีรับส่งคลื่นวิทยุเพื่อการสื่อสารและโทรคมนาคมเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายการสื่อสารของโลก โดยสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งการสื่อสารภายในประเทศและระหว่างประเทศส่วนใหญ่จะใช้สำหรับกิจการโทรศัพท์ การถ่ายทอดสัญญาณวิทยุ สัญญาณโทรทัศน์ และการส่งข้อมูลดิจิทัล เป็นต้น

10 ปีผ่านไปเทคโนโลยีอวกาศก้าวไปถึงไหนบ้าง

10 ปีที่ผ่านมานั้นนับเป็น 10 ปีแห่งการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศเพื่อเตรียมพร้อมในการก้าวเข้าสู่การสำรวจอวกาศครั้งใหม่ ด้วยการแข่งขันด้านเทคโนโลยีในหลายๆ ประเทศไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริการัสเซีย จีน สหภาพยุโรป อินเดีย และประเทศอื่นๆ

the-development-of-astronomy-technology-03

พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเดินหน้าสำรวจอวกาศ

สำหรับในโลกอวกาศ ดวงจันทร์ยังคงเป็นที่ใฝ่ฝันถึงของชาวโลกดังนั้นในปี 2019 จึงมีหลายประเทศที่สนใจค้นคว้าและพัฒนาเพื่อส่งยานอวกาศไปสำรวจยังดวงจันทร์ เช่น ประเทศอินเดียที่ส่งยานอวกาศ Vikram เพื่อลงจอดบนดวงจันทร์แต่กลับต้องพบกับความล้มเหลว เมื่อยานอวกาศขาดการติดต่อกับโลกในขณะที่อยู่เหนือผิวดวงจันทร์เพียง 2 กิโลเมตรเท่านั้น แต่ถึงแม้ว่าจะนำยานลงจอดบนดวงจันทร์ไม่สำเร็จแต่ยานอวกาศ Chandrayaan-2 ที่ปล่อยขึ้นไปพร้อมกันยังคงทำหน้าที่โคจรรอบดวงจันทร์เพื่อเก็บข้อมูลต่างๆ และส่งกลับมายังโลก

ประเทศญี่ปุ่นก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสำรวจอวกาศโดยสามารถนำยานอวกาศ Hayabusa-2 ลงจอดที่ดาวเคราะห์น้อย 162173 Ryugu สำเร็จและได้เก็บตัวอย่างหินบนดาวเคราะห์น้อยกลับมายังโลกเพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับต้นกำเนิดสิ่งมีชีวิตอีกด้วย

ทดลองเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อตอบสนองเป้าหมายในการอาศัยอยู่ที่ดาวดวงอื่น

แนวคิดการขยายอาณานิคมไปอยู่ยังดาวดวงอื่นที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามีสภาพแวดล้อมคล้ายคลึงกับโลกอย่างดาวอังคาร ก็ยังคงเป็นความหวังของมนุษยชาติเช่นกัน Nasa เอง ก็ได้มีการสนับสนุนให้บริษัทเอกชนด้านเทคโนโลยีอวกาศเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนายานที่สามารถขนส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศเช่นกัน

สำหรับบริษัท SpaceX บริษัทเอกชนด้านธุรกิจการขนส่งทางอวกาศจากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ก่อตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการส่งจรวดสำหรับตั้งอาณานิคมบนดาวอังคารในอนาคต ได้ทำการทดสอบยานต้นแบบ Starhopper ที่ถูกออกแบบให้สามารถทำภารกิจขนส่งผู้โดยสารข้ามทวีปบนโลกได้ภายในเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง และภารกิจการขนส่งดาวเทียมหรือชิ้นส่วนสถานีอวกาศอื่นๆ ขึ้นสู่วงโคจรของโลก นอกจากนี้ยานลำนี้ยังมีภารกิจในการส่งมนุษย์อวกาศไปยังดวงจันทร์และดาวอังคารในอนาคตอีกด้วย

สรุป

จะเห็นได้ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเทคโนโลยีอวกาศนั้นพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างมาก ไม่เพียงแต่เป็นการสำรวจบริเวณอวกาศโดยรอบเหมือนเช่นที่ผ่านมา แต่เป็นการทดลองและนำเทคโนโลยีอวกาศมาใช้ในการศึกษาต่อยอดเพื่อทำให้เกิดประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นในด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม ด้านอุตุนิยมวิทยา ด้านภัยพิบัติ ด้านธรณีวิทยา ด้านนิเวศวิทยา หรือแม้แต่การจะขยายอณานิคมไปยังดาวดวงอื่นในอนาคต

PTT_ebook-EV

  • SUBSCRIBE TO BE
    THE FIRST INNOVATOR.

logo