การทำธุรกิจย่อมต้องมีปัจจัยแวดล้อมคอยสนับสนุนและกระตุ้นอยู่เสมอ ตั้งแต่ระดับบุคลากร หน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน และเมื่อหลายฝ่ายมีการรวมตัวกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะกลายเป็นระบบนิเวศทางธุรกิจ (Business Ecosystem) วงจรที่คอยสนับสนุนซึ่งกันและกัน
นั่นเป็นคำตอบที่ว่าทำไมบางบริษัทถึงมีการเติบโตไวกว่าบริษัทอื่น เพราะปัจจัยที่อยู่รอบ ๆ นั้นเอื้อต่อการเติบโต โดยเราจะมาเจาะลึกกันว่าการสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจนี้ทำได้อย่างไร
Business Ecosystem สิ่งที่ธุรกิจขาดไม่ได้
ระบบนิเวศทางธุรกิจ หรือ Business Ecosystem คือ การรวมตัวกันของธุรกิจ บุคลากร องค์กร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริม เกื้อหนุนกันให้ทุก ๆ ฝ่ายสามารถพัฒนาไปข้างหน้าได้ ลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต สิ่งที่น่าสนใจคือภายในระบบนิเวศไม่จำเป็นจะต้องเป็นมิตรกันเสมอไป เช่น การมีคู่แข่งเข้ามาอยู่ในระบบนิเวศสามารถช่วยผลักดันให้แต่ละบริษัทปรับตัวจนสามารถเติบโตขึ้นจากการพัฒนาเช่นกัน
ซึ่งในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนายกระดับก้าวไกลขึ้น ทำให้ทุกธุรกิจต้องมีการปรับตัวและนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาปรับใช้เพื่อเพิ่มมูลค่า ส่งเสริมการผลิต การจัดการ และการบริการบุคลากร ยิ่งทำให้การสร้าง Business Ecosystem กับบริษัทใหม่ ๆ สำคัญมากขึ้นไปอีก
การปรับใช้ Business Ecosystem
Business Ecosystem มีการใช้งานที่หลากหลาย สำหรับธุรกิจต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องมีจุดเริ่มต้นที่เหมือนกันก็สามารถเชื่อมโยงกันได้ โดย Business Ecosystem มีพื้นฐานในการทำงานอยู่ 2 ประเภทด้วยกัน ดังนี้
Solution Ecosystem
การสร้าง Ecosystem โดยที่ธุรกิจของเรามีหน้าที่เข้าไปช่วยแก้ปัญหา หรือหาวัตถุดิบต่าง ๆ ตลอดจนสนับสนุนบริษัทอื่น ๆ ให้ขยายตัวยิ่งขึ้น และเมื่อทั้งระบบขยายตัวขึ้นเราจะมีการเติบโตตาม จนบริษัทของเราสามารถก้าวเข้าสู่ความยิ่งใหญ่ได้
Transaction Ecosystem
การสร้างระบบนิเวศประเภท Transaction เปรียบเสมือนระบบที่มีตัวกลางให้บริษัทหรือธุรกิจต่าง ๆ เข้ามา เช่น การที่ Shopee เป็นตัวกลางของผู้ซื้อและผู้ขาย หรือ Grab เป็นตัวกลางระหว่างรถแท็กซี่กับผู้โดยสาร
นอกเหนือจากตัวอย่างนี้ Business Ecosystem อาจจะมีการแบ่งที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับมุมมองของธุรกิจต่าง ๆ เช่น การแบ่งแบบธุรกิจเล็ก ธุรกิจใหญ่ หรือการแบ่งประเภทด้วยการสร้างความสัมพันธ์กับคู่ค้า (Partnership) แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องรู้ว่า ธุรกิจของเราจะเข้าไปอยู่จุดไหนของระบบ เสมอ
ข้อดีของการมี Ecosystem ที่ดี
1.การพัฒนาที่รวดเร็วยิ่งขึ้น สำหรับยุคที่เทคโนโลยีครองทุกสิ่งทุกอย่าง การสร้าง Ecosystem ที่มีเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่ง จะทำให้เราสามารถพัฒนาระบบได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น จากการขอความร่วมมือ จ้างงาน หรือขอคำแนะนำเกี่ยวกับเทคโนโลยีต่าง ๆ ซึ่งอาจมีตั้งแต่โปรแกรมง่าย ๆ จนถึงการใช้งานเครื่องจักรขนาดใหญ่เลยทีเดียว
2.ความเข้าใจระหว่างองค์กรที่มากขึ้น การมี Business Ecosystem จะทำให้ทางผู้บริหารเข้าใจตลาดได้ดียิ่งขึ้นจากข้อมูลและมุมมองขององค์กรอื่น ๆ เพิ่มความแม่นยำและเฉียบขาดในการตัดสินใจ ขณะเดียวกันก็ยังสานสัมพันธ์และมีความเข้าใจระหว่างแต่ละฝ่ายมากขึ้น ช่วยให้มีการพัฒนาร่วมกันหรือจัดกิจกรรม ตลอดจนแคมเปญต่าง ๆ รวมกันได้ดี
3.มูลค่าของธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน เมื่อมีการพูดคุยและทุกฝ่ายร่วมมือกัน การกำหนดทิศทางของธุรกิจ การเชื่อมโยงกลุ่มธุรกิจให้หลากหลายและมีความเกื้อหนุนกัน ส่งผลให้มูลค่าของธุรกิจต่าง ๆ และเม็ดเงินที่ไหลเวียนในระบบเพิ่มมากขึ้นตามอัตราการเติบโตของบริษัทที่อยู่ร่วมกัน อีกทั้งยังสามารถควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ หากเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ เช่น สินค้าขาดตลาด ล้นตลาด ได้ง่ายอีกด้วย
4.ขยายธุรกิจให้หลากหลายได้ง่าย หนึ่งในข้อดีของการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมคือการสร้างธุรกิจที่หลากหลายขึ้นกว่าเดิมได้ง่ายด้วยความร่วมมือของหลาย ๆ ฝ่าย เช่น การลงทุนต่อยอดธุรกิจร้านค้าปลีก เช่น ร้านกาแฟ Cafe Amazon จากการให้บริการสถานีน้ำมัน ปตท. เป็นต้น
5.การแข่งขันอย่างมีคุณภาพ การต่อสู้ทางธุรกิจภายใน Ecosystem ที่ไม่เน้นการเอาชนะคู่แข่งอย่างเดียว แต่เป็นการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และปรับตัวให้ทั้งสองฝ่ายก้าวหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ทั้งตัวบริษัทและผู้บริโภคได้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
ตัวอย่างของการใช้ “ระบบนิเวศ” ให้เป็นประโยชน์
ธุรกิจที่นอกเหนือจากธุรกิจน้ำมันของ ปตท.
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือที่รู้จักกันในชื่อของ ปตท. เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดสำหรับการสร้าง Ecosystem ที่มีคุณภาพ โดยการร่วมมือกับหลาย ๆ หน่วยงาน ตั้งแต่การปรับสัดส่วนธุรกิจน้ำมันลง และเพิ่มธุรกิจอื่น ๆ มากขึ้น เช่น ธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจต่างประเทศ โดยให้ธุรกิจเหล่านี้ทำงานร่วมกันในพื้นที่เดียวกัน อย่างการเปิดร้านกาแฟ Cafe Amazon ในสถานีบริการน้ำมันปตท. ที่เปรียบเหมือนการสร้าง Solution Ecosystem ขนาดย่อมเตรียมไว้
จุดเริ่มต้นนี้คือการขยายอาณาจักรของ ปตท. อย่างแท้จริง ด้วยการปรับเปลี่ยนมุมมองสู่การค้าปลีก การหา พันธมิตร (Partner) เพื่อขายสินค้า และต่อยอดไปต่างประเทศ ทำให้ ปตท. สามารถคงเสถียรภาพ และได้กำไรเพิ่มขึ้นแม้ว่าสถานการณ์น้ำมันโลกจะขึ้น ๆ ลง ๆ ก็ตาม
นอกเหนือจากนั้น ปตท. ยังมีการร่วมมือกับ Microsoft เพื่อพัฒนาระบบภายใน และต่อยอดด้วยการสนับสนุน Tech Startup ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่าง PTT ExpresSo เพื่อการต่อยอดธุรกิจให้กว้างขวาง ยั่งยืน ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ได้มากขึ้นอีกด้วย
ความหลากหลายในการลงทุนของ CP
หากพูดถึง Ecosystem เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) เป็นอีกเจ้าหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ ซึ่งจุดเริ่มต้นของความยิ่งใหญ่นี้เกิดจากการเริ่มต้นร้านขายเมล็ดผักเจียไต๋ และเริ่มต่อยอดเข้าสู่การผลิตอาหารสัตว์ เลี้ยงไก่ และทำฟาร์ม โดยทุกธุรกิจมีการไหลเวียนของผลิตภัณฑ์ภายในทั้งนั้น เช่น ใช้ผักบางส่วนจากฟาร์มเพื่อเลี้ยงสัตว์ และใช้พื้นที่ในการพัฒนาร่วมกัน
หลังจากนั้นทางเครือเจริญโภคภัณฑ์ก็มีการขยายขอบเขตไปยังร้านค้าปลีกอย่าง 7-11 และ Makro ที่ทำหน้าที่เป็นทั้ง Solution และ Transaction Ecosystem โดยใช้สินค้าของตัวเองเป็นหลักในการขาย เพิ่มรายได้เข้าบริษัทอีกทาง ในขณะเดียวกันก็เป็นตัวกลางระหว่างผู้ผลิตและร้านขายของปลีก-ส่งด้วย และในภายหลัง CP ก็มีการจับมือกับ Partner มากมาย จนกลายเป็น Business Ecosystem ที่แข็งแกร่งที่สุดในประเทศไทยรายหนึ่งเลยทีเดียว
ในปัจจุบัน CP มีธุรกิจในเครือกระจายอยู่ทุกอุตสาหกรรม ทั้งเกษตร ค้าปลีก โทรคมนาคม การเงิน ยาและเวชภัณฑ์ ไปจนถึงยานยนต์และอสังหาริมทรัพย์ นับว่าเป็นความหลากหลายที่ไม่สิ้นสุด ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าจะไปหยุด ณ จุดไหนจริงๆ
สรุป
Business Ecosystem ที่ดีไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่แต่แรกเสมอไป แต่ผู้ที่จะสร้างธุรกิจหรือนำธุรกิจเข้าสู่ระบบนิเวศได้นั้น จำเป็นต้องมีการเข้าใจ วางแผน และต่อยอดอย่างเป็นระบบและขั้นตอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคสมัยปัจจุบัน ที่การพูดคุย ติดต่อสื่อสาร และเจรจาธุรกิจสามารถทำได้ง่ายกว่าเดิมมาก หากมีการวางแผนที่ดีก็สามารถทำระบบนิเวศให้เอื้อต่อธุรกิจของเราก็ไม่ใช่แค่ความฝันอย่างแน่นอน
