Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

Wind Farm พลังงานสะอาดเพื่อพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

SHARE

หากพูดถึงพลังงานสะอาดที่ได้รับความนิยมสูงในหลายๆ ประเทศแล้วล่ะก็ การใช้พลังงานลมย่อมติดอยู่ในอันดับต้นๆ อย่างไม่ต้องสงสัย แต่ทำไมพลังงานชนิดนี้จึงแทบไม่มีกระแสในประเทศไทย พลังงานลมมีข้อดี-ข้อเสีย เหมาะสมหรือไม่? อย่างไร? มาทำความรู้จักกับ Wind Farm แหล่งผลิตพลังงานจากสายลมเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนได้จากบทความนี้

รู้จัก Wind Farm แหล่งกำเนิดพลังงานสะอาดระดับโลก

Wind Farm หรือที่รู้จักกันในชื่อของทุ่งกังหันลม คือกลุ่มกังหันลมที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยกังหันเหล่านั้นอาจตั้งอยู่บนพื้นดินหรือในน้ำขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่เหมาะสม

จากรายงานของ International Renewable Energy Agency มีการระบุข้อมูลว่า ปี 2020 ประเทศต่างๆ บนโลกมีการผลิตงานลมเป็นสัดส่วน 26% จากการผลิตพลังงานทั้งหมด ซึ่งคิดเป็นอันดับสองรองจากพลังงานน้ำที่มีการผลิตอยู่ที่ 43% จากการผลิตพลังงานทั้งหมด

ตัวเลขดังกล่าวบอกอะไรได้บ้าง? มันแสดงให้เห็นชัดเจนว่าจริงๆ แล้วพลังงานลมก็มีบทบาทสำคัญไม่น้อยในระดับสากลแม้ว่าจะไม่เทียบเท่ากับพลังงานน้ำก็ตาม

บทความ wind farm

สิ่งที่น่าสนใจไม่ใช่แค่สัดส่วนการผลิต แต่เป็นการผลิตพลังงานที่เพิ่มขึ้น โดยอัตราการผลิตพลังงานลมนั้นสูงขึ้นราว 18% หากเทียบกับปีก่อน และมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แสดงให้เห็นถึงความนิยมจากหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะในประเทศจีนที่ปี 2020 มีการขยายอัตราการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมถึง 72.4 GW เลยทีเดียว ซึ่งการผลิตเหล่านั้นก็มาจาก Wind Farm นี่เอง

การใช้งาน Wind Farm ในระดับสากล

Wind Farm ถือเป็นตัวเลือกหลักในการผลิตพลังงานสำหรับประเทศที่ไม่สะดวกในการสร้างเขื่อนหรือมีพื้นที่ที่ลมพัดผ่านมาก เช่น ที่ราบหรือริมชายฝั่งขนาดใหญ่ ทำให้เราได้เห็น Wind Farm มากมายไม่ว่าจะอยู่ในประเทศใหญ่ๆ หรือประเทศเล็กๆ ก็ตาม

โดยอัตราส่วนการผลิตพลังงานลมในแต่ละประเทศนั้นมีดังนี้

บทความ wind farm

จะเห็นได้ชัดเลยว่าประเทศใหญ่ๆ อย่างจีน สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี นั้นเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจาก Wind Farm ลำดับต้นๆ แต่หากคิดเป็นสัดส่วนต่อประชากรแล้ว จะพบว่าประเทศอย่างเดนมาร์ก สวีเดน และไอร์แลนด์จะมีสัดส่วนการผลิตที่มากกว่า เนื่องจากมีพื้นที่ที่เหมาะสมและมีจำนวนประชากรที่ค่อนข้างน้อย

การผลิตพลังงานลมซึ่งถือเป็นพลังงานสะอาดชนิดหนึ่งได้เยอะ ย่อมหมายถึงเสถียรภาพทางพลังงานระยะยาวภายใต้กรอบจำกัดของการใช้งานพลังงานจากฟอสซิลที่ลดลงเรื่อยๆ ด้วย

แล้วประเทศไทยล่ะ อยู่จุดไหนของการผลิตพลังงาน และเรามีการพัฒนาอย่างไรบ้าง?

Wind Farm กับการผลิตพลังงานในไทย

ไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมทั้งหมดราว 1,507 MW ในปี 2020 โดยมี Wind Farm อยู่มากมาย โดยจะถูกเรียกว่า “ทุ่งกังหันลม” ตรงๆ เช่น ทุ่งกังหันลมเขาค้อ ทุ่งกังหันลมห้วยบง และทุ่งกังหันลมแหลมฉบัง เป็นต้น

การปรับให้พลังงานในประเทศถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานสะอาดเป็นหนึ่งในนโยบายที่ภาครัฐให้ความสำคัญไม่น้อย และถูกบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกปี พ.ศ. 2561-2580 ซึ่งมีหัวข้อพิจารณา เช่น การพัฒนาการพยากรณ์อากาศที่ส่งผลต่อการผลิตไฟฟ้าจาก Wind Farm การเพิ่มปริมาณการผลิต และการปรับตัวบทกฎหมายให้สนับสนุนความเป็นไปได้ในการเพิ่มการผลิตพลังงานมากขึ้น

ทว่าประเด็นจริงๆ สำหรับเรื่องนี้น่าจะเป็นแผนงานระยะสั้นสำหรับการผลิตพลังงานลม ซึ่งผลไม่เป็นไปตามที่ควรเท่าใดนัก

บทความ wind farm

แผนงานพลังงานลมที่ไม่เป็นไปตามคาดหวัง

แผนงานระยะสั้นของพลังงานลมในปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่าผู้ผลิตพลังงานไม่ได้รับการสนับสนุนเพียงพอ โดยเฉพาะการที่รัฐหยุดรับซื้อพลังงานลมไปชั่วคราว และมีการวางแผนซื้อพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจาก Wind Farm ขึ้นใหม่ในปี 2565 ทำให้เกิดความไม่มั่นใจต่อผู้ผลิตพลังงานจำนวนไม่น้อย ว่าจะเกิดการหยุดซื้อเช่นนี้ในอนาคตหรือไม่ รวมถึงการจัดพื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้าง Wind Farm ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะต้องวางแผนไม่ให้กระทบต่อชุมชนโดยรอบ เนื่องจากกังหันลมจริงๆ มีเสียงค่อนข้างดัง และต้องการพื้นที่ติดตั้งมากเพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าที่เหมาะสม

หลังจากนี้คงต้องมีการจับตามองว่าการสนับสนุนพลังงานลมไทยนั้นจะเป็นอย่างไร เพราะปัจจุบันยังมีปัจจัยต่างๆ มากมายที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่นของนักลงทุน โรคระบาด และการผลิตพลังงานชนิดอื่นๆ เข้ามาในระบบ ซึ่งการที่ไทยจะหันมาผลิตพลังงานจาก Wind Farm เพิ่มเติม ยังเป็นอนาคตที่ห่างไกลพอสมควรทีเดียว

สรุป

พลังงานลมไทยถือเป็นพลังงานที่มีการนำมาใช้ค่อนข้างน้อยหากเทียบกับพลังงานประเภทอื่นๆ แม้ว่าภาคเอกชนบางส่วนจะมีการยืนยันว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชนิดนี้ไม่น้อย และ Wind Farm ในประเทศไทยก็มีการพัฒนาอยู่เรื่อยๆ ด้วย

ประเด็นสำคัญคือในปี 2565 หลังจากที่มีแนวทางการรับซื้อไฟฟ้าจาก Wind Farm แล้วนั้น ทางภาครัฐจะมีการสนับสนุนพลังงานชนิดนี้อย่างไร เพราะแผนงานระยะยาวอาจไม่เพียงพอสำหรับการสนับสนุนผู้ประกอบการ ท่ามกลางสภาวะวิกฤตเฉกเช่นทุกวันนี้

PTT_ebook-EV

พลังงานสะอาด เครื่องพิสูจน์การกอบกู้สิ่งแวดล้อมของมนุษยชาติ

SHARE

ประเด็นเรื่องวิกฤตสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันนั้นไม่ใช่ภัยเงียบอีกต่อไป มนุษย์ได้พบเจอกับภัยธรรมชาติมากมายที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้น หรือแม้แต่การละลายของธารน้ำแข็ง เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าส่วนหนึ่งมันเกิดจากการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างไม่ยั้งคิดตั้งแต่ช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา และตอนนี้นานาประเทศก็มีความคิดที่จะช่วยโลกอีกครั้ง ด้วยการใช้ “พลังงานสะอาด”

พลังงานสะอาดคืออะไร

พลังงานสะอาด คือพลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอนของการใช้ ตั้งแต่การผลิตแปรรูป และการนำไปใช้งาน ซึ่งพลังงานสะอาดที่พบได้ในปัจจุบันคือ 

  • พลังงานแสงอาทิตย์
  • พลังงานน้ำ
  • พลังงานลม
  • พลังงานความร้อนใต้พิภพ
  • พลังงานไฟฟ้า

clean energy

สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือปัจจุบันพลังงานสะอาดยังคงมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เช่น การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ก็ยังคงต้องพึ่งพาเซลล์พลังงานแสงที่รีไซเคิลได้ยาก การใช้พลังงานน้ำก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศรอบๆ เขื่อน แม้แต่เว็บไซต์ด้านสถิติหลายเว็บไซต์ยังเลือกใช้คำว่า “พลังงานหมุนเวียน” เพราะไม่มีพลังงานชนิดใด “สะอาดแบบ 100%”

ดังนั้นเราอาจจะต้องเลือกและปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทการดำรงชีวิตของคนในประเทศนั้นๆ เพื่อทำให้พลังงานสะอาดถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

คุณสามารถอ่านเรื่องที่เกี่ยวกับพลังงานสะอาดเพื่มเติมได้ ที่นี่

การใช้พลังงานสะอาดกับโลกที่รอไม่ได้อีกต่อไป

เกรต้า ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม วัย 16 ปี ชาวสวีเดน ได้กล่าวไว้หลายครั้งถึงเรื่องการขยับของเหล่าผู้นำโลกนั้นช้าเกินไป และแม้ว่าจะประชุมกี่ครั้งก็ยังไร้ซึ่งการกระทำที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

คำพูดของเธอสอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง โดยผลกระทบของการใช้พลังงานฟอสซิล ณ ปัจจุบันเริ่มทวีความรุนแรงอย่างเด่นชัดมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาด้านฝุ่น PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ การก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกซึ่งส่งผลกระทบระยะยาวต่อภาวะโลกร้อน ประเด็นดังกล่าวจะมีผลต่ออุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น พร้อมกับภัยธรรมชาติ เช่น พายุ น้ำท่วม และไฟป่าที่มากขึ้นด้วย

clean energy

นั่นทำให้เกิดคำถามขึ้นทันทีว่า แล้วการปรับใช้พลังงานสะอาดของโลกไปถึงไหนแล้ว ?

ดังที่กล่าวข้างต้นว่าเว็บไซต์ด้านสถิติมักไม่ใช้คำว่า Clean แต่เลือกใช้ Renewable Energy หรือ พลังงานหมุนเวียน โดยเลี่ยงคำว่าพลังงานสะอาด ดังนั้นสถิติต่างๆ จึงจะอยู่ในส่วนของพลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก

สำหรับปี 2021 ทางองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) คาดการณ์ว่าผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียนจะเป็นประเทศโซนยุโรปและอินเดีย โดยเฉพาะด้านพลังงานแสงอาทิตย์ ที่มีการสนับสนุนและเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2015 ตามมาติดๆ กับทางสหรัฐอเมริกาที่หลังจากการเปลี่ยนประธานาธิบดีเป็น โจ ไบเดน (Joe Biden) ส่งผลให้นโยบายด้านภาวะโลกร้อนเป็นไปได้ด้วยดียิ่งขึ้น

นอกเหนือจากนั้นยังคงเป็นประเทศจีน ที่มีการเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่างจนก้าวเป็นหนึ่งในมหาอำนาจด้านพลังงานหมุนเวียน ทั้งการออกกฎหมายควบคุมการใช้พลังงานฟอสซิล และการลดภาษีให้กับประชาชนที่ใช้พลังงานหมุนเวียน

แล้วประเทศไทย เราอยู่จุดไหนกันแน่?

clean energy

พลังงานสะอาดกับประเทศไทย

ไทยเป็นอีกประเทศที่มีนโยบายการปรับใช้พลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบัน ประเทศไทยเริ่มการปรับเปลี่ยนรถเมล์ให้กลายเป็นรถเมล์ไฟฟ้า เร่งสร้างจุดเติมไฟฟ้าเพื่อรถยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง รวมถึงโซลาร์ รูฟท็อป หรือโซลาร์เซลล์ลอยน้ำที่รองรับการผลิตไฟฟ้าจำนวนมาก ซึ่งต้องจับตาดูกันต่อไปว่านโยบายต่างๆ จะสามารถทำออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพให้ประชาชนพอใจขึ้นได้หรือไม่

นอกเหนือจากภาครัฐแล้ว ภาคเอกชนเองก็ยังเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญในเรื่องนี้ เช่น สวอพ แอนด์ โก Swap and Go เทคโนโลยีการสลับแบตเตอรี่รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ลดเวลาการชาร์จแบต อีกทั้งเริ่มมีผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรมในไทยก็เริ่มมีการให้ความสนใจกับการประกอบและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับยานพาหนะไฟฟ้าอีกด้วย

สรุป

การให้ความสำคัญและการใช้พลังงานสะอาดทวีความจำเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ในสภาวะแวดล้อมปัจจุบัน โดยในระดับสากลเริ่มมีการให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างจริงจังแล้ว แม้ว่าในหลายๆ เรื่องอาจจะช้าไปบ้างก็ตาม โดยในประเทศไทยก็มีการเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นหลักมากขึ้น และคาดว่าพลังงานดังกล่าวจะมีบทบาทอย่างจริงจังจากการสนับสนุนของทั้งภาครัฐและเอกชน

New call-to-action
  • SUBSCRIBE TO BE
    THE FIRST INNOVATOR.

logo