Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

เข้าใจวงจร E-Waste: สร้างความยั่งยืนจากการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์

SHARE

การเพิ่มขึ้นของ E-Waste หรือขยะอิเล็กทรอนิกส์กำลังก่อปัญหาทั่วโลก โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เป็นแรงผลักดันให้ความต้องการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เติบโตขึ้นถึงระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน เนื่องจากธุรกิจและผู้คนจำเป็นต้องพึ่งพาอุปกรณ์เพื่อเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งในชีวิตส่วนตัวและการทำงาน ทำให้เกิดปริมาณ E-Waste จำนวนมากซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพและความปลอดภัยในระยะยาวหากไม่มีการกำจัดอย่างถูกวิธี

อยากรู้ว่า E-Waste คืออะไร? มีผลกระทบและแนวทางจัดการอย่างยั่งยืนได้อย่างไร? บทความนี้มีคำตอบ

บทความ การจัดการ ขยะ electronic

E-Waste คืออะไร?

E-Waste คือ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ คอมพิวเตอร์ จอภาพ แท็บเล็ต เครื่องพิมพ์ และโทรศัพท์มือถือ รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ อีกมากมายที่ใช้ภายในบ้านและการดำเนินธุรกิจ เมื่อผลิตภัณฑ์เหล่านี้พังเสียหาย หมดอายุการใช้งาน ตกรุ่น หรือไม่มีคุณค่าสำหรับผู้ใช้งานอีกต่อไปแล้ว ก็จะถูกทิ้งให้กลายเป็น E-Waste บนโลกใบนี้

การจำแนกประเภท E-Waste ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางที่สุด คือ คำสั่งของสหภาพยุโรปที่แบ่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ออกเป็น 10 หมวดหมู่ ดังนี้

1. เครื่องใช้ในครัวเรือนขนาดใหญ่ เช่น ตู้เย็น, ตู้แช่แข็ง, เครื่องซักผ้า, เครื่องอบผ้า, เครื่องล้างจาน, เตาไฟฟ้า, ไมโครเวฟ, พัดลม และเครื่องปรับอากาศ

2. เครื่องใช้ในครัวเรือนขนาดเล็ก เช่น เครื่องดูดฝุ่น, เครื่องปิ้งขนมปัง, เครื่องชงกาแฟ,ไดร์เป่าผม, แปรงสีฟันไฟฟ้า และที่โกนหนวดไฟฟ้า

3. เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และอุปกรณ์โทรคมนาคม เช่น เมนเฟรม มินิคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล แล็ปท็อป โน้ตบุ๊ก เครื่องพิมพ์ โทรศัพท์ และโทรศัพท์มือถือ

4. Consumer Equipment เช่น วิทยุ โทรทัศน์ กล้องวิดีโอ เครื่องบันทึกวิดีโอ เครื่องเล่นสเตอริโอ เครื่องขยายเสียง และเครื่องดนตรี

5. อุปกรณ์ให้แสงสว่าง เช่น หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ หลอดไฟดิสชาร์จแบบความเข้มสูง

6. เครื่องมือไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เช่น สว่าน เลื่อย จักรเย็บผ้า อุปกรณ์สำหรับการกลึง กัด เจียร เจาะ ทำรู พับ ดัด แปรรูปไม้และโลหะต่างๆ

7. ของเล่น อุปกรณ์สันทนาการ และกีฬา เช่น รถไฟฟ้าของเล่น ชุดรถแข่ง วิดีโอเกม และอุปกรณ์กีฬาที่มีส่วนประกอบไฟฟ้า

8. อุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เครื่องรังสีบำบัด เครื่องช่วยหายใจ และเครื่อง X-ray

9. เครื่องมือตรวจสอบและควบคุม เช่น เครื่องตรวจจับควัน เครื่องควบคุมความร้อน และ Thermostats

10. เครื่องจ่ายอัตโนมัติ เช่น ตู้กดน้ำ ตู้ ATM และเครื่องหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยอัตโนมัติ

ผลกระทบของ E-Waste ที่น่าจับตามอง

รายงานของ UN Global E-waste Monitor ปี 2020 ระบุว่า E-Waste เป็นหนึ่งในประเภทขยะที่เติบโตเร็วที่สุดของโลก สาเหตุหลักประการหนึ่งมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รุ่นใหม่ๆ เข้ามาแทนที่รุ่นเก่าในเวลาที่รวดเร็วขึ้น อีกทั้ง E-Waste ยังเป็นขยะมีพิษต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมแต่กลับมีอัตราการนำกลับมารีไซเคิลน้อยมาก ทั้งที่มีวัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น โคบอลต์ ลิเธียม ทองแดง ทองคำ หากนำมาผ่านกระบวนการคัดแยกขยะและรีไซเคิลอย่างถูกวิธี 

ยกตัวอย่างสถิติในปี 2019 คนทั่วโลกสร้าง E-Waste มากถึง 53.6 ล้านเมตริกตัน แต่มีเพียง 17.4% เท่านั้นที่ถูกรีไซเคิล โดยสัดส่วนของ E-Waste ที่ไม่ถูกรีไซเคิลอยู่ที่ 82.6% คิดเป็นมูลค่าที่สูญเสียจากวัสดุและแร่ธาตุที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ราว 47 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ E-Waste ยังมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งด้านสุขภาพและความปลอดภัย ดังนี้

ด้านสิ่งแวดล้อม

E-Waste ประกอบด้วยสารพิษมากมาย เช่น ตะกั่ว ปรอท เพอร์ฟลูออโรอัลคิล โพลีฟลูออโรอัลคิล (PFAS) โบรมีน (BFR) คลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFC) ไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (HCFC) และสารมลพิษอินทรีย์ที่ตกค้างยาวนาน เมื่อ E-Waste เหล่านี้ไม่ถูกคัดแยกไปรีไซเคิล สารเคมีต่างๆ ก็จะปนเปื้อนอยู่ในหลุมฝังกลบ มีโอกาสแพร่กระจายลงสู่แหล่งน้ำและผืนดินจนกลายเป็นมลพิษทางสิ่งแวดล้อมไปยังพื้นที่อื่นๆ ส่วนชุมชนที่อยู่ใกล้หลุมฝังกลบก็มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสสารเคมีอันเป็นผลมาจากการกำจัด E-Waste ที่ไม่เหมาะสม

ด้านสุขภาพและความปลอดภัย

เนื่องจากกระบวนการรีไซเคิล E-Waste จำเป็นต้องถอดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากด้วยแรงงานคน ส่งผลให้ผู้ปฏิบัติงานอาจได้รับสารปนเปื้อนในอากาศ เช่น ตะกั่ว ปรอท ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพในระยะยาวรวมทั้งการบาดเจ็บทางร่างกายในขั้นตอนของการถอดประกอบชิ้นส่วน

นอกจากนี้ การรีไซเคิล E-Waste เพื่อกู้คืนโลหะมีค่ากลับมาใช้ใหม่เป็นกระบวนการที่ต้องเกี่ยวข้องกับสารเคมีอันตรายและมีความเสี่ยงสูง เช่น ขั้นตอนการแปรรูปกรดและการถลุง ประกอบกับ E-Waste ส่วนใหญ่มักถูกส่งมากำจัดและรีไซเคิลในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งยังขาดการควบคุมด้านกฎระเบียบ โครงสร้างพื้นฐาน และมาตรการรักษาความปลอดภัยให้กับแรงงานจึงถือเป็นผลกระทบอีกด้านหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม

บทความ การจัดการ ขยะ electronic

แนวทางสร้างวงจรการจัดการ E-Waste อย่างยั่งยืน

จากผลกระทบทั้งหมดข้างต้น แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนานโยบายตลอดจนแนวทางการกำจัดและรีไซเคิล E-Waste อย่างปลอดภัย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต

ต่อไปนี้ คือแนวทางการจัดการ E-Waste อย่างยั่งยืน ซึ่งทุกธุรกิจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหานี้ทั่วโลกควรนำไปปรับใช้

1. ระบุปริมาณ E-Waste และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง

คาดการณ์และระบุปริมาณ E-Waste ที่ธุรกิจของคุณมีส่วนก่อให้เกิดขึ้นในแต่ละปี รวมทั้งลองประเมินค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในการจัดการขยะเหล่านี้ เพื่อให้มองเห็นภาพรวมและเข้าใจถึงผลกระทบของ E-Waste ที่มีต่อบริษัทของคุณและสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง

2. ทำความเข้าใจวิธีจัดการ E-Waste

กุญแจสำคัญในการลดปริมาณ E-Waste คือ การใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้เต็มประสิทธิภาพมากที่สุดจนหมดอายุการใช้งาน จากนั้นทำความเข้าใจวิธีจัดการ E-Waste เช่น การแยกส่วนประกอบเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่และรีไซเคิล โดยแสวงหาบริษัทที่มีความโปร่งใสในการจัดการที่เหมาะสมอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวงจรที่ทำลายสุขภาพแรงงานและสิ่งแวดล้อม

3. สร้างทางเลือกเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน

ในขณะที่โลกเปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรงมาเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน บริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ก็กำลังเริ่มต้นออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ง่ายต่อการกู้คืนส่วนประกอบอันมีค่าที่สามารถนำมาใช้ซ้ำได้ในอนาคต ตั้งแต่การประเมินวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ คำนวณหาปริมาณการปล่อยคาร์บอนและมลพิษที่เกี่ยวข้องกับแนวทางปฏิบัติในการรีไซเคิล E-Waste ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงแนวทางการดำเนินธุรกิจเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม

4. สำรวจผลการเปลี่ยนแปลงของการจัดการ E-Waste

สำรวจว่าการเปลี่ยนแปลงแนวทางจัดการ E-Waste ส่งผลต่อเป้าหมายความยั่งยืนของบริษัทคุณอย่างไรบ้าง เพื่อให้เข้าใจถึงความท้าทายและโอกาสที่อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายในการช่วยแก้ปัญหา E-Waste มลพิษทางสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก

สรุป

E-Waste เป็นปัญหาสำคัญที่ทั่วโลกเริ่มให้ความสนใจ ปัจจุบัน มีบริษัทจำนวนมากที่กำลังลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการกู้คืนและรีไซเคิลส่วนประกอบของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีนี้จะมีส่วนสำคัญต่อผลกำไรในอนาคต โดยการควบคุมและสร้างมูลค่าให้กับ E-Waste ที่มีอยู่จะช่วยประหยัดต้นทุนวัสดุได้หลายพันล้าน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการผลิตสินค้าได้มากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ วงจรการจัดการ E-Waste อย่างยั่งยืนจึงเป็นแนวทางสำคัญที่บริษัทต่างๆ ควรนำไปปรับใช้ เพื่อสร้างข้อได้เปรียบทางธุรกิจในเชิงกลยุทธ์ของการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน นอกจากนี้ ยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ในระยะยาวอีกด้วย

 

ติดตามข่าวสารและคอนเทนต์ดีๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อมที่คุณไม่ควรพลาด

ได้ที่ Facebook PTT Expresso

 

New call-to-action
  • SUBSCRIBE TO BE
    THE FIRST INNOVATOR.

logo