ทุกศาสตร์บนโลกของเรามีพื้นฐานคือ ‘การศึกษา’ ไม่ว่าจะเป็น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือแม้แต่ศาสนา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในปัจจุบันก็ได้ทำให้แนวคิดด้านการศึกษานั้นกว้างขึ้น ลึกขึ้น และเข้าถึงคนทุกกลุ่มมากขึ้น ด้วยแนวคิด Education (การศึกษา) + Technology (เทคโนโลยี) หรือเรียกสั้นๆ คือ EdTech เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเพื่ออนาคตที่ดียิ่งกว่า
EdTech คืออะไร
EdTech (Education Technology) หรือในชื่อไทยคือเทคโนโลยีการศึกษา คือการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อผลักดันคุณภาพการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น
การใช้งาน EdTech เกิดขึ้นมาหลายยุคสมัย แต่จุดเปลี่ยนที่เห็นได้ชัดจริงๆ คือช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น ทำให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับการเรียนการสอนทั้งในและนอกห้องเรียน นอกเหนือจากนั้นยังมีการใช้งานเทคโนโลยีประเภทอื่นๆ ให้นักเรียนสามารถเข้าใจเนื้อหาการสอนได้ง่ายขึ้นไปอีก
ยกตัวอย่างการใช้ EdTech ในปัจจุบัน เช่น การใช้ Mobile Application เพื่อเป็นตัวช่วยในการจัดการการเรียนการสอน การประยุกต์เทคโนโลยี AR และ VR เข้ามาเป็นสื่อการสอนให้เด็กเห็นภาพสิ่งที่อยู่ในบทเรียน ไปจนถึงการวิเคราะห์ Data เพื่อใช้ข้อมูลมาสนับสนุนรูปแบบการเรียนการสอนให้ดียิ่งขึ้น
แนวโน้มการลงทุนใน Edtech Startup
‘การศึกษา’ เป็นหัวข้อที่ประชาชนทั้งไทยและต่างประเทศให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆ ในการพัฒนาประเทศ แน่นอนว่านักลงทุนเองก็เช่นกัน โดยเฉพาะช่วงเวลาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ทำให้มีความเป็นไปได้ทางการศึกษาที่หลากหลาย ทั้งจากการทำ Startup และการลงทุน
โดยตัวเลขการลงทุนทั่วโลกในด้าน EdTech นั้นยังเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปี 2019 มีการลงทุนกว่า 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดว่าเม็ดเงินที่สะพัดอยู่ในวงการการศึกษาปัจจุบันอยู่ที่ 6.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เลยทีเดียว ซึ่งทาง Holoniq แพลตฟอร์มข้อมูลและงานวิจัยระบุว่ามีโอกาสที่การลงทุนจะเติบโตถึง 3 เท่าตัว
สาเหตุที่เป็นแบบนี้มีหลายปัจจัย โดยหนึ่งในนั้นคือการ Disrupt ครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้ตลาดแรงงานส่วนใหญ่เกิดการเปลี่ยนแปลง อุตสาหกรรมยุคใหม่ต้องการผู้มีองค์ความรู้ที่แตกต่างจากเก่า และการพัฒนาของเทคโนโลยีที่ทำให้การศึกษาก้าวไกลและเข้าถึงผู้คนมากขึ้น จึงไม่แปลกที่นักลงทุนจะเห็นเรื่องนี้เป็นสำคัญ
แม้ว่าตัวเลขการลงทุนในปี 2020 จะน้อยลง แต่ก็เฉพาะในประเทศจีนเท่านั้น ซึ่งคาดว่าทางจีนต้องการนำเงินส่วนนี้ไปพัฒนาส่วนอื่นเนื่องจากการศึกษาของจีนคงที่ระดับหนึ่งแล้ว
การศึกษาและสิ่งที่อาจเปลี่ยนไปในอนาคต
ภาพของครูคนหนึ่งสอนด้วยการเขียนกระดานในห้องเรียนโดยมีเด็กล้อมราวห้าสิบหกสิบคนอาจกลายเป็นสิ่งที่หลงเหลือในอดีต เมื่อเทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากขึ้น
มีการให้ความสำคัญกับ Data โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้ข้อมูลเพื่อตรวจสอบความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การใช้ข้อมูลเพื่อสร้างเกณฑ์ประเมินทางการศึกษาใหม่ๆ ให้เหมาะกับเด็กนักเรียนมากขึ้น วิเคราะห์ความต้องการของแรงงานในประเทศเพื่อสนับสนุนการศึกษาให้ตรงกับความต้องการของตลาด ลดตัวเลขการว่างงานในอนาคต
รูปแบบการศึกษาที่หลากหลาย ในอนาคตแรงงานหุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่มนุษย์ จนทำให้งานบางส่วนนั้นหายไปจากระบบ การศึกษาในอนาคตจึงไม่ใช่แค่การเรียนรู้กว้างๆ แต่เน้นไปในด้านการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหา ทำให้เด็กๆ แสดงความสามารถเฉพาะด้านออกมามากขึ้นได้
นอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียนแล้ว การศึกษานอกระบบและการศึกษาทางไกล รวมถึงการเรียนรู้โดยใช้ประสบการณ์ก็จะเข้ามีความสำคัญมากขึ้น
การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อสร้างความรู้ ยกตัวอย่างเช่นการใช้เทคโนโลยี Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา ทำให้เราเห็นภาพของสิ่งต่างๆ ได้ง่ายและชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น การท่องอวกาศ ลงไปใต้ทะเลลึก สวมบทบาทเป็นอาชีพนั้นๆ เพื่อทดลองทำงานจริง เป็นต้น
ตัวอย่าง Startup ด้าน EdTech
OpenDurian แพลตฟอร์มด้านการศึกษาจากไทยที่มีแนวคิดต้องการพัฒนาการเรียนของเด็กไทยให้ดียิ่งขึ้น โดยใช้เทคโนโลยี AI และ การใช้ Data เพื่อคิดคำนวณดูความเหมาะสมในการเรียนของแต่ละคน พร้อมนำเสนอคอร์สที่เหมาะสมซึ่งมีทั้งการสอนด้วยวิดีโอ บทความและแบบฝึกหัด ให้น้องๆ เข้ามาเรียนรู้และทดลองสอบจริงได้ ซึ่งทางทีมงานยังต่อยอดไปในด้านการสนับสนุนการทำงาน เช่น คอร์ส TOEIC สำหรับวัยทำงาน และวางแผนจะพัฒนาคอร์สอื่นๆ เพื่อสนับสนุนความรู้ให้หลากหลายและทั่วถึงทุกคน
Skillane Startup คอร์สเรียนออนไลน์จากไทยอีกเจ้าที่มีแนวคิดที่แตกต่าง โดยการเน้นสอนในกลุ่มเป้าหมายที่มีอายุ 25-30 ปี โดยมีหัวข้อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน อย่างการใช้โปรแกรม Microsoft Office ภาษาต่างประเทศ การตลาด รวมถึงความรู้เกี่ยวกับการใช้ชีวิตอย่างการเลี้ยงลูกอีกด้วย
Skooldio สตูดิโอสำหรับคนอยากอัพสกิล แพลตฟอร์มการเรียนที่รองรับทั้งการเรียนแบบเดี่ยวและการเรียนแบบองค์กร รวมถึงมีระบบ Workshop รองรับคนอยากสร้างประสบการณ์ด้วยตนเอง ทาง Skooldio นั้นให้ความสำคัญไปในด้านการพัฒนาสกิลเพื่อธุรกิจที่เกี่ยวกับดิจิทัล เช่น Design การใช้ Data การเขียนโปรแกรมและเทคโนโลยีอื่นๆ
Content Shifu แพลตฟอร์มด้าน Digital Marketing ที่รองรับตั้งแต่การปูพื้นฐานความรู้ของการทำการตลาด ไปจนถึงการทำการตลาดออนไลน์ขั้นสูง ที่คุณสามารถเลือกรูปแบบการเรียนได้ด้วยตัวเอง ทั้งแบบ Inclass, Virtual Classroom และ Online Course รวมถึงองรับการ Training ภายในองค์กรแบบกลุ่ม เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการตลาดถึงที่ด้วยเช่นกัน
Coursera แพลตฟอร์มการเรียนขนาดยักษ์ที่ปัจจุบันมีนักเรียนมากกว่า 48 ล้านคน ในปัจจุบัน Coursera มีคอร์สที่หลากหลายทั้งแบบฟรีและแบบเสียเงิน และมีการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์มากมาย อาทิ IBM Google และ Stanford เพื่อพัฒนาระบบการศึกษารวมถึงใบ Certification ที่รองรับในกรณีต้องใช้ยื่นเพื่อทำงาน
Duolingo คือแพลตฟอร์มสอนภาษาต่างประเทศผ่านเกม ที่ผู้ใช้งานต้องการใส่ความสนุกสนานเข้าไปในการเรียน ด้วยภาพลักษณ์สดใสและมาสคอตนกฮูกสีเขียว พร้อมกับการเตือนให้เรากลับไปเรียนในทุกๆ วันเพื่อให้การเรียนไม่ขาดตอน
หาก EdTech ได้พัฒนาไประดับหนึ่งจนสามารถทำให้การศึกษาของเด็กทุกคนเท่าเทียมกันแล้วล่ะก็ สิ่งที่ทำให้เด็กๆ สามารถก้าวไปทำงานได้อย่างเต็มภาคภูมิก็ไม่จำเป็นต้องเป็นใบปริญญา แต่เป็นความรู้และประสบการณ์ที่เขาเหล่านั้นได้พิสูจน์จากการร่ำเรียนของตนเอง
การศึกษาไทยกับ Edtech
การสร้างโอกาสให้ทุกคนได้รับศึกษาอย่างเท่าเทียม คือปัจจัยสำคัญที่จะสร้างรากฐานการศึกษาไทยให้ก้าวหน้าไปได้อย่างยั่งยืน ทว่าในปัจจุบัน ช่องว่างของคุณภาพการศึกษาระหว่างเด็กแต่ละกลุ่มยังคงมีมาก โดยเฉพาะเด็กในกลุ่มยากจน ซึ่งล่าสุดด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจตกต่ำและโรคระบาด ทำให้มีเด็กนักเรียนกว่า 2 ล้านคนในไทยอาจไม่ได้เรียนต่อ และ เด็กกว่า 5 แสนคนหลุดออกจากระบบการศึกษาไปแล้ว
บริบทสังคมไทยในปัจจุบันจึงอาจเป็น “โจทย์ที่แตกต่าง” ซึ่งไม่ได้ต้องการความตื่นตาตื่นใจจากเทคโนโลยี แต่เป็นการพัฒนาเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กๆ ที่ขาดโอกาสได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียม รวมถึงมีช่องทางในการศึกษามากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
เรื่องราวการลงทุนใน EdTech นั้น นอกเหนือจากจะเป็นโจทย์ให้ Startup ยุคใหม่แล้ว ยังเป็นเรื่องที่ทางฝ่ายรัฐต้องขบคิดว่าจะมีการสนับสนุนอย่างไร เพื่อให้ Education Technology เป็นเรื่องที่กระจายไปสู่เด็กๆ ได้อย่างทั่วถึง เพราะการกระจายเทคโนโลยีการศึกษาจากฝ่ายเอกชนไม่สามารถทำได้เท่ากับการทำงานโดยฝ่ายรัฐอยู่ดี หากในส่วนนี้ไม่สามารถทำได้ เทคโนโลยีที่สร้างมาก็จะหยุดอยู่แค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น
