ถ้าพูดถึงยานพาหนะที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจกันล่ะก็ รถยนต์ไฟฟ้าย่อมเป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ อย่างไม่ต้องสงสัย นอกจากจะตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในยุคนี้แล้ว รถยนต์ไฟฟ้ายังขับเคลื่อนได้เร็วขึ้น เงียบ และประสิทธิภาพเริ่มดีกว่ารถยนต์ที่ใช้พลังงานฟอสซิลพอสมควร
แต่ทำไมเรายังไม่มีการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าแบบ 100% กัน? ประเทศไทยตอนนี้มีรถยนต์ไฟฟ้ามากแค่ไหน? และเยอะหรือไม่ถ้าเทียบกับระดับสากล? ทุกคำตอบถูกรวบไว้แล้ว ที่นี่
รถยนต์ไฟฟ้า ยานพาหนะแห่งอนาคต
รถยนต์ไฟฟ้า (Electric car) เป็นยานพาหนะที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน มีทั้งใช้ไฟฟ้า 100% และใช้พลังงานอื่นๆ ร่วมด้วย โดยรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% นั้นจะไม่มีการปล่อยไอเสียออกมาจากรถเลยแม้แต่น้อย
แม้รถยนต์ไฟฟ้าจะไร้มลพิษบนท้องถนน แต่ใช่ว่ากระบวนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าจะสะอาด 100% เสียทีเดียว องค์ประกอบต่อมาที่เราต้องหันกลับไปมองคือกระบวนการผลิตไฟฟ้า ในประเทศนั้นๆ ว่าเป็นอย่างไร เพราะรถยนต์ไฟฟ้าเองก็ถือเป็นการใช้พลังงานปลายทาง
สิ่งต่อมาที่ต้องให้ความสำคัญคือกระบวนการผลิตไฟฟ้า ที่อาจต้องหันไปพึ่งพาพลังงานสะอาดมากขึ้น เพื่อลดอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซพิษอื่นๆ จากการผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหิน เพื่อให้วงจรพลังงานสะอาดนั้นสะอาดจริงๆ ดังที่หลายฝ่ายคาดหวังไว้ และสามารถใช้งานได้ระยะยาวโดยไม่กระทบหรือสร้างวิกฤตพลังงานจากการขาดแคลนไฟฟ้าเพิ่มเติม
คุณสามารถอ่านเพิ่มเติมในด้านการเปรียบเทียบได้ที่ [เปรียบเทียบ] รถยนต์พลังงานไฟฟ้า VS พลังงานฟอสซิล
ความนิยมของรถยนต์ไฟฟ้ามีมากขนาดไหน
รถยนต์ไฟฟ้าไม่ใช่ของใหม่ แต่สาเหตุที่ยานพาหนะชนิดนี้โด่งดังได้ในช่วงหลังต้องยกเครดิตส่วนหนึ่งให้ทางบริษัท Tesla ที่เป็นต้นทางเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ๆ ที่แม้แต่บริษัทรถยนต์อื่นๆ ยังต้องนำไปศึกษา และ Tesla นี่เองที่เป็นผู้พิสูจน์ว่ารถยนต์ไฟฟ้าก็แรงไม่แพ้รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเช่นกัน
กราฟด้านล่างแสดงให้เห็นถึงการผลิตและสต็อกของรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก จะสังเกตได้ว่าช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อจัดจำหน่ายสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์กว่า 10 ล้านคัน และทางองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) คาดการณ์ต่อว่าปริมาณการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าทั่วทั้งโลกจะสูงถึง 230 ล้านคันช่วงปี 2030
เทคโนโลยีมากมายที่มากับรถยนต์ไฟฟ้า
ไม่เพียงแค่พลังขับเคลื่อนที่เป็นสาเหตุให้รถยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยม แต่เทคโนโลยีมากมายที่มากับรถยนต์ไฟฟ้านั้นทำให้ยานพาหนะชนิดนี้มีความพิเศษมากกว่ายานพาหนะแบบอื่น แน่นอนว่ารถยนต์พลังงานไฮโดรเจนและรถยนต์ที่ใช้น้ำมันในปัจจุบันก็มีเทคโนโลยีล้ำสมัย แต่ก็ยังไม่โดดเด่นเท่า
เทคโนโลยีที่อยู่ภายในรถยนต์ไฟฟ้าและหลายคนจับตามองคือการเร่งที่สมูทกว่ารถยนต์ใช้น้ำมัน ความเงียบ นิ่ง ในการขับขี่ และผู้ผลิตยังชอบใส่ฟีเจอร์ใหม่ๆ เข้าไปเพื่อจูงใจคนซื้ออย่างระบบขับขี่อัตโนมัติในรถ Tesla
ทำไมไทยยังไม่ใช้รถยนต์ไฟฟ้า 100%
ถ้ารถยนต์ไฟฟ้าดีแล้วทำไมไทยถึงยังไม่ได้มีการใช้งานอย่างเต็มที่แบบประเทศอื่นๆ สิ่งแรกที่ต้องตอบก่อนคือไทยเองก็มีแผนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเช่นกัน แต่ยังเป็นแผนการระยะยาว โดยตั้งเป้าว่าไทยจะมีรถยนต์ไฟฟ้า 1.2 ล้านคันในปี 2036
ค่าภาษีที่สูงสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า
ในการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าสิ่งที่ทุกบริษัทต้องเจอคือกำแพงภาษีของประเทศ ที่แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนระบบภาษีสรรพสามิตให้ลดลง 8% แต่รถยนต์ไฟฟ้ายังมีกำแพงภาษีมหาดไทย ภาษีอากรขาเข้า และค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่นๆ ทำให้คนที่อยากใช้จำเป็นต้องเลือกรถยนต์พลังงานน้ำมันไปก่อนเนื่องจากราคาโดยรวมต่ำกว่ามาก
เดินทางแบบไร้มลพิษ รวดเร็ว ประหยัดงบประมาณ ทำความรู้จักกับรถยนต์ไฟฟ้า อนาคตของการเดินทางที่กำลังจะมาถึง พร้อมส่องแผนรถยนต์ไฟฟ้าไทยเมื่อไหร่จะมา
โครงสร้างพื้นฐานยังไม่เอื้อต่อการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างเพียงพอ
ปัจจุบันประเทศไทยมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าไปมาก โดยเฉพาะจุดชาร์จไฟทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด แต่ก็ยังไม่สามารถเทียบเท่ากับปริมาณปั้มน้ำมันปกติได้ ทำให้ความสะดวกของประชาชนยังมีไม่มากนัก นั่นยังไม่รวมผู้เชี่ยวชาญ และทีมช่างเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งไทยขาดบุคลากรเฉพาะทางในจุดนี้มาก การมีรถยนต์ไฟฟ้าในไทยจึงเป็นเป้าหมายที่ทุกองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมกันพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดได้เร็วขึ้น
ล่าสุดปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานเองก็มีการแก้ไขแล้ว โดยทางปตท.ได้ผนึกกำลังกับทางฟ็อกซ์คอนน์ บริษัทผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ ผลักดันเทคโลยีให้ประเทศไทยกลายเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าด้วยการสร้างแพลตฟอร์มการผลิต มุ่งเน้นการสร้าง Business Ecosystem เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อทำให้ธุรกิจด้านรถยนต์และพลังงานไฟฟ้าเติบโตขึ้นได้ในระยะยาว
สรุป
เทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าเป็นอีกหนึ่งหนทางสำคัญในการลดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมให้เป็นสังคมคาร์บอนต่ำ และถือเป็นอนาคตสำคัญสำหรับการเดินทางยุคใหม่ แต่ผู้ที่ต้องการรถยนต์ไฟฟ้าให้อยู่ในราคาเอื้อมถึงและมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับอาจต้องรออีกสักหน่อย เพื่อให้มีความพร้อมในการเดินทางมากใกล้เคียงกับรถยนต์ที่ใช้พลังงานน้ำมัน ซึ่งในปัจจุบันหน่วยงานต่างๆ ก็มีการปรับตัวเพื่อสนับสนุนยานพาหนะชนิดนี้กันมากขึ้น