Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

Work From Home ทำงานที่บ้าน ไลฟ์สไตล์ธุรกิจยุคใหม่แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

SHARE

หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เกิดเทรนด์ใหม่ในภาคธุรกิจอย่าง “การทำงานที่บ้าน” หรือที่เรียกกันว่า Work From Home เทรนด์นี้มีมาเป็นเวลานานแล้วและใช้ในหลายประเทศทั่วโลกแต่ได้รับการกระตุ้นให้ใช้กันอย่างแพร่หลายในช่วงสถานการณ์ในปัจจุบันนี้ 

แน่นอนว่าการปรับพฤติกรรมของมนุษย์ทั่วโลกพร้อมๆ กันอย่างการทำงานที่บ้าน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทั้งในแง่ของ สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี และ ธุรกิจ ตามมา

สำหรับธุรกิจยุคใหม่ที่มีการใช้ระบบการทำงานที่บ้านอย่างเป็นกิจจะลักษณะ รู้ไหมว่าไม่ใช่เพียงแค่ภาคธุรกิจ เจ้าของกิจการและพนักงานที่ได้ประโยชน์จากการทำงานที่บ้าน แต่ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ได้รับผลกระทบเชิงบวกเช่นกัน ข้อนี้เองเป็นเครื่องย้ำเตือนให้เราได้รู้ว่าพฤติกรรมของเราส่งผลกับสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก และยังช่วยย้ำเตือนว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญระดับโลกอีกด้วย 

การทำงานที่บ้านดีต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร?

น่าประหลาดใจที่การทำงานที่บ้านช่วยให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นในหลายๆ ด้าน โดยข้อมูลจากกระทรวงพลังงาน สํานักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา (U.S. Environmental Protection Agency : EPA) และสำนักบริหารสารสนเทศพลังงานของสหรัฐอเมริกา (U.S. Energy Information Administration-EIA) ชี้ให้เห็นตรงกันว่าอัตราการใช้พลังงานและอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำลายชั้นบรรยากาศลดลงเป็นจำนวนมากในช่วงปี 2020-2021 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิดและผู้คนทั้งโลกต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปทำงานที่บ้าน 

ปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็คือ พฤติกรรมของมนุษย์ เพียงแค่มนุษย์ปรับพฤติกรรมก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ การเปลี่ยนไปทำงานที่บ้านก็ส่งผลให้สิ่งแวดล้อมทั่วโลกเปลี่ยนแปลงเช่นกัน

1. ลดการใช้พลังงานเกินความจำเป็น 

องค์กรที่ใช้การทำงานแบบ Remote Work จะช่วยลดการใช้พลังงานเกินความจำเป็นลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อคนส่วนมากไม่ต้องมารวมตัวกันเพื่อทำงานในองค์กรทำให้การใช้พลังงานสำหรับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมลดลงทันที

บทความ Work from home

ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า: กระทรวงพลังงานของไทยแสดงให้เห็นว่ามีการใช้พลังงานไฟฟ้าลดลง 16.06% ในปี 2020 และสถิติการใช้พลังงานเชื้อเพลิงถ่านหินสำหรับผลิตไฟฟ้าจากสำนักบริหารสารสนเทศพลังงานของสหรัฐอเมริกา (U.S. Energy Information Administration-EIA) ยังชี้ให้เห็นว่า อัตราการใช้พลังงานถ่านหินสำหรับไฟฟ้าของทั้งโลกลดลงถึง 51% อีกด้วย

เนื่องจากคนต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวทำให้มีการใช้พลังงานจากภาคธุรกิจน้อย คนต้องลดการใช้ไฟและประหยัดไฟมากขึ้นเนื่องจากต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการใช้ไฟฟ้าเอง 

ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง: การทำงานที่บ้านทำให้ไม่ต้องออกเดินทาง จึงลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงอย่างน้ำมันหรือแก๊สธรรมชาติสำหรับยานพาหนะลง รวมถึงมีการใช้พลังงานจากภาคการผลิตอุตสาหกรรมน้อยลง นอกจากนี้ ยังลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สู่บรรยากาศได้อีกด้วย  

2. ลดการใช้ทรัพยากรเกินความจำเป็น 

หลายครั้งที่การทำงานทำให้เราใช้ทรัพยากรมากเกินความจำเป็น เช่น การใช้อุปกรณ์สำนักงานจำนวนมากในบริษัท การใช้ทรัพยากรในชีวิตประจำวันที่มากเกินความจำเป็น เป็นต้นเมื่อเปลี่ยนพฤติกรรมมาทำงานที่บ้าน อัตราการใช้อุปกรณ์สำนักงานก็ลดลงตามไปด้วย โดยเฉพาะทรัพยากรกระดาษที่ผลิตจากต้นไม้ การใช้กระดาษกลายมาเป็นการใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์แทน 

นอกจากนี้ การทำงานที่บ้านยังช่วยลดการใช้ทรัพยากรที่ใช้แล้วทิ้งลง เมื่อคนส่วนมากอยู่บ้านอัตราการซื้ออาหารที่มาพร้อมกับบรรจุภัณฑ์อย่างกล่องโฟมหรือแก้วกาแฟจะลดลงเพราะหลายๆ คนหันมาทำอาหารทานเองที่บ้าน ชงกาแฟทานเองที่บ้านและใช้ภาชนะในบ้านแทน 

ถึงแม้ว่าอัตราการสั่ง Delivery ที่มาพร้อมกับ Packaging จะเพิ่มขึ้น แต่ธุรกิจหลายๆ แบรนด์ให้ความสำคัญกับเทรนด์รักษ์โลกและเลือกใช้ Packaging ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้นในระยะยาวทรัพยากรใช้แล้วทิ้งที่ก่อให้เกิดมลภาวะอย่างพลาสติกและโฟมจะค่อยๆ ลดลง

3. ทำให้มีการจัดการกับระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น  

เมื่อคนส่วนมากทำงานที่บ้านทำให้พวกเขาต้องอยู่ในพื้นที่ส่วนตัว ซึ่งโดยปกติของมนุษย์มักจะรู้จักรักษาและปกป้องพื้นที่ส่วนตัวมากกว่าพื้นที่ส่วนรวม ดังนั้น การรักษาความสะอาดและจัดการกับขยะในพื้นที่ของตัวเองจึงไม่ใช่เรื่องยาก ส่งผลให้มีการจัดเก็บขยะที่ดีขึ้นไม่ว่าจะเป็นการแยกหรือจัดเก็บขยะ นอกจากนี้ เมื่อคนไม่ออกไปข้างนอกยังทำให้ปริมาณขยะสาธารณะลดลงมากอีกด้วย

การที่คนไม่สามารถออกไปข้างนอกทำให้ระบบนิเวศน์ดีขึ้นเนื่องจากคนบุกรุกพื้นที่ธรรมชาติอย่างป่าและท้องทะเลลดลง ทำให้ไม่ไปรบกวนระบบต่างๆ ในธรรมชาติ ทั้งการเกิดขยะปนเปื้อนจากมนุษย์ การล่าสัตว์ การประมง รวมถึงการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตรลดลง ระบบนิเวศน์ของธรรมชาติจึงมีโอกาสได้ฟื้นฟูอย่างเต็มที่

4. ช่วยให้คุณภาพอากาศดีขึ้น  

คุณภาพอากาศดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อคนจำนวนมากหันมา Work From Home เนื่องจากผู้คนไม่จำเป็นต้องเดินทางไปทำงาน ทำให้อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้ของควันรถยนต์ลดลงอย่างเห็นได้ชัดซึ่งส่วนนี้เองส่งผลให้ก๊าซเรือนกระจกลดลง EIA ยังแสดงสถิติการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดลงถึง 11% ในปี 2020 อีกด้วย

โดยเฉลี่ยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึง 54 ล้านตันต่อปี เพียงแค่ทุกคน Work Frome Home 3 วันต่อสัปดาห์ตลอดทั้งปี

ในประเทศไทยเองปริมาณฝุ่น PM2.5 ที่เคยเป็นปัญหาใหญ่เมื่อปี 2020 ก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อคนส่วนใหญ่ปรับพฤติกรรมมา Work From Home

การทำงานที่บ้านส่งผลให้ปัจจัยในการก่อมลภาวะในอากาศลดลงรวมถึงก๊าซที่ก่อให้เกิดสภาวะเรือนกระจกก็ลดลงเช่นกันทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้นอย่างมาก 

5. ลดความเสียหายต่อโครงสร้างโลกและสิ่งแวดล้อม 

พฤติกรรมของมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนทั้งโลกในช่วงเวลาเดียวกันนี้ทำให้ช่วยลดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมลงได้เป็นอย่างมากตามที่กล่าวไปข้างต้น

หลังจากคนทั้งโลกเปลี่ยนพฤติกรรมโดยรวมพร้อมกันครั้งใหญ่ความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปในทางที่ดีขึ้นจากการปรับพฤติกรรมทำให้ทั่วโลกมองเห็นปัญหาร่วมกันชัดเจนยิ่งขึ้นในการประชุมของสหประชาชาติในปี 2021 ที่ผ่านมา โดยประเทศมหาอำนาจหลายประเทศทั่วโลกได้ตกลงร่วมกันว่าจะลดพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลต่อภาวะโลกร้อนและการทำลายสิ่งแวดล้อมลง

โดยในการประชุมครั้งนี้มีการตกลงให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคอุตสาหกรรมลง ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากยานพาหนะหรือภาคอุตสาหกรรม ลดการใช้พลังงานสิ้นเปลืองจากภาคธุรกิจและหันมาใช้พลังงานสะอาด เพื่อลดอัตราการเกิด Green House และควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน  2 องศาเซลเซียสในแต่ละศตวรรษ

เทรนด์การทำงานที่บ้านไม่ควรเป็นเพียงเรื่องชั่วคราว

บทเรียนสำคัญที่คนทั้งโลกได้เรียนรู้ไปพร้อมกันจากสถานการณ์โควิด-19 นอกจากจะเป็นการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ความไม่แน่นอนก็คือผลจากพฤติกรรมของตัวเราเอง เพียงแค่ช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่พฤติกรรมของมนุษย์ปรับเปลี่ยนไปในทิศทางเดียวกันเราก็เห็นได้ถึงความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นทันที แล้วทำไมเราถึงจะไม่ทำมันต่อ? 

การทำงานที่บ้านไม่ควรเป็นเพียงเรื่องชั่วคราว นอกจากการทำงานที่บ้านจะมีข้อดีหลายข้อต่อภาคธุรกิจและตัวพนักงานเองแล้ว ยังเห็นได้ชัดว่าส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม เราทุกคนรวมทั้งภาคธุรกิจจึงควรนำระบบการ Work From Home มาปรับใช้ในระยะยาว 

บทความ Work from home

ระดับบุคคล: หลายคนที่ได้ทำงานที่บ้านในช่วงที่ผ่านมาก็จะรู้แล้วว่าเราสามารถทำงานได้ดีขึ้นลดค่าใช้จ่ายส่วนต่างๆ ลง รวมถึงลดการใช้ทรัพยากรลงเราสามารถเรียนรู้ที่จะรักษ์โลกมากขึ้นและรักตัวเองมากขึ้นจากประสบการณ์ครั้งนี้แล้วนำไปใช้ในอนาคตได้

ระดับองค์กร: การใช้ระบบทำงานที่บ้านถือเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างดีเพราะใช้ทรัพยากรพลังงานและสร้างมลพิษน้อยลง นอกจากนี้ การใช้นำระบบ Remote Work ไปใช้ยังเป็นการมอบความสุขและให้อิสระกับพนักงานอีกด้วย 

บางองค์กรอาจไม่เหมาะกับการใช้ระบบการทำงานที่บ้านตลอดเวลาก็สามารถให้ปรับใช้เป็นทำงานที่บ้านเป็นบางวันในแต่ละสัปดาห์หรือในกรณีฉุกเฉินซึ่งอาจส่งผลต่อที่การเดินทางมาทำงานของพนักงาน เช่น วันที่ฝนตกการจราจรติดขัด ก็สามารถให้พนักงานทำงานที่บ้านแทนได้ 

การปรับพฤติกรรมของมนุษย์ไป Work From Home เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งที่ช่วยฟื้นฟูให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นแต่หากจะพัฒนาสิ่งแวดล้อมไปในทางที่ดีขึ้นกว่านี้ ทุกคนต้องมองหาสิ่งที่จะช่วยให้เราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ในระยะยาวอย่างการใช้  Renewable Energy หรือพลังงานทดแทนควบคู่กันไปด้วย 

พลังงานทดแทนที่สนับสนุนการทำงานบ้านระยะยาว

ถึงแม้ว่าคนส่วนมากจะปรับพฤติกรรมมาทำงานที่บ้านแต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอ เพราะสิ่งที่เราทุกคนจำเป็นต้องใช้คือ “พลังงาน” ซึ่งหากว่าเรายังคงใช้พลังงานรูปแบบเดิม เช่น พลังงานเชื้อเพลิง พลังงานถ่านหิน พลังงานน้ำมัน หรือพลังงานฟอสซิล ก็ยังเป็นตัวที่ทำให้เกิดมลภาวะอยู่ดี

บทความ Work from home

ทางเลือกใหม่สำหรับทุกคนไม่ว่าจะเป็นในระดับบุคคลระดับองค์กรและระดับโลก คือ การหันมาใช้พลังงานทางเลือกแทนเพียงเท่านี้ก็จะช่วยลดมลภาวะหรือลดความเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมลงได้ 

การลงทุนในพลังงานทดแทนแม้จะใช้ต้นทุนตอนต้นที่สูงกว่า แต่แน่นอนว่าผลลัพธ์ระยะยาวคุ้มค่ากว่าทั้งในเรื่องของค่าใช้จ่ายและการรักษาสิ่งแวดล้อม

ในหลายๆ ประเทศเริ่มมีการผลักดันให้มีการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี

อย่างเช่น ประเทศมหาอำนาจอย่างประเทศจีนมีการออกกฎหมายลดการใช้พลังงานฟอสซิส มีการทำสัญญาลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงออกนโยบายการลดภาษีให้กับประชาชนที่ใช้พลังงานทดแทน

ประเทศเยอรมนีก็มี Renewable Energy Statistics (AGEE-Stat) หรือสถิติการใช้พลังงานไฟฟ้าทดแทนที่เพิ่มขึ้นในทุกๆ ปีด้วยเช่นกัน

สรุป  

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กำลังเกิดขึ้น พฤติกรรมเล็กๆ ของทุกคนส่งผลให้โลกดีขึ้นได้  

การทำงานที่บ้านอาจกลายเป็นเทรนด์ใหม่ที่ทั่วโลกควรหันมาใส่ใจและใช้นโยบายนี้ในการทำงานกันมากขึ้น หลังจากนี้ การทำงานที่บ้านอาจกลายเป็นเรื่องปกติของทุกคน แบบ New normal

การทำงานที่บ้านทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นของสิ่งแวดล้อม ทำให้ทุกคนทั่วโลกตระหนักได้ว่าการพฤติกรรมของมนุษย์เองส่งผลให้เกิดปัญหาใหญ่ระดับโลกอย่างปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่เราสามารถแก้ไขมันได้ด้วยการปรับพฤติกรรม ซึ่งถือเป็นการรับผิดชอบของมนุษย์และธุรกิจต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ การเลือกใช้พลังงานทดแทนก็เป็นทางเลือกที่ดีที่จะช่วยสนับสนุนให้การทำงานที่บ้านและสิ่งแวดล้อมดีขึ้นไปพร้อมๆ กัน

 

Reference

8 Shocking Environmental Impacts of Remote Work
https://www.digitalnomadsoul.com/environmental-impacts-of-remote-work/

ความรับผิดชอบของธุรกิจในมิติสิ่งแวดล้อม
https://www.setsustainability.com/page/environment

How COVID-19 has changed the face of the natural world
https://www.medicalnewstoday.com/articles/how-covid-19-has-changed-the-face-of-the-natural-world

แนวโน้มการใช้พลังงานปี 2564

http://www.eppo.go.th/index.php/th/eppo-intranet/item/16575-news-290164

แนวโน้มการใช้พลังงานปี 2563

http://www.eppo.go.th/index.php/en/component/k2/item/16574-news-280164

https://www.umweltbundesamt.de/en/topics/climate-energy/renewable-energies/renewable-energies-in-figures

การใช้พลังงานถ่านหิน

https://www.carbonbrief.org/analysis-the-global-coal-fleet-shrank-for-first-time-on-record-in-2020

การใช้พลังงานสะอาด 

https://www.umweltbundesamt.de/en/topics/climate-energy/renewable-energies/renewable-energies-in-figures

Energy Factsheet สรุปข้อมูลพลังงาน กระทรวงพลังงาน

https://data.energy.go.th/factsheet/country/0/2020

โควิด-19 : ผลกระทบที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

https://www.bbc.com/thai/international-55573763

โลกร้อน: 5 เหตุผลที่ปี 2021 อาจเป็นจุดเปลี่ยนในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
https://www.bbc.com/thai/international-55507110​โลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร หลังวิกฤตโควิด-19 จบลง?

https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_30Mar2020.aspx

Work From Home กับ Digital Transformation
https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/651564

New call-to-action

Wind Farm พลังงานสะอาดเพื่อพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

SHARE

หากพูดถึงพลังงานสะอาดที่ได้รับความนิยมสูงในหลายๆ ประเทศแล้วล่ะก็ การใช้พลังงานลมย่อมติดอยู่ในอันดับต้นๆ อย่างไม่ต้องสงสัย แต่ทำไมพลังงานชนิดนี้จึงแทบไม่มีกระแสในประเทศไทย พลังงานลมมีข้อดี-ข้อเสีย เหมาะสมหรือไม่? อย่างไร? มาทำความรู้จักกับ Wind Farm แหล่งผลิตพลังงานจากสายลมเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนได้จากบทความนี้

รู้จัก Wind Farm แหล่งกำเนิดพลังงานสะอาดระดับโลก

Wind Farm หรือที่รู้จักกันในชื่อของทุ่งกังหันลม คือกลุ่มกังหันลมที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยกังหันเหล่านั้นอาจตั้งอยู่บนพื้นดินหรือในน้ำขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่เหมาะสม

จากรายงานของ International Renewable Energy Agency มีการระบุข้อมูลว่า ปี 2020 ประเทศต่างๆ บนโลกมีการผลิตงานลมเป็นสัดส่วน 26% จากการผลิตพลังงานทั้งหมด ซึ่งคิดเป็นอันดับสองรองจากพลังงานน้ำที่มีการผลิตอยู่ที่ 43% จากการผลิตพลังงานทั้งหมด

ตัวเลขดังกล่าวบอกอะไรได้บ้าง? มันแสดงให้เห็นชัดเจนว่าจริงๆ แล้วพลังงานลมก็มีบทบาทสำคัญไม่น้อยในระดับสากลแม้ว่าจะไม่เทียบเท่ากับพลังงานน้ำก็ตาม

บทความ wind farm

สิ่งที่น่าสนใจไม่ใช่แค่สัดส่วนการผลิต แต่เป็นการผลิตพลังงานที่เพิ่มขึ้น โดยอัตราการผลิตพลังงานลมนั้นสูงขึ้นราว 18% หากเทียบกับปีก่อน และมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แสดงให้เห็นถึงความนิยมจากหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะในประเทศจีนที่ปี 2020 มีการขยายอัตราการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมถึง 72.4 GW เลยทีเดียว ซึ่งการผลิตเหล่านั้นก็มาจาก Wind Farm นี่เอง

การใช้งาน Wind Farm ในระดับสากล

Wind Farm ถือเป็นตัวเลือกหลักในการผลิตพลังงานสำหรับประเทศที่ไม่สะดวกในการสร้างเขื่อนหรือมีพื้นที่ที่ลมพัดผ่านมาก เช่น ที่ราบหรือริมชายฝั่งขนาดใหญ่ ทำให้เราได้เห็น Wind Farm มากมายไม่ว่าจะอยู่ในประเทศใหญ่ๆ หรือประเทศเล็กๆ ก็ตาม

โดยอัตราส่วนการผลิตพลังงานลมในแต่ละประเทศนั้นมีดังนี้

บทความ wind farm

จะเห็นได้ชัดเลยว่าประเทศใหญ่ๆ อย่างจีน สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี นั้นเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจาก Wind Farm ลำดับต้นๆ แต่หากคิดเป็นสัดส่วนต่อประชากรแล้ว จะพบว่าประเทศอย่างเดนมาร์ก สวีเดน และไอร์แลนด์จะมีสัดส่วนการผลิตที่มากกว่า เนื่องจากมีพื้นที่ที่เหมาะสมและมีจำนวนประชากรที่ค่อนข้างน้อย

การผลิตพลังงานลมซึ่งถือเป็นพลังงานสะอาดชนิดหนึ่งได้เยอะ ย่อมหมายถึงเสถียรภาพทางพลังงานระยะยาวภายใต้กรอบจำกัดของการใช้งานพลังงานจากฟอสซิลที่ลดลงเรื่อยๆ ด้วย

แล้วประเทศไทยล่ะ อยู่จุดไหนของการผลิตพลังงาน และเรามีการพัฒนาอย่างไรบ้าง?

Wind Farm กับการผลิตพลังงานในไทย

ไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมทั้งหมดราว 1,507 MW ในปี 2020 โดยมี Wind Farm อยู่มากมาย โดยจะถูกเรียกว่า “ทุ่งกังหันลม” ตรงๆ เช่น ทุ่งกังหันลมเขาค้อ ทุ่งกังหันลมห้วยบง และทุ่งกังหันลมแหลมฉบัง เป็นต้น

การปรับให้พลังงานในประเทศถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานสะอาดเป็นหนึ่งในนโยบายที่ภาครัฐให้ความสำคัญไม่น้อย และถูกบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกปี พ.ศ. 2561-2580 ซึ่งมีหัวข้อพิจารณา เช่น การพัฒนาการพยากรณ์อากาศที่ส่งผลต่อการผลิตไฟฟ้าจาก Wind Farm การเพิ่มปริมาณการผลิต และการปรับตัวบทกฎหมายให้สนับสนุนความเป็นไปได้ในการเพิ่มการผลิตพลังงานมากขึ้น

ทว่าประเด็นจริงๆ สำหรับเรื่องนี้น่าจะเป็นแผนงานระยะสั้นสำหรับการผลิตพลังงานลม ซึ่งผลไม่เป็นไปตามที่ควรเท่าใดนัก

บทความ wind farm

แผนงานพลังงานลมที่ไม่เป็นไปตามคาดหวัง

แผนงานระยะสั้นของพลังงานลมในปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่าผู้ผลิตพลังงานไม่ได้รับการสนับสนุนเพียงพอ โดยเฉพาะการที่รัฐหยุดรับซื้อพลังงานลมไปชั่วคราว และมีการวางแผนซื้อพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจาก Wind Farm ขึ้นใหม่ในปี 2565 ทำให้เกิดความไม่มั่นใจต่อผู้ผลิตพลังงานจำนวนไม่น้อย ว่าจะเกิดการหยุดซื้อเช่นนี้ในอนาคตหรือไม่ รวมถึงการจัดพื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้าง Wind Farm ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะต้องวางแผนไม่ให้กระทบต่อชุมชนโดยรอบ เนื่องจากกังหันลมจริงๆ มีเสียงค่อนข้างดัง และต้องการพื้นที่ติดตั้งมากเพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าที่เหมาะสม

หลังจากนี้คงต้องมีการจับตามองว่าการสนับสนุนพลังงานลมไทยนั้นจะเป็นอย่างไร เพราะปัจจุบันยังมีปัจจัยต่างๆ มากมายที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่นของนักลงทุน โรคระบาด และการผลิตพลังงานชนิดอื่นๆ เข้ามาในระบบ ซึ่งการที่ไทยจะหันมาผลิตพลังงานจาก Wind Farm เพิ่มเติม ยังเป็นอนาคตที่ห่างไกลพอสมควรทีเดียว

สรุป

พลังงานลมไทยถือเป็นพลังงานที่มีการนำมาใช้ค่อนข้างน้อยหากเทียบกับพลังงานประเภทอื่นๆ แม้ว่าภาคเอกชนบางส่วนจะมีการยืนยันว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชนิดนี้ไม่น้อย และ Wind Farm ในประเทศไทยก็มีการพัฒนาอยู่เรื่อยๆ ด้วย

ประเด็นสำคัญคือในปี 2565 หลังจากที่มีแนวทางการรับซื้อไฟฟ้าจาก Wind Farm แล้วนั้น ทางภาครัฐจะมีการสนับสนุนพลังงานชนิดนี้อย่างไร เพราะแผนงานระยะยาวอาจไม่เพียงพอสำหรับการสนับสนุนผู้ประกอบการ ท่ามกลางสภาวะวิกฤตเฉกเช่นทุกวันนี้

PTT_ebook-EV

รถยนต์พลังงานไฟฟ้า อนาคตใหม่แห่งการเดินทาง

SHARE

ถ้าพูดถึงยานพาหนะที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจกันล่ะก็ รถยนต์ไฟฟ้าย่อมเป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ อย่างไม่ต้องสงสัย นอกจากจะตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในยุคนี้แล้ว รถยนต์ไฟฟ้ายังขับเคลื่อนได้เร็วขึ้น เงียบ และประสิทธิภาพเริ่มดีกว่ารถยนต์ที่ใช้พลังงานฟอสซิลพอสมควร

แต่ทำไมเรายังไม่มีการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าแบบ 100% กัน? ประเทศไทยตอนนี้มีรถยนต์ไฟฟ้ามากแค่ไหน? และเยอะหรือไม่ถ้าเทียบกับระดับสากล? ทุกคำตอบถูกรวบไว้แล้ว ที่นี่

รถยนต์ไฟฟ้า ยานพาหนะแห่งอนาคต

รถยนต์ไฟฟ้า (Electric car) เป็นยานพาหนะที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน มีทั้งใช้ไฟฟ้า 100% และใช้พลังงานอื่นๆ ร่วมด้วย โดยรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% นั้นจะไม่มีการปล่อยไอเสียออกมาจากรถเลยแม้แต่น้อย

แม้รถยนต์ไฟฟ้าจะไร้มลพิษบนท้องถนน แต่ใช่ว่ากระบวนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าจะสะอาด 100% เสียทีเดียว องค์ประกอบต่อมาที่เราต้องหันกลับไปมองคือกระบวนการผลิตไฟฟ้า ในประเทศนั้นๆ ว่าเป็นอย่างไร เพราะรถยนต์ไฟฟ้าเองก็ถือเป็นการใช้พลังงานปลายทาง

electric-cars

สิ่งต่อมาที่ต้องให้ความสำคัญคือกระบวนการผลิตไฟฟ้า ที่อาจต้องหันไปพึ่งพาพลังงานสะอาดมากขึ้น เพื่อลดอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซพิษอื่นๆ จากการผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหิน เพื่อให้วงจรพลังงานสะอาดนั้นสะอาดจริงๆ ดังที่หลายฝ่ายคาดหวังไว้ และสามารถใช้งานได้ระยะยาวโดยไม่กระทบหรือสร้างวิกฤตพลังงานจากการขาดแคลนไฟฟ้าเพิ่มเติม

คุณสามารถอ่านเพิ่มเติมในด้านการเปรียบเทียบได้ที่ [เปรียบเทียบ] รถยนต์พลังงานไฟฟ้า VS พลังงานฟอสซิล

ความนิยมของรถยนต์ไฟฟ้ามีมากขนาดไหน

รถยนต์ไฟฟ้าไม่ใช่ของใหม่ แต่สาเหตุที่ยานพาหนะชนิดนี้โด่งดังได้ในช่วงหลังต้องยกเครดิตส่วนหนึ่งให้ทางบริษัท Tesla ที่เป็นต้นทางเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ๆ ที่แม้แต่บริษัทรถยนต์อื่นๆ ยังต้องนำไปศึกษา และ Tesla นี่เองที่เป็นผู้พิสูจน์ว่ารถยนต์ไฟฟ้าก็แรงไม่แพ้รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเช่นกัน

กราฟด้านล่างแสดงให้เห็นถึงการผลิตและสต็อกของรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก จะสังเกตได้ว่าช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อจัดจำหน่ายสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์กว่า 10 ล้านคัน และทางองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) คาดการณ์ต่อว่าปริมาณการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าทั่วทั้งโลกจะสูงถึง 230 ล้านคันช่วงปี 2030

electric-cars-02

เทคโนโลยีมากมายที่มากับรถยนต์ไฟฟ้า

ไม่เพียงแค่พลังขับเคลื่อนที่เป็นสาเหตุให้รถยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยม แต่เทคโนโลยีมากมายที่มากับรถยนต์ไฟฟ้านั้นทำให้ยานพาหนะชนิดนี้มีความพิเศษมากกว่ายานพาหนะแบบอื่น แน่นอนว่ารถยนต์พลังงานไฮโดรเจนและรถยนต์ที่ใช้น้ำมันในปัจจุบันก็มีเทคโนโลยีล้ำสมัย แต่ก็ยังไม่โดดเด่นเท่า

เทคโนโลยีที่อยู่ภายในรถยนต์ไฟฟ้าและหลายคนจับตามองคือการเร่งที่สมูทกว่ารถยนต์ใช้น้ำมัน ความเงียบ นิ่ง ในการขับขี่ และผู้ผลิตยังชอบใส่ฟีเจอร์ใหม่ๆ เข้าไปเพื่อจูงใจคนซื้ออย่างระบบขับขี่อัตโนมัติในรถ Tesla

ทำไมไทยยังไม่ใช้รถยนต์ไฟฟ้า 100%

ถ้ารถยนต์ไฟฟ้าดีแล้วทำไมไทยถึงยังไม่ได้มีการใช้งานอย่างเต็มที่แบบประเทศอื่นๆ สิ่งแรกที่ต้องตอบก่อนคือไทยเองก็มีแผนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเช่นกัน แต่ยังเป็นแผนการระยะยาว โดยตั้งเป้าว่าไทยจะมีรถยนต์ไฟฟ้า 1.2 ล้านคันในปี 2036

ค่าภาษีที่สูงสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า

ในการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าสิ่งที่ทุกบริษัทต้องเจอคือกำแพงภาษีของประเทศ ที่แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนระบบภาษีสรรพสามิตให้ลดลง 8% แต่รถยนต์ไฟฟ้ายังมีกำแพงภาษีมหาดไทย ภาษีอากรขาเข้า และค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่นๆ ทำให้คนที่อยากใช้จำเป็นต้องเลือกรถยนต์พลังงานน้ำมันไปก่อนเนื่องจากราคาโดยรวมต่ำกว่ามาก

เดินทางแบบไร้มลพิษ รวดเร็ว ประหยัดงบประมาณ ทำความรู้จักกับรถยนต์ไฟฟ้า อนาคตของการเดินทางที่กำลังจะมาถึง พร้อมส่องแผนรถยนต์ไฟฟ้าไทยเมื่อไหร่จะมา

โครงสร้างพื้นฐานยังไม่เอื้อต่อการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างเพียงพอ

ปัจจุบันประเทศไทยมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าไปมาก โดยเฉพาะจุดชาร์จไฟทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด แต่ก็ยังไม่สามารถเทียบเท่ากับปริมาณปั้มน้ำมันปกติได้ ทำให้ความสะดวกของประชาชนยังมีไม่มากนัก นั่นยังไม่รวมผู้เชี่ยวชาญ และทีมช่างเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งไทยขาดบุคลากรเฉพาะทางในจุดนี้มาก การมีรถยนต์ไฟฟ้าในไทยจึงเป็นเป้าหมายที่ทุกองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมกันพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดได้เร็วขึ้น

ล่าสุดปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานเองก็มีการแก้ไขแล้ว โดยทางปตท.ได้ผนึกกำลังกับทางฟ็อกซ์คอนน์ บริษัทผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ ผลักดันเทคโลยีให้ประเทศไทยกลายเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าด้วยการสร้างแพลตฟอร์มการผลิต มุ่งเน้นการสร้าง Business Ecosystem เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อทำให้ธุรกิจด้านรถยนต์และพลังงานไฟฟ้าเติบโตขึ้นได้ในระยะยาว

สรุป

เทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าเป็นอีกหนึ่งหนทางสำคัญในการลดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมให้เป็นสังคมคาร์บอนต่ำ และถือเป็นอนาคตสำคัญสำหรับการเดินทางยุคใหม่ แต่ผู้ที่ต้องการรถยนต์ไฟฟ้าให้อยู่ในราคาเอื้อมถึงและมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับอาจต้องรออีกสักหน่อย เพื่อให้มีความพร้อมในการเดินทางมากใกล้เคียงกับรถยนต์ที่ใช้พลังงานน้ำมัน ซึ่งในปัจจุบันหน่วยงานต่างๆ ก็มีการปรับตัวเพื่อสนับสนุนยานพาหนะชนิดนี้กันมากขึ้น

PTT_ebook-EV

[ไขข้อสงสัย] พลังงานชีวมวลคืออะไร ต่างจากพลังงานชีวภาพอย่างไร

SHARE

เมื่อการใช้พลังงานที่ไม่เหมาะสมก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม หลายประเทศจึงมีการมองหาพลังงานทดแทน ซึ่งนอกจากแสงอาทิตย์และลมแล้ว พลังงานชีวมวลและพลังงานชีวภาพก็มีการพูดถึงเป็นวงกว้าง แต่ทว่ายังมีคนหลายกลุ่มสับสนระหว่างพลังงานสองชนิดนี้ เราจึงจะมาทำความเข้าใจว่าพลังงานทั้งสองต่างกันอย่างไร และควรเลือกใช้พลังงานแบบไหนกันแน่!

รู้จักกับพลังงานชีวมวลและพลังงานชีวภาพ

พลังงานชีวมวล (Biomass Energy)

พลังงานชีวมวล คือการผลิตพลังงานด้วยวัสดุชีวมวล (Biomass) ทั้งจากรูปแบบการหมัก การเผา หรือกรรมวิธีอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่นการเผาเศษไม้เพื่อสร้างความร้อน การหมักมูลสัตว์เพื่อทำให้เกิดก๊าซ และนำความร้อนหรือก๊าซนั้นๆ ไปใช้ต่อ

what-is-biomass-energy-different-biogas-energy

ตัวอย่างโรงงานพลังงานชีวมวล

พลังงานชีวภาพ (Biogas Energy)

พลังงานชีวภาพ หรือ ก๊าซชีวภาพ คือการนำวัสดุทางชีวภาพมาย่อยสลายด้วยแบคทีเรียในสภาวะไร้ออกซิเจน (Anaerobic Digestion) เพื่อผลิตก๊าซชีวภาพ (Biogas) ก่อนนำไปใช้งานโดยตรง โดยวัสดุที่ใช้จะมีความจำเพาะเจาะจงมากกว่ากระบวนการผลิต Biomass Energy เช่น ใช้ขยะอินทรีย์ มูลสัตว์ หรือพืชเชื้อเพลิงประเภทเส้นใยอย่างอ้อย เพื่อเข้ากระบวนการ Anaerobic Digestion เท่านั้น หากเป็นพืชทั่วไปก็อาจผลิต Biogas ไม่ได้ หรือได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

what-is-biomass-energy-different-biogas-energy

ตัวอย่างโรงงานพลังงานชีวภาพ

ความแตกต่างสำคัญของพลังงานทั้งสองรูปแบบ

1.การผลิตพลังงาน พลังงานชีวภาพจะระบุชัดเจนเลยว่าใช้กระบวนการ Anaerobic Digestion เพื่อการผลิต ขณะเดียวกันพลังงานชีวมวลจะเป็นการแปรรูปจากการเผา การหมัก เพื่อสร้างพลังงานหรือใช้งานโดยตรงเลย

2.การใช้พลังงาน พลังงานชีวมวลมีหลากหลายรูปแบบ เช่น ความร้อน ก๊าซ ของเหลว เป็นต้น ขึ้นอยู่กับกระบวนการผลิต ส่วนพลังงานชีวภาพจะถูกจำกัดเลยว่าสิ่งที่ได้จะต้องเป็นก๊าซเท่านั้น และจะถูกนำไปประยุกต์ใช้งานต่อในภายหลัง

หากพิจารณาดูดีๆ แล้ว การที่เราสรุปว่าพลังงานชีวภาพจะเป็นรูปแบบหนึ่งของการผลิตพลังงานชีวมวลก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องเช่นกัน เพียงแต่รูปแบบการผลิตบางส่วนมีความซับซ้อนมากกว่าเท่านั้นเอง

ข้อดี ข้อเสีย ของพลังงานชีวมวลและพลังงานชีวภาพ

พลังงานชีวมวล

ข้อดี

  • เป็นพลังงานหมุนเวียน สามารถใช้วัตถุดิบได้หลากหลายและไม่หมดไปหากเปรียบเทียบกับพลังงานฟอสซิล
  • มีราคาถูก หากเทียบกับการใช้งานพลังงานฟอสซิล
  • สามารถใช้งานในกระบวนการอุตสาหกรรมได้ดี เนื่องจากสามารถใช้ของเสียชีวมวลในการผลิตได้ ขณะเดียวกันก็ช่วยลดปริมาณการฝังกลบขยะอีกด้วย

ข้อเสีย

  • พลังงานชีวมวลไม่ใช่พลังงานสะอาดทั้งหมด บางส่วนยังก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และควันในการผลิต รวมถึงการใช้งาน
  • จำเป็นต้องใช้พื้นที่ปริมาณมากในการผลิตพลังงาน
  • เนื่องจากใช้แหล่งพลังงานหลากหลายรูปแบบ อาจทำให้การผลิตพลังงานยังไม่สม่ำเสมอ

what-is-biomass-energy-different-biogas-energy

พลังงานชีวภาพ

ข้อดี

  • เป็นพลังงานสะอาด ให้พลังงานความร้อนสูง สามารถใช้งานได้หลากหลาย
  • เป็นพลังงานหมุนเวียน สามารถใช้วัตถุดิบได้หลากหลายและไม่หมดไปหากเปรียบเทียบกับพลังงานฟอสซิล
  • ลดขยะชีวภาพที่เกิดขึ้นในครัวเรือน

ข้อเสีย

  • มีการจัดเก็บพลังงานที่ยุ่งยาก การใช้งานค่อนข้างจำกัด
  • เทคโนโลยีอุปกรณ์การผลิตที่ได้คุณภาพปัจจุบัน มีต้นทุนค่อนข้างสูง
  • การผลิตระยะยาวอาจมีการใช้พืชพลังงานเข้ามามีส่วนร่วม และอาจทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในตลาด ที่ทำให้เกษตรกรเน้นการปลูกพืชชนิดนี้มากกว่าสินค้าเกษตรอื่นๆ ได้

จากข้อมูลด้านบนนั้นสามารถสรุปได้ว่าพลังงานทั้งสองแบบมีความใกล้เคียงกันมากในแง่ของการใช้งานวัตถุดิบ แต่พลังงานชีวภาพ (ก๊าซชีวภาพ) เป็นพลังงานสะอาดและควรค่าแก่การใช้งานระยะยาวมากกว่า ซึ่งปัจจัยที่ต้องให้ความสำคัญคือเทคโนโลยีการผลิต ที่ปัจจุบันยังมีราคาค่อนข้างสูง

สรุป

พลังงานชีวมวลและพลังงานชีวภาพแม้ว่าจะมีชื่อคล้ายกัน แต่กลับมีความแตกต่างกันทั้งด้านของวัตถุดิบ การผลิต และการแปรรูปพลังงาน โดยพลังงานชีวภาพจะมีการใช้วัตถุดิบและกระบวนการซับซ้อนมากกว่าพลังงานชีวมวล แต่ก็มีความคุ้มค่าที่สามารถให้พลังงานสะอาดได้

พลังงานทั้งสองประเภทเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการใช้พลังงานทดแทนอย่างจริงจังทั้งในระดับประเทศและในระดับสากล การทำความเข้าใจกับภาคประชาชนและภาคเอกชนเกี่ยวกับความสำคัญในการใช้งานและการผลิตพลังงานทั้งสองประเภทจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ขาดไม่ได้ สำหรับการแก้ไขปัญหาวิกฤตพลังงานที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

PTT_ebook-EV

แพลตฟอร์ม “ReAcc” ปตท. คว้ารางวัล Renewable Energy Market Asia Award

SHARE

ปตท. คว้ารางวัลด้านการจัดการพลังงานหมุนเวียนดีเด่นจากงาน Renewable Energy Markets Asia

การจัดรางวัลดังกล่าวเกิดขึ้นในงานสัมมนา Renewable Energy Market (REM) Asia Conference ซึ่งเป็นงานสัมมนาเกี่ยวกับการใช้พลังงานหมุนเวียนระดับโลก โดยภายในงานมีการให้รางวัลบริษัทที่มีการทำธุรกิจและส่งเสริมพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ซึ่งทาง ปตท. เป็นหนึ่งในบริษัทที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ จากการผลักดันแพลตฟอร์ม “ReAcc” (reacc.io) แพลตฟอร์มซื้อ-ขายใบรับรองพลังงานหมุนเวียนผ่านระบบบล็อกเชน (Blockchain) ในช่วงปี 2020 ที่ทำร่วมกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรด้านบล็อกเชนระดับโลก โดยมุ่งหวังให้เกิดการซื้อขายระหว่างผู้ผลิตพลังงานท้องถิ่นและผู้ซื้อที่มีคุณภาพ โดยเป็นบริการแบบครบวงจร (End-to-End)

“แพลตฟอร์ม ReAcc จากทาง ปตท. เป็นตัวอย่างที่ดี ในการประสานงาน ให้ผู้ผลิตพลังงานท้องถิ่นสามารถเชื่อมต่อกับผู้ซื้อเจ้าใหญ่ๆ ได้ง่ายดายยิ่งขึ้น” คุณ Janifer Martin กรรมการบริการของทาง Center for Resource Solutions กล่าว “เรายินดีที่จะบอกว่า ปตท. มีความเป็นผู้นำและมีนวัตกรรมมากเพียงพอที่จะขยายตลาดพลังงานสะอาดในไทยได้ก้าวไกลยิ่งขึ้น”

แพลตฟอร์ม ReAcc สร้างสรรและพัฒนาโดยสมาชิกในทีม PTT ExpresSo ด้วยความมุ่งมั่นที่ต้องการผสานเทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยีบล็อกเชน ผสานกับธุรกิจพลังงานในอนาคต ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมพลังงานยั่งยืน

คุณสามารถอ่านที่มาของแพลตฟอร์ม ReAcc เพิ่มเติมได้ที่ https://blog.pttexpresso.com/renewable-energy-certificates/

 

ติดตามข่าวสารและคอนเทนต์ดีๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อมที่คุณไม่ควรพลาด

ได้ที่ Facebook PTT ExpresSo

 

New call-to-action

5 เหตุผล ทำไมพลังงานหมุนเวียนจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต่ออนาคต

SHARE

การใช้งานพลังงานหมุนเวียนในยุคปัจจุบันไม่ใช่แค่ทางเลือกแต่เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อขับเคลื่อนอนาคตของโลกให้ก้าวไปข้างหน้า ทั่วทั้งโลกต่างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ทั้งภาครัฐและประชาชน มาดูกันว่าเหตุผลใดกันทำไมพลังงานชนิดนี้ถึงจำเป็นกับโลก และมันจะมาทดแทนพลังงานสิ้นเปลืองได้อย่างไร

1.พลังงานหมุนเวียนส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม

ผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์จากหลาย ๆ สถาบันยืนยันชัดเจนว่าการใช้งานพลังงานสิ้นเปลืองของมนุษย์นั้นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect) ที่ส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเรื่อย ๆ และอุณหภูมิที่สูงขึ้นนี้ก็จะส่งผลกระทบไปยังท้องทะเล น้ำแข็งขั้วโลก ไปจนถึงพฤติกรรมของสัตว์ต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างอีกด้วย

5-reasons-why-renewable-energy-is-neccessary

นอกจากการใช้งานจะส่งผลกระทบแล้ว ในส่วนของการผลิตเองก็มีผลต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน เช่น การขุดเจาะเพื่อผลิตน้ำมันที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล หรือการทำเหมืองเพื่อผลิตถ่านหินก็ทำให้ภูเขาเสียหาย ยิ่งคนใช้มากเท่าไหร่ ผลกระทบทั้งหมดยิ่งทวีคูณมากขึ้นเท่านั้น

แต่การใช้พลังงานหมุนเวียนจะมีความแตกต่าง เนื่องจากตัวพลังงานหมุนเวียนเป็นพลังงานที่สามารถใช้ซ้ำได้แบบไม่มีวันหมด เช่นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานก๊าซชีวภาพ

2.คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ด้วยการใช้งานพลังงานที่ดี

การใช้งานพลังงานสิ้นเปลืองอย่างพลังงานฟอสซิลที่มากเกินไปนอกจากจะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรงแล้ว มนุษย์ธรรมดา อย่างเรา ๆ ก็ได้รับผลกระทบจากมันไม่น้อยเช่นกัน ตั้งแต่ควันพิษจากการเผาไหม้แบบไม่สมบูรณ์ มลพิษทางเสียงที่ได้เจอตามท้องถนน และผลกระทบทางอ้อมที่ได้เผชิญหลังจากสิ่งแวดล้อมเสียหาย

การปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียน หรือใช้พลังงานที่ได้จากพลังงานหมุนเวียน เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ นอกจากจะเพิ่มความสะดวกสบายที่สามารถติดตั้งที่ไหนก็ได้แล้ว ยังช่วยลดมลพิษทางเสียง ดีต่อสุขภาพ และช่วยให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น

3.ค่าใช้จ่ายของพลังงานหมุนเวียนถูกลงเรื่อย ๆ

ยิ่งเทคโนโลยีและการแข่งขันในตลาดสูงขึ้นเท่าไร มูลค่าของสิ่งนั้น ๆ ก็จะยิ่งลดลงตามมาเพื่อให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ไม่เว้นแม้แต่พลังงาน ยกตัวอย่างเช่นต้นทุนการผลิตไฟฟ้าด้วย Solar Cell ในอดีตเทียบกับปัจจุบัน

5-reasons-why-renewable-energy-is-neccessary

ภาพข้อมูลจาก Rameznaam.com

จะเห็นได้ว่าในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าด้วย Solar Cell ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และส่งผลให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สามารถใช้ได้ง่ายและเข้าถึงคนทั่วไปได้มากขึ้น ตาม Market share ที่มากขึ้น โดยพลังงานลมและพลังงานน้ำเองก็มีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน แต่อาจจะไม่ชัดเจนเท่า

นอกจากราคาในการผลิตแล้ว เทคโนโลยีในการกักเก็บพลังงานรูปแบบต่าง ๆ เช่น ถังก๊าซ เซลล์เก็บกักพลังงานไฟฟ้า สิ่งเหล่านี้ก็ถูกพัฒนาการเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทำให้อนาคตด้านการใช้พลังงานหมุนเวียนทั่วทั้งโลกชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก

4.พลังงานสิ้นเปลืองมีวันหมด แต่พลังงานหมุนเวียนยังอยู่อีกนาน

ที่ผ่านมาเรามักได้ยินคำพูด “น้ำมันจะหมดโลกในอีกไม่นาน” อยู่บ่อยครั้ง บ้างก็ว่าอยู่ได้อีก 40 ปี บ้างก็ว่าอยู่ได้อีก 50 ปี ซึ่งตัวเลขดังกล่าวก็มีการปรับเปลี่ยนอยู่เรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านมาจนถึงปัจจุบันก็แสดงให้เห็นว่าจริงๆ แล้วปริมาณน้ำมันสำรองและพลังงานอื่น ๆ มีมากกว่าที่คิด ไม่ได้หมดลงในระยะเวลาอันสั้นแต่อย่างใด

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกการใช้งานทำให้น้ำมันและพลังงานสิ้นเปลืองอื่น ๆ ลดลง และอาจจะหมดลงในรุ่นเราหรือรุ่นลูกเราเข้าจริง ๆ การสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ เพื่อใช้งานระยะยาวจึงเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์อนาคตมากกว่า

5-reasons-why-renewable-energy-is-neccessary

5.เทรนด์พลังงานหมุนเวียนได้รับการยอมรับในระดับสากล

สุดท้ายแล้วโลกทั้งใบต้องเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนไม่ช้าก็เร็ว

ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษยชาติก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมทางสังคมอย่างมหาศาล หากบริษัทไหน หรือผลิตภัณฑ์ไหนนำเสนอด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จะส่งผลให้บริษัทได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เรื่องดังกล่าวทำให้บริษัทจนถึงภาครัฐต้องมีการปรับตัวอย่างแข็งขัน ตั้งแต่การปรับรูปแบบของบริษัทให้มีความ Clean ใช้พลังงานสะอาด มีการรีไซเคิลสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น และนำเสนอ Product ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เมื่อความนิยมของพลังงานฟอสซิลและพลังงานสิ้นเปลืองชนิดอื่นๆ ความต้องการในตลาดก็จะลดลง อนาคตที่เหลืออยู่ก็คือการผลิตพลังงานหมุนเวียนที่มีคุณภาพว่าจะสามารถสนับสนุนความต้องการของผู้บริโภคได้มากน้อยขนาดไหน

สรุป

พลังงานหมุนเวียนนั้นจำเป็นกับอนาคตเพราะมันสามารถนำมาใช้ซ้ำได้ ไม่มีวันหมดไปง่าย ๆ และได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีการทำลายสิ่งแวดล้อมที่น้อยกว่าพลังงานสิ้นเปลือง เมื่อคุณภาพชีวิตคนและสิ่งแวดล้อมดีขึ้น ไม่ช้าไม่นานพลังงานหมุนเวียนจะกลายเป็นเทรนด์พลังงานหลัก ที่ไม่ว่ารัฐบาลหรือบริษัทใดๆ ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้อีกต่อไป

New call-to-action

Cloud Computing คืออะไรและมีความสำคัญต่อธุรกิจในปี 2021 อย่างไร

SHARE

การประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยี Cloud Computing ในปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากซับซ้อนอีกต่อไป มีธุรกิจมากมายสนใจและหันมาเลือกใช้ Cloud ในการทำงานรูปแบบต่างๆ บทความนี้จะมาพูดถึงตัว Cloud Computing ทั้งด้านประโยชน์และการใช้งาน เพื่อให้คนที่สนใจสามารถเข้าใจเทคโนโลยีนี้ได้ง่ายมากขึ้น 

ทำความรู้จักกับ Cloud Computing 

Cloud Computing คือ บริการเก็บข้อมูล จัดการข้อมูล และใช้ทรัพยากรเพื่อประมวลผลข้อมูลต่างๆ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต โดยทางผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องซื้อ Hardware หรือ Software เพิ่ม 

สิ่งที่สำคัญของ Cloud Computing คือผู้ใช้งานทุกคนจะสามารถเข้าถึงข้อมูลที่แชร์อยู่ในระบบได้ โดยการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ จะขึ้นอยู่กับผู้จัดการระบบเป็นหลัก ทำให้มีความปลอดภัย สะดวก และมีความยืดหยุ่นในการทำงาน เพราะทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลและใช้งานมันที่ไหนก็ได้ขอแค่มีอินเทอร์เน็ต 

cloud computing

Cloud Computing ใกล้ตัวคุณ

การใช้งาน Cloud Computing ไม่ใช่เรื่องยาก และหลายๆ คนอาจมีการใช้งานมันในชีวิตประจำวันอยู่แล้วแต่เราไม่เคยรู้ตัวมาก่อน เช่น

  • บริการรูปแบบซอฟต์แวร์: Gmail, Zoom, Salesforce
  • บริการแพลตฟอร์มต่างๆ: Microsoft Azure, Google App
  • บริการโครงสร้างพื้นฐานทางคอมพิวเตอร์: Amazon Web Service, Microsoft Azure

นอกเหนือจากตัวอย่างด้านบนยังมีเทคโนโลยี Cloud Computing รูปแบบอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งขึ้นอยู่กับการประยุกต์และปรับใช้ของผู้ให้บริการ ว่าอยากนำเสนอบริการของตัวเองในรูปแบบใดบ้าง

คุณสามารถอ่านเรื่อง Cloud Computing เพิ่มเติมได้ ที่นี่

ข้อดีของการใช้งาน Cloud Computing ร่วมกับธุรกิจปี 2021

1.เพิ่มประสิทธิภาพโดยรวมในการทำงาน

การทำงานด้วย Cloud จะทำให้บุคลากรที่เกี่ยวข้อง สามารถเข้าถึงข้อมูลและการทำงานต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน บริษัท หรือในที่ห่างไกล ทำให้ไม่จำเป็นต้องรับส่งข้อมูลแบบ Physical ซึ่งช่วยลดเวลาการเดินทาง ตอบโจทย์การทำงานของยุคอย่างปัจจุบันแบบ Work from home หรือ Work anywhere

นอกจากการให้คนในบริษัทที่เกี่ยวข้องเข้าถึงข้อมูลแล้ว ยังสามารถอนุญาตให้คนนอก หรือ Outsource เข้าถึงข้อมูลได้ตามแต่การจัดการ ทำให้มีการโอนถ่ายและใช้งานข้อมูลได้ง่ายมากขึ้นอีกด้วย

ที่สำคัญ Cloud Computing ยังสามารถอัปเกรดได้ทันทีที่ต้องการ เช่น ต้องการพื้นที่เพิ่ม หรือต้องการประสิทธิภาพการคำนวณที่มากขึ้น สิ่งที่ต้องทำมีแค่การติดต่อทางผู้ให้บริการเพื่อการดำเนินการเท่านั้นเอง

cloud computing

2.ประหยัดค่าใช้จ่าย

Cloud Computing ไม่จำเป็นต้องเสียค่า Hardware และไม่จำเป็นต้องหาที่ตั้งให้อุปกรณ์ สิ่งที่ทำมีเพียงแค่การต่ออินเทอร์เน็ตเท่านั้น และโดยพื้นฐานแล้วบริการ Cloud Computing มักเป็นบริการในรูปแบบ pay-per-use (ใช้เท่าไรจ่ายเท่านั้น) ดังนั้นทางบริษัทสามารถคำนวณและประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำงานได้ดี

3.มีความปลอดภัยสูง

เนื่องจากการทำงานในรูปแบบ Online นั้นข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งขึ้นไปบนเซิฟเวอร์ ดังนั้นจึงมีการสำรองข้อมูลอยู่เสมอ อีกทั้งยังมีการดูแลด้าน Security ผ่านตัวผู้ให้บริการเป็นหลัก ทำให้ปลอดภัยแม้ว่าจะมีการโจมตีจาก Malware หรือเกิดปัญหาอื่นๆ 

4.ดีต่อสิ่งแวดล้อม

การใช้งานระบบต่างๆ บน Cloud คือการลดการปล่อย Carbon จาก Hardware รวมถึงยังลดการใช้งานไฟฟ้าภายในบริษัท แม้ว่าจะมีการ Scale up การทำงาน แต่การพัฒนาก็จะไม่ส่งผลต่อการ ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมอีกด้วย 

5.มีความเสถียรในการทำงาน

สำหรับธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย Downtime หรือเวลาที่บริการของคุณใช้งานไม่ได้ถือเป็นเรื่องซีเรียสอย่างยิ่ง การนำ Cloud เข้ามาใช้กับธุรกิจจะช่วยลด Downtime ที่อาจเกิดขึ้นจากปัญหาในบริษัทหรือปัญหาจากโปรแกรมของคุณได้ 

cloud computing

การพัฒนาของ Cloud Computing ในปี 2021

Cloud Computing มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและหลากหลาย และในปีนี้ก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เข้ามาช่วยทำให้ธุรกิจสามารถทำงานได้ง่ายมากขึ้น โดยมีตัวอย่างดังนี้

  • ใช้ AI ร่วมกับการทำงานของ Cloud Computing 

AI และ Machine Learning ผ่านระบบ Cloud คือจุดมุ่งหมายสำคัญสำหรับคนทำปัญญาประดิษฐ์ทั้งหลาย เพราะจะทำให้เราไม่จำเป็นต้องพึ่งพา Hardware ประสิทธิภาพสูงอีกต่อไป เพียงแค่ต่ออินเทอร์เน็ตที่มีคุณภาพก็สามารถใช้งาน AI ในการทำสิ่งต่างๆ ได้

  • ปรับรูปแบบการทำงานปกติสู่ Cloud Computing โดยสมบูรณ์ 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการอุบัติขึ้นของโรค Covid 19 กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่เร่งให้การทำงานของ Cloud Computing นั้นไวขึ้น โดยปี 2021 คาดว่าธุรกิจของ Cloud Computing จะเติบโตถึง 35

% เลยทีเดียว และคาดว่าการเติบโตนั้นจะกินระยะเวลานาน และผลักดันให้บริษัทต่างๆ ใช้ Cloud อย่างสมบูรณ์ในท้ายที่สุด

  • การเข้ามาของ Edge ที่เหนือกว่า Cloud ทั่วไป

การทำงานของ Edge Computing คือการเพิ่มการประมวลผลในอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใกล้กับแหล่งข้อมูล ไม่ได้พึ่งพาแค่การคำนวณใน Cloud อย่างเดียว ดังนั้นจึงสามารถเพิ่มความเร็วและประสิทธิภาพการทำงานได้ดียิ่งขึ้น

คุณสามารถอ่านเรื่องของ Edge Computing เพิ่มเติมได้ที่นี่

  • ธุรกิจต่างๆ มีการใช้เทคโนโลยี Cloud Computing เชิงลึกมากขึ้น

จากตัวอย่างด้านบน เกี่ยวกับบริการของ Google Drive และ Amazon นั้นอาจเป็นบริการที่คนส่วนมากคุ้นชินและมีการใช้งานอยู่ก่อนแล้ว แต่หลังจากนี้บริการดังกล่าวอาจมีความลึกและเป็นระเบียบมากขึ้น เช่น การใช้บริการของบริษัท Cloud Computing เพื่อบริหารจัดการข้อมูล ประมวลผลข้อมูลเชิงลึก เป็นต้น 

เช่น บริษัทเมฆาเทคโนโลยี ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อให้บริการสารสนเทศผ่านอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะการประมวลผลและจัดการข้อมูลผ่าน Cloud Computing เพื่อสนับสนุนงานด้าน Data ของธุรกิจในไทยให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น

สรุป

2021 กลายเป็นปีที่ Cloud Computing รวมถึงบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ผสมผสานเข้าไปในการทำงาน ตลอดจนชีวิตประจำวันของผู้คนไปเรียบร้อยแล้ว การที่ธุรกิจสามารถดำเนินต่อได้ภายใต้สภาวะโรคระบาด ยิ่งทำให้จุดเด่นของการใช้งาน Cloud ถูกเน้นให้เด่นขึ้นไปอีก 

สิ่งที่น่าสนใจคือภายใต้การทำงาน “เบื้องหลัง” ระบบต่างๆ ของตัว Cloud Computing จะมีการพัฒนาอย่างไร เพื่อตอบสนองการใช้งานของผู้ใช้ได้ดีที่สุด

New call-to-action

พลังงานสะอาด เครื่องพิสูจน์การกอบกู้สิ่งแวดล้อมของมนุษยชาติ

SHARE

ประเด็นเรื่องวิกฤตสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันนั้นไม่ใช่ภัยเงียบอีกต่อไป มนุษย์ได้พบเจอกับภัยธรรมชาติมากมายที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้น หรือแม้แต่การละลายของธารน้ำแข็ง เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าส่วนหนึ่งมันเกิดจากการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างไม่ยั้งคิดตั้งแต่ช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา และตอนนี้นานาประเทศก็มีความคิดที่จะช่วยโลกอีกครั้ง ด้วยการใช้ “พลังงานสะอาด”

พลังงานสะอาดคืออะไร

พลังงานสะอาด คือพลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอนของการใช้ ตั้งแต่การผลิตแปรรูป และการนำไปใช้งาน ซึ่งพลังงานสะอาดที่พบได้ในปัจจุบันคือ 

  • พลังงานแสงอาทิตย์
  • พลังงานน้ำ
  • พลังงานลม
  • พลังงานความร้อนใต้พิภพ
  • พลังงานไฟฟ้า

clean energy

สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือปัจจุบันพลังงานสะอาดยังคงมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เช่น การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ก็ยังคงต้องพึ่งพาเซลล์พลังงานแสงที่รีไซเคิลได้ยาก การใช้พลังงานน้ำก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศรอบๆ เขื่อน แม้แต่เว็บไซต์ด้านสถิติหลายเว็บไซต์ยังเลือกใช้คำว่า “พลังงานหมุนเวียน” เพราะไม่มีพลังงานชนิดใด “สะอาดแบบ 100%”

ดังนั้นเราอาจจะต้องเลือกและปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทการดำรงชีวิตของคนในประเทศนั้นๆ เพื่อทำให้พลังงานสะอาดถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

คุณสามารถอ่านเรื่องที่เกี่ยวกับพลังงานสะอาดเพื่มเติมได้ ที่นี่

การใช้พลังงานสะอาดกับโลกที่รอไม่ได้อีกต่อไป

เกรต้า ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม วัย 16 ปี ชาวสวีเดน ได้กล่าวไว้หลายครั้งถึงเรื่องการขยับของเหล่าผู้นำโลกนั้นช้าเกินไป และแม้ว่าจะประชุมกี่ครั้งก็ยังไร้ซึ่งการกระทำที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

คำพูดของเธอสอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง โดยผลกระทบของการใช้พลังงานฟอสซิล ณ ปัจจุบันเริ่มทวีความรุนแรงอย่างเด่นชัดมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาด้านฝุ่น PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ การก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกซึ่งส่งผลกระทบระยะยาวต่อภาวะโลกร้อน ประเด็นดังกล่าวจะมีผลต่ออุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น พร้อมกับภัยธรรมชาติ เช่น พายุ น้ำท่วม และไฟป่าที่มากขึ้นด้วย

clean energy

นั่นทำให้เกิดคำถามขึ้นทันทีว่า แล้วการปรับใช้พลังงานสะอาดของโลกไปถึงไหนแล้ว ?

ดังที่กล่าวข้างต้นว่าเว็บไซต์ด้านสถิติมักไม่ใช้คำว่า Clean แต่เลือกใช้ Renewable Energy หรือ พลังงานหมุนเวียน โดยเลี่ยงคำว่าพลังงานสะอาด ดังนั้นสถิติต่างๆ จึงจะอยู่ในส่วนของพลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก

สำหรับปี 2021 ทางองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) คาดการณ์ว่าผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียนจะเป็นประเทศโซนยุโรปและอินเดีย โดยเฉพาะด้านพลังงานแสงอาทิตย์ ที่มีการสนับสนุนและเติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2015 ตามมาติดๆ กับทางสหรัฐอเมริกาที่หลังจากการเปลี่ยนประธานาธิบดีเป็น โจ ไบเดน (Joe Biden) ส่งผลให้นโยบายด้านภาวะโลกร้อนเป็นไปได้ด้วยดียิ่งขึ้น

นอกเหนือจากนั้นยังคงเป็นประเทศจีน ที่มีการเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่างจนก้าวเป็นหนึ่งในมหาอำนาจด้านพลังงานหมุนเวียน ทั้งการออกกฎหมายควบคุมการใช้พลังงานฟอสซิล และการลดภาษีให้กับประชาชนที่ใช้พลังงานหมุนเวียน

แล้วประเทศไทย เราอยู่จุดไหนกันแน่?

clean energy

พลังงานสะอาดกับประเทศไทย

ไทยเป็นอีกประเทศที่มีนโยบายการปรับใช้พลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบัน ประเทศไทยเริ่มการปรับเปลี่ยนรถเมล์ให้กลายเป็นรถเมล์ไฟฟ้า เร่งสร้างจุดเติมไฟฟ้าเพื่อรถยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง รวมถึงโซลาร์ รูฟท็อป หรือโซลาร์เซลล์ลอยน้ำที่รองรับการผลิตไฟฟ้าจำนวนมาก ซึ่งต้องจับตาดูกันต่อไปว่านโยบายต่างๆ จะสามารถทำออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพให้ประชาชนพอใจขึ้นได้หรือไม่

นอกเหนือจากภาครัฐแล้ว ภาคเอกชนเองก็ยังเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญในเรื่องนี้ เช่น สวอพ แอนด์ โก Swap and Go เทคโนโลยีการสลับแบตเตอรี่รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ลดเวลาการชาร์จแบต อีกทั้งเริ่มมีผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรมในไทยก็เริ่มมีการให้ความสนใจกับการประกอบและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับยานพาหนะไฟฟ้าอีกด้วย

สรุป

การให้ความสำคัญและการใช้พลังงานสะอาดทวีความจำเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ในสภาวะแวดล้อมปัจจุบัน โดยในระดับสากลเริ่มมีการให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างจริงจังแล้ว แม้ว่าในหลายๆ เรื่องอาจจะช้าไปบ้างก็ตาม โดยในประเทศไทยก็มีการเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นหลักมากขึ้น และคาดว่าพลังงานดังกล่าวจะมีบทบาทอย่างจริงจังจากการสนับสนุนของทั้งภาครัฐและเอกชน

New call-to-action

พลังงานนิวเคลียร์ เปรียบเทียบข้อดี VS ข้อเสีย ที่ส่งผลต่อโลก

SHARE

การใช้งานพลังงานนิวเคลียร์ (Nuclear Energy) เป็นอีกตัวเลือกของแนวคิดพลังงานสะอาดที่สามารถใช้ในระยะยาวได้ ด้วยประสิทธิภาพที่สูงและมลพิษจากการผลิตที่ค่อนข้างน้อย ทำให้มีคนจำนวนมากคาดหวังว่ามันจะเป็นที่พึ่งของ “สังคมไร้คาร์บอน (Zero Carbon Society)”

โดยในทางปฏิบัติ พลังงานนิวเคลียร์ไม่ได้ดีไปหมดเสียทีเดียว ยังคงไว้ซึ่งข้อเสียด้วยเช่นกัน และในบทความนี้จะเปรียบเทียบว่า ข้อดี ข้อเสีย ของพลังงานชนิดนี้คืออะไร และมีอะไรที่เราควรรู้ก่อนใช้พลังงานชนิดนี้บ้าง

เปรียบเทียบข้อดี ข้อเสีย ของพลังงานนิวเคลียร์

ข้อดี

ความมั่นคงทางพลังงาน 

พลังงานนิวเคลียร์นั้นมีการใช้เชื้อเพลิงที่น้อย แต่สามารถผลิดพลังงานได้มาก ทำให้หลายประเทศเช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เลือกใช้โรงไฟฟ้าประเภทนี้ควบคู่ไปกับการผลิตพลังงานสะอาดประเภทอื่นๆ ในปัจจุบัน 

การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์

ควันที่ถูกปล่อยออกจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ในความเป็นจริงแล้วคือไอน้ำที่เกิดจากระบบระบายความร้อนรวมถึงการผลิตไฟฟ้าเท่านั้น จึงไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวหากเทียบกับโรงไฟฟ้าประเภทอื่นๆ อีกทั้งยังมีปริมาณของเสียโดยรวมน้อยกว่าด้วย

พลังงานนิวเคลียร์

ข้อเสีย 

เงินลงทุนเริ่มต้นสูงมาก

แม้การลงทุนในพลังงานนิวเคลียร์จะมีต้นทุนด้านพลังงานต่ำ แต่กลับกันคือจำเป็นต้องมีการทุนด้านสิ่งก่อสร้าง ความปลอดภัย และการทำระบบต่างๆ สูงมาก รวมถึงใช้งานบุคลากรที่มีประสบการณ์ และมีงบประมาณซ่อมบำรุงมหาศาลอีกด้วย

เพิ่มความเสี่ยงจากอุบัติเหตุด้านนิวเคลียร์

อุบัติเหตุ เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านมานั้นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เคยมีปัญหาในรูปแบบนี้จริงๆ แม้ว่าจะเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณโรงไฟฟ้าทั่วโลก แต่ในอุบัติเหตุแต่ละครั้งนั้นกลับส่งผลกระทบให้คนจำนวนมากรอบโรงไฟฟ้าต้องอพยพจากสารกัมมันตรังสี และเปลี่ยนพื้นที่บางส่วนแถบนั้นให้กลายเป็นแดนรกร้างไปเลย ตัวอย่างเช่น กรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ในประเทศรัสเซีย และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ในประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

พลังงานนิวเคลียร์

พื้นที่เก็บกากกัมมันตรังสีมีจำกัด

สิ่งที่เป็นปัญหากับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แทบทุกแห่งเลยคือ การกำจัดกากกัมมันตรังสีที่มีการใช้แล้วจากโรงไฟฟ้า ซึ่งจำเป็นต้องใช้งานพื้นที่เป็นจำนวนมาก และหากมีการบำรุงรักษาไม่ดี ก็มีโอกาสที่รังสีจะรั่วไหลด้วยเช่นเดียวกัน อีกทั้งกากกัมมันตรังสีบางส่วนยังมีความเสี่ยงที่จะถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบอาวุธนิวเคลียร์ได้ จึงต้องมีการดูแลรักษาอย่างเข้มงวด

การใช้งานพลังงานนิวเคลียร์นอกจากในโรงไฟฟ้า

เนื่องจากพลังงานนิวเคลียร์ค่อนข้างใช้งานยาก นอกจากในโรงไฟฟ้าแล้ว ยังมีการใช้งานในเรือรบขนาดใหญ่และสถาบันวิจัยบางแห่งเท่านั้น 

ล่าสุดยังคงมีความพยายามจากบางบริษัทในการปรับสเกลการผลิตพลังงานนิวเคลียร์เพื่อให้มีการใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น เช่น บริษัท NuScale Power ที่วางแผนสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก เพื่อการใช้งานที่ทั่วถึงและปลอดภัยยิ่งขึ้น ซึ่งในปัจจุบันได้รับอนุญาตดีไซน์จากทางหน่วยงานด้านพลังงานนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกา และวางแผนจะทดลองต่อในระยะยาวแล้ว

พลังงานนิวเคลียร์

สตาร์ทอัพพลังงานนิวเคลียร์ 

พลังงานนิวเคลียร์เองก็มีสตาร์ทอัพเช่นเดียวกับพลังงานชนิดอื่นๆ โดยมีตัวอย่างดังนี้

Commonwealth Fusion Systems

Commonwealth Fusion Systems

สตาร์ทอัพเจ้าดังที่คิดค้นและวางแผนจะนำพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชั่น* ซึ่งเป็นการทำงานอีกรูปแบบของพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ ทาง Commonwealth Fusion Systems คาดหวังว่าโครงการของพวกเขาจะลดการใช้ทรัพยากรในการผลิตพลังงานนิวเคลียร์ สร้างแหล่งพลังงานที่สูงมากพอจะเป็นพลังงานนิรันดร์ในอนาคตได้

*นิวเคลียร์ฟิวชั่น: เกิดจากการรวมตัวของนิวเคลียสของธาตุน้ำหนักเบา ทำให้เกิดนิวเคลียสธาตุที่มีน้ำหนักมากขึ้น และการรวมตัวดังกล่าวจะก่อให้เกิดพลังงานมหาศาลออกมา ปฏิกิริยานี้ทำให้เกิดได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากจะต้องใช้อุณหภูมิที่สูงมากพอเพื่อทำให้เกิดการหลอมรวม

**นิวเคลียร์ฟิชชั่น: ปฏิกิริยานิวเคลียร์ที่เกิดจากการยิงอนุภาคนิวตรอนใส่ธาตุหนัก ทำให้อะตอมแตกตัวออกเป็นสองส่วน พร้อมปลดปล่อยพลังงานจำนวนมากออกมา เป็นปฏิกริยาที่ตรงข้ามกับนิวเคลียร์ๆฟิวชั่น

ข้อมูลจาก http://www.ned.egat.co.th/

Flibe Energy 

สตาร์ทอัพที่มีความพยายามในการพัฒนาเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์รูปแบบ Liquid Fluoride Thorium Reactor หรือ เตาปฏิกรณ์ทอเรียม ซึ่งมีความปลอดภัยสูงกว่า ถูกกว่า และมีประสิทธิภาพมากกว่าเทคโนโลยีเตาปฏิกรณ์ปัจจุบัน

ยังมีสตาร์ทอัพอีกไม่น้อยที่สนใจพลังงานนิวเคลียร์และต้องการนำนิวเคลียร์มาใช้งาน แต่แน่นอนว่าด้วยความยุ่งยากและค่าใช้จ่ายที่สูง ทำให้ไม่มีบริษัทไหนที่สามารถสร้างชื่อและประสบความสำเร็จได้ง่ายดายนัก คงต้องติดตามกันต่อว่าพลังงานนิวเคลียร์ในอนาคตจะเป็นเช่นไร และเราจะมีโอกาสได้ใช้ไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ในประเทศไทยหรือไม่

สรุป

พลังงานนิวเคลียร์นั้นมีข้อดีที่เป็นพลังงานสะอาด สามารถผลิตได้ในปริมาณมาก และมีความคุ้มค่าสูง อย่างไรก็ตาม พลังงานชนิดนี้ต้องการใช้เงินลงทุนที่สูง และระบบรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด  มิฉะนั้นอาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้

New call-to-action

สวย ใส ใช้พลังงานแสงอาทิตย์กับ Energy Transparent Glass

SHARE

หากพูดถึงการใช้งานพลังงานแสงอาทิตย์ ภาพอันแสนชินตาของทุกคนย่อมเป็นโซลาร์เซลล์สีทึบๆ ที่ตั้งเรียงรายกันเป็นฟาร์ม หรือแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งอยู่บนหลังคาบ้าน แต่ภาพจำนั้นอาจเปลี่ยนไปในอนาคต กับการมาของ Energy Transparent Glass โซลาร์เซลล์รูปแบบใหม่แห่งอนาคต

Energy Transparent Glass คืออะไร 

Energy Transparent Glass คือนวัตกรรมการสร้าง “โซลาร์เซลล์โปร่งแสง” ที่เหมาะกับการประยุกต์ใช้กับอาคารบ้านเรือนทั่วไป จนถึงตึกสูงตามเมืองต่างๆ ที่ในปัจจุบันนิยมใช้การตกแต่งภายนอกอาคารด้วยกระจกใส ทำให้ผู้คนที่อยู่ภายในสามารถมองเห็นทัศนียภาพได้ชัดเจน

โดยโซลาร์เซลล์ชนิดนี้จะมีความบางกว่า ใช้งานง่ายกว่า และด้วยสีที่ใส ไม่ดำทึบแบบสมัยก่อน อีกทั้งยังคงประสิทธิภาพของการดูดซับและเปลี่ยนแปลงแสงอาทิตย์มาเป็นพลังงานได้ดังเดิม

แน่นอนว่าเทคโนโลยีแบบนี้ไม่ได้มีการพัฒนาเพียงเจ้าเดียว แนวคิดของ Energy Transparent Glass มีการรังสรรค์และต่อยอดไปมากมายหลายสถาบัน โดยมีรูปแบบการทำงานที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

ClearView Power 

เทคโนโลยีนี้มีการวิจัยและพัฒนาโดย Ubiquitous Energy ที่มีการเปิดตัวไปช่วงปี 2013 และพัฒนาต่อยอดมาในปัจจุบัน ซึ่งเป็นฟิลม์ใสสามารถมองทะลุได้ด้วยตาเปล่า มีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนแสงอาทิตย์เป็นพลังงานอยู่ที่ 9.8%

โดยในปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์บ้างแล้ว ทั้งในส่วนของการใช้ร่วมกับอุปกรณ์ต่างๆ และติดตั้งบนกระจกอาคารอีกด้วย

SmartSkin

เทคโนโลยีนี้ถูกพัฒนาจากบริษัท Physee จากยุโรป โดยอยู่ในรูปแบบของกระจกใสที่ทำงานในรูปแบบเดียวกับโซลาร์เซลล์ เพื่อสร้างพลังงานภายในอาคาร ซึ่งในปัจจุบันมีการใช้งานเชิงพาณิชย์แล้ว ซึ่งทางบริษัท Physee เองก็ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีนี้ด้วย เช่นการทำระบบอัตโนมัติและการเก็บข้อมูลพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อประมวลผล เป็นต้น

Energy Transparent Glass

Transparent Crystalline Silicon 

เทคโนโลยีนี้ได้รับการวิจัยและพัฒนาจากสถาบัน Ulsan National Institute of Science and Technology (UNIST) ในเกาหลีใต้ โดยการนำ Crystalline Silicon (c-Si)  ที่เป็นวัสดุสำหรับทำเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ มาทำให้เป็นแผ่นฟิล์มบาง มีความโปร่งแสง แต่ยังคงประสิทธิภาพในการเปลี่ยนแปลงแสงอาทิตย์เป็นพลังงานถึง 12.2%

ก้าวถัดไปของเทคโนโลยีดังกล่าวคือการพัฒนาเพื่อผลิตจำนวนมาก เพื่อใช้งานเป็น Solar Windows ตามบ้านคนจริงๆ  รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการแปลงพลังงานเป็น 15% 

คุณ Kwanyong Seo หนึ่งในทีมพัฒนาระบุไว้ว่า “เรายังต้องการให้มันมีความเสถียรเชิงกล (Mechanical Stability) และความแข็งแรงที่มากขึ้น เพื่อที่จะสามารถนำไปแทนที่บานกระจกบนอาคารต่างๆ ที่ใช้งานในปัจจุบัน”

เทคโนโลยีด้านบนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการพัฒนา Energy Transparent Glass หรือโซลาร์เซลล์แบบโปร่งแสงเท่านั้น ยังมีทีมพัฒนาอีกมากที่สนใจในการประยุกต์ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ให้มีความเข้าถึงง่ายขึ้น สะดวกมากขึ้น และสามารถใช้งานได้หลากหลายขึ้น

การใช้งาน Energy Transparent Glass ในอนาคต

Energy Transparent Glass ในปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยและพัฒนา เพื่อปรับปรุงศักยภาพของการแปลงแสงอาทิตย์เป็นพลังงานให้ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งความคาดหวังสำหรับการใช้พลังงานสะอาดที่น่าสนใจอย่างมากในสังคม โดยหากเปรียบเทียบกับการใช้งานพลังงานแสงอาทิตย์ในปัจจุบันแล้ว เรายังสามารถประยุกต์ใช้งาน Energy Transparent Glass ได้หลากหลาย ดังนี้

  • ใช้ร่วมกับรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อสนับสนุนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานสำรอง
  • ใช้งานภาคครัวเรือน ติดตั้งตามบ้านเรือนต่างๆ แทนกระจกหน้าต่าง
  • ประยุกต์ใช้งานกับสถานที่สาธารณะต่างๆ เช่น ป้ายรถเมล์ เพื่อเพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งานที่มากขึ้น
  • ติดตั้งตามอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้สามารถใช้งานเทคโนโลยี IoT ได้โดยมีพลังงานในตัว

แม้ว่าจะมีโอกาสในการการประยุกต์ใช้งานที่หลากหลายแต่ทว่าเทคโนโลยี Energy Transparent Glass นั้นยังติดประเด็นในส่วนของ “ราคา” ที่ในปัจจุบันอาจสูงไปสักเล็กน้อยหากเทียบกับการใช้งานพลังงานรูปแบบอื่นๆ รวมถึงการเข้าถึงลูกค้าที่อยู่นอกประเทศผู้พัฒนา ที่ยังนับว่าไม่ได้มีการโปรโมทได้มากเท่าที่ควร

พลังงานแสงอาทิตย์ไทยกับเทคโนโลยี Energy Transparent Glass

ประเทศไทยเองก็เป็นอีกประเทศที่มีการผลักดันพลังงานแสงอาทิตย์เป็นอย่างมาก ทว่ายังขาดความชัดเจนในการดำเนินนโยบายลงมายังภาคประชาชน จนทำให้หลายๆ คนยังรู้สึกว่าพลังงานประเภทนี้ยัง “ไกลตัว” ประชาชนคนไทยมากกว่าพลังงานชนิดอื่น

หากเทคโนโลยี Energy Transparent Glass มีการประดิษฐ์และต่อยอดในประเทศไทยเรา ก็ไม่แน่ว่ามันอาจเปลี่ยนภาพลักษณ์ของเจ้าแผ่นโซลาร์เซลล์สีดำๆ เป็นอะไรที่จับต้องได้มากขึ้น ทั้งนี้ก็ต้องจับตาดูว่าหากมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้จริง จะมีภาคส่วนใดเข้ามาสนับสนุน เปิดกว้างการใช้งานได้อย่างเต็มที่มากน้อยขนาดไหน หรือจะกลายเป็นเทคโนโลยีที่มาแล้วก็ไป ไม่ได้มีการนำมาใช้ในสังคมไทยกันแน่

New call-to-action
  • SUBSCRIBE TO BE
    THE FIRST INNOVATOR.

logo