Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

Waste Management ปัญหาใหญ่ที่ธุรกิจสามารถแก้ไขได้

SHARE

Waste Management ปัญหาใหญ่ที่ธุรกิจสามารถแก้ไขได้

เจ้าของธุรกิจหลายคนมองข้ามความสำคัญของ Waste Management ซึ่งเป็นกลยุทธ์การจัดการขยะและของเสียรูปแบบต่างๆ เริ่มตั้งแต่การกำหนดวิธีที่ธุรกิจใช้ผลิตสินค้าไปจนถึงขั้นตอนการจัดการขยะในท้ายที่สุด นอกจากจะช่วยลดต้นทุนและสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ยังส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้ธุรกิจของคุณได้อีกทางหนึ่งด้วย

อยากรู้ว่า Waste Management คืออะไร? มีหลักการจัดการของเสียที่ภาคธุรกิจนำไปปรับใช้ได้ยังไง? ต้องอ่านบทความนี้

waste plastic bottles

Waste Management คืออะไร?

Waste Management คือ กระบวนการจัดการขยะและของเสียตั้งแต่การรวบรวม การขนส่ง การบำบัด และการกำจัดในขั้นตอนสุดท้าย ควบคู่ไปกับการติดตามและควบคุมกระบวนการจัดการของเสียให้ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง

ขยะและของเสียจำนวนมากมีที่มาจากกิจกรรมทางอุตสาหกรรม การค้า และภายในครัวเรือน อาจเป็นได้ทั้งของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซ ซึ่งแต่ละประเภทก็มีวิธีการกำจัดที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ ของเสียบางอย่างอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้หากมีการจัดการที่ไม่ถูกต้องจนเกิดการปนเปื้อนลงในน้ำ ดิน และอาหาร

Waste Management จึงมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อลดปริมาณขยะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งช่วยป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพของมนุษย์ด้วย

หลักการจัดการของเสีย (Waste Management) สำหรับภาคธุรกิจ

เจ้าของธุรกิจต่างๆ ที่ต้องการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาการจัดการและกำจัดของเสียสามารถนำหลักการต่อไปนี้ไปปรับใช้ในการประเมินแนวทางปฏิบัติที่มีอยู่เดิมและวางแผนเพิ่มเติมสำหรับอนาคต เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัยต่อสุขภาพในระยะยาว

1. ตรวจสอบของเสีย

ขั้นตอนสำคัญอันดับแรกที่ควรทำ คือ การตรวจสอบของเสียภายในองค์กรโดยอาจทำงานร่วมกับบริษัทรับตรวจสอบมืออาชีพ หรือตรวจสอบเองภายในองค์กรก็ได้เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึก เช่น ประเภทและปริมาณของเสียที่ธุรกิจของคุณสร้างขึ้น รวมถึงงบประมาณในการจัดการของเสียที่บริษัทต้องจ่ายในแต่ละปี ซึ่งจะช่วยประเมินได้ว่าที่ผ่านมาธุรกิจของคุณต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการจัดการของเสียมากเกินไปไหม หากลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลงจะช่วยลดต้นทุนให้กับธุรกิจได้มากแค่ไหน

ตัวอย่างวิธีการตรวจสอบของเสียประเภทขยะอาหารสำหรับธุรกิจร้านอาหารและโรงแรม

Unilever Food Solutions ได้พัฒนาและจัดทำข้อมูล Waste Audit 101 ร่วมกับ Sustainable Restaurant Association UK โดยมีขั้นตอน ดังนี้

1.เริ่มตั้งค่าห้องครัวด้วยการดาวน์โหลด ‘Waste management’ Toolkit เพื่อใช้ฝึกอบรมพนักงาน รวมถึงการจัดทำป้ายและถังขยะประเภทต่างๆ ภายในห้องครัวด้วย

2.ดำเนินการตรวจสอบของเสียที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน เช่น อาหารเน่าเสีย อาหารที่ไม่สามารถกู้คืนได้ เช่น อาหารในไลน์บุฟเฟ่ต์ และอาหารที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ เก็บข้อมูลและติดตามผลโดยละเอียด

3.นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และวางแผนลดปริมาณขยะอาหารซึ่งเริ่มต้นได้ตั้งแต่กระบวนการในครัว

4.หลังจากดำเนินการตามแผนที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง 1-2 เดือน ลองตรวจสอบปริมาณของเสียและคำนวณดูว่าช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับธุรกิจของคุณได้มากแค่ไหน

Recycling Bales

2. ลดปริมาณของเสีย

วิธีที่ง่ายและประหยัดที่สุดในการจัดการของเสีย คือ การวางแผนลดปริมาณของเสียให้ได้มากที่สุดในทุกขั้นตอนการดำเนินงานของธุรกิจ เนื่องจากบริษัทหรือหน่วยงานที่ให้บริการจะคำนวณและเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากปริมาณของเสียที่สร้างขึ้น

แม้ว่าในบางบริษัทใหญ่ๆ งบประมาณด้านการจัดการของเสียอาจไม่เป็นปัญหา แต่อย่าลืมว่าการลดปริมาณของเสียไม่เพียงช่วยลดต้นทุน ยังช่วยให้ธุรกิจของคุณมีภาพลักษณ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในสายตาผู้บริโภคมากขึ้นด้วย

ตัวอย่างวิธีกำจัดและลดปริมาณของเสียภายในองค์กรก่อนส่งต่อบริษัทจัดการของเสีย เช่น

  • การทำปุ๋ยหมัก: หากธุรกิจของคุณผลิตขยะอินทรีย์เป็นส่วนใหญ่ การใช้ถังหรือเครื่องทำปุ๋ยหมักเป็นวิธีที่สะดวกและประหยัดต้นทุนในการกำจัดขยะ แถมยังช่วยฟื้นฟูบำรุงดินให้อุดมสมบูรณ์ได้อีกด้วย
  • การรีไซเคิล: ช่วยลดขยะได้หลายรูปแบบ แต่ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าพนักงานของคุณมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องการคัดแยกขยะประเภทต่างๆ เป็นอย่างดี ก่อนนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล
  • การออกแบบบรรจุภัณฑ์: ออกแบบบรรจุภัณฑ์สินค้าที่คุณผลิตให้ใช้วัสดุสิ้นเปลืองน้อยที่สุดและหลีกเลี่ยงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อลดการสร้างขยะโดยไม่จำเป็นตั้งแต่ต้นทาง
  • การลดใช้กระดาษ: เปลี่ยนธุรกิจของคุณให้เป็นองค์กรไร้กระดาษ เริ่มต้นด้วยการแปลงข้อมูลเก่าให้เป็นดิจิทัลและกำหนดนโยบายการดำเนินงานใหม่ เช่น การส่งใบแจ้งหนี้ทางอีเมลหรือรับชำระเงินออนไลน์เท่านั้น
    recyclable material waste

    3. ลดต้นทุนด้านการจัดการของเสีย

    แม้จะมีแนวทางปฏิบัติในการลดปริมาณของเสียเบื้องต้นแล้ว แต่ก็อาจมีของเสียบางประเภทที่ธุรกิจผลิตขึ้นและยังคงเหลืออยู่ซึ่งจำเป็นต้องใช้บริการบริษัทกำจัดของเสียมืออาชีพเพื่อดำเนินการจัดการให้ถูกต้องตามกฎหมายและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม คุณสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ โดยพิจารณาจากปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

    • ค่าธรรมเนียมพิเศษ: บริษัทจัดการของเสียมักเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน เช่น ค่าธรรมเนียมส่วนเกินหากมีปริมาณของเสียมากกว่าที่กำหนด ค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง ค่าขนส่งขยะ ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับกฎข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อม ​​เป็นต้น ซึ่งบางครั้งมีวิธีที่ช่วยลดหรือยกเลิกค่าธรรมเนียมพิเศษเหล่านี้ได้ หากธุรกิจของคุณมีการวางแผนจัดการของเสียล่วงหน้า
    • การจัดซื้ออุปกรณ์กำจัดของเสีย: ก่อนตัดสินใจซื้อเครื่องจักรหรืออุปกรณ์กำจัดของเสียมาใช้ในองค์กร ควรพิจารณาให้รอบคอบทั้งเรื่องความถี่และความจำเป็นในการใช้งาน ค่าซ่อมแซมและบำรุงรักษาในระยะยาว เพื่อประเมินความคุ้มค่าและเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายระหว่างการซื้ออุปกรณ์มาใช้เองกับการจ้างบริษัทจัดการของเสีย
    • การขึ้นค่าบริการของบริษัทจัดการของเสีย: บริษัทจัดการของเสียมักจะขึ้นค่าบริการเมื่อเวลาผ่านไปเช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ คุณจึงควรพิจารณาว่าการเพิ่มขึ้นของค่าบริการเหล่านี้สมเหตุสมผลไหม ธุรกิจของคุณสามารถลดการใช้บริการบางอย่างที่ไม่จำเป็นหรือเจรจาต่อรองเพื่อทำสัญญาภายใต้ข้อตกลงใหม่ได้หรือไม่ เป็นต้น

    สรุป

    Waste Management คือ แนวทางการจัดการที่ภาคธุรกิจสามารถช่วยลดปริมาณของเสียควบคู่ไปกับการลดค่าใช้จ่ายในการใช้บริการบริษัทกำจัดของเสีย แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก โดยเฉพาะสำหรับเจ้าของธุรกิจใหม่ที่ยังไม่มีความรู้และประสบการณ์ด้านการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ

    วิธีเริ่มต้นที่ดีที่สุดคือการตรวจสอบของเสียที่ธุรกิจของคุณผลิตขึ้น เพื่อให้เข้าใจสภาพปัญหาและรู้ว่าต้องปรับปรุงแก้ไขขั้นตอนไหนบ้าง จากนั้นจึงมองหาวิธีกำจัดและลดปริมาณของเสียให้ได้มากที่สุด ก่อนส่งต่อให้บริษัทกำจัดของเสียมืออาชีพดำเนินการในส่วนที่เหลือ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ยังเป็นหนทางที่ธุรกิจของคุณจะช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมให้กับโลกใบนี้ได้อีกทางหนึ่งด้วย

    ติดตามข่าวสารและคอนเทนต์ดีๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อมที่คุณไม่ควรพลาด

    ได้ที่ Facebook PTT ExpresSo

    New call-to-action

Power Purchase Agreement (PPA) สำคัญต่อภาคธุรกิจอย่างไร?

SHARE

Power Purchase Agreement (PPA) สำคัญต่อภาคธุรกิจอย่างไร?

เมื่อปัญหาภาวะโลกร้อนถูกจุดประเด็นขึ้นและได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา การเลือกพลังงานสะอาดสำหรับผลิตไฟฟ้าและการกำหนด PPA (Power Purchase Agreement) จึงเป็นเรื่องที่ทั้งโลกต่างให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากประเด็น Let The Earth Breathe ที่นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษออกมาประท้วงให้หยุดยั้งการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลซึ่งเป็นสาเหตุของการเร่งปฏิกิริยาภาวะโลกร้อน ทำให้เราทุกคนหันกลับมาตระหนักถึงปัญหานี้อีกครั้ง

“พวกเราต่างรู้ดีว่าโลกของเรากำลังร้อนขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่สามารถหยุดยั้งได้ แล้วอะไรบ้างล่ะที่ทุกคนสามารถทำเพื่อชะลอความรุนแรงของภาวะโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้?”

การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานฟอสซิลเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดมลพิษและภาวะโลกร้อน นอกจากนี้ การใช้ไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ก็มีต้นทุนสูงและความเสี่ยงที่มากกว่า ดังนั้น การใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด (Green Energy) จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เราช่วยกันได้

PPA คืออะไร?

PPA (Power Purchase Agreement) คือ ข้อตกลงการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนระหว่างภาครัฐและเอกชนที่เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าขึ้นมาใช้เอง เช่น ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจที่มีพลังงานหมุนเวียนและสามารถผลิตไฟฟ้าได้ ธุรกิจที่ติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้าสำหรับนำไปใช้ในภาคธุรกิจ หรือแม้แต่การติดตั้งโซลาร์เซลล์สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เองภายในครัวเรือน

นอกจาก PPA แล้วยังมี Private PPA ซึ่งเป็นข้อตกลงการซื้อขายพลังงานหมุนเวียนเช่นกัน แต่เป็นข้อตกลงระหว่างเอกชนกับเอกชน โดยส่วนมากจะเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด หรือ บริษัทที่รับติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์พร้อมสัญญาเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่สนใจโดยไม่ต้องไปติดต่อกับทางภาครัฐเอง

renewable energy

Power Purchase Agreement ในประเทศไทยครอบคลุมแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่ไม่ใช่พลังงานจากนิวเคลียร์และพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ

ตัวอย่างพลังงานหมุนเวียน

  • พลังงานสะอาดนอกรูปแบบ: พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังน้ำ
  • พลังงานจากภาคการผลิตอุตสาหกรรมการเกษตร: เศษวัสดุเหลือใช้ อาหาร ปุ๋ย มูลสัตว์ และไอน้ำจากกระบวนการผลิตทางการเกษตร
  • พลังงานสูญเสีย: พลังงานจากความร้อนไอเสียเครื่องยนต์หรือเครื่องจักรต่างๆ
  • พลังงานผลพลอยได้: พลังงานกลซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการปรับลดความดันของก๊าซธรรมชาติ
  • พลังงานจากขยะมูลฝอย
  • พลังงานจากเชื้อเพลิงไม้ในการปลูกป่า

วิดีโอนี้จะพาคุณไปทำความเข้าใจกับ PPA มากยิ่งขึ้น

PPA มีไว้สำหรับใคร

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า PPA คือ สัญญาข้อตกลงการใช้ไฟฟ้าระหว่างผู้ที่มีความสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองได้กับภาครัฐ (กฟผ.) ดังนั้น ข้อกำหนด PPA จึงมีไว้สำหรับผู้ที่ต้องการเปลี่ยนโมเดลการใช้พลังงานไฟฟ้าจากภาครัฐมาเป็นการผลิตไฟฟ้าใช้เอง รวมถึงภาคธุรกิจที่สามารถสร้างพลังงานหมุนเวียนเพื่อผลิตไฟฟ้าได้ และผู้ที่ต้องการทำธุรกิจผลิตไฟฟ้า เป็นต้น

PPA มีความสำคัญอย่างไร?

ปัจจุบันภาคธุรกิจใหญ่ๆ ในประเทศไทยหลายเจ้าได้ให้ความสำคัญกับประเด็นภาวะโลกร้อนและเปลี่ยนมาใช้ “พลังงานหมุนเวียน” ผลิตไฟฟ้าสำหรับใช้ในภาคธุรกิจแทน โดยภาคธุรกิจหรือครัวเรือนใหญ่ที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้เองอาจมีข้อจำกัดเรื่องปริมาณการผลิตและค่าใช้จ่าย ในกรณีที่ไม่สามารถดึงพลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตกระแสไฟได้เพียงพออาจต้องดึงพลังงานไฟฟ้าจากภาครัฐมาใช้ร่วมด้วยทำให้เกิดความยุ่งยากและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้ ข้อตกลง PPA จึงเป็นสิ่งที่จะเข้ามาช่วยอธิบายและให้ความกระจ่างเรื่องนี้ โดยในข้อตกลง PPA จะระบุข้อปฏิบัติต่างๆ ไว้ดังนี้

  • การเดินเครื่อง (Operating Characteristics)
  • ค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า (Availability Payments)
  • ค่าพลังงานไฟฟ้า (Energy Payments)
  • มาตรฐานทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Quality Standards)
  • การเก็บเชื้อเพลิงและสัญญาซื้อเชื้อเพลิง (Fuel Stocking and Fuel Purchase Agreement)
  • แผนงานก่อสร้าง ระบบส่งเชื่อมโยงระหว่างโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนกับระบบของ กฟผ. (New Transmission Facilities and Construction Schedule)
  • กำหนดการสำคัญตามสัญญา(Contracted Milestones)
  • ค่าเสียหายกรณีผิดสัญญา (Liquidated Damages)
  • เหตุสุดวิสัย (Force Majeures)
  • อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

การทำสัญญา PPA สามารถระบุได้ว่า ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องการผลิตไฟฟ้าใช้เองแบบครบวงจรหรือผสมผสานระหว่างการใช้ไฟฟ้าของภาครัฐกับการผลิตเองเพื่อให้เกิดความกระจ่างในเรื่องของค่าใช้จ่าย

colleagues signing ppa contract

ทำไมธุรกิจยุคใหม่ควรสนใจพลังงานสะอาดและ PPA ?

การผลิตไฟฟ้าใช้เองและการทำข้อตกลง PPA เป็นทางเลือกใหม่สำหรับธุรกิจและภาคครัวเรือน “เพราะคุณสามารถเลือกที่จะช่วยโลกให้ดีขึ้นไปพร้อมกับการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าให้น้อยลง นอกจากนี้ ยังช่วยแบ่งเบาภาระการผลิตไฟฟ้าและลดการพึ่งพาพลังงานจากภาครัฐได้อีกด้วย”

  • ช่วยชะลอภาวะโลกร้อน: การหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าจะช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกไปสู่ชั้นบรรยากาศซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน
  • ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย: การทำสัญญา PPA มีหลักการคิดค่าไฟฟ้าแบบเฉลี่ยคงที่ (Flat Rate) จึงช่วยให้คุณประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้จำนวนมากนั่นเอง โดยเฉพาะในธุรกิจที่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าปริมาณมาก การใช้พลังงานแสงอาทิตย์และการทำข้อตกลง PPA กับภาครัฐให้ชัดเจนจะช่วยให้คุณกำหนดและลดงบประมาณต่อปีได้อย่างมหาศาล 
  • นำพลังงานหมุนเวียนเหลือใช้กลับมาใช้ประโยชน์: ปัจจุบันมีภาคธุรกิจมากมายที่ผลิตพลังงานหมุนเวียนจากการทำธุรกิจหรืออุตสาหกรรมแล้วปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งการเปลี่ยนพลังงานเหลือใช้มาเป็นไฟฟ้าเป็นอีกช่องทางที่จะช่วยเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายให้กับธุรกิจ 
  • กระจายอำนาจการผลิตและป้องกันความเสี่ยง: การผลิตไฟฟ้าใช้ได้ด้วยตัวเองยังเป็นการป้องกันความเสี่ยงด้านพลังงาน ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินที่ภาครัฐไม่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ประชาชนหรือภาคธุรกิจได้ ผู้ที่มีอำนาจผลิตไฟฟ้าใช้ได้ด้วยตัวเองจะไม่ได้รับผลกระทบ

การเลือกใช้พลังงานสะอาดและข้อกำหนด PPA ให้ชัดเจนเป็นทางเลือกในการใช้โมเดลพลังงานแบบใหม่ที่น่าสนใจสำหรับภาคธุรกิจไม่น้อยเลยทีเดียว โดยข้อตกลงการใช้ไฟฟ้ามีทั้งในระดับโลก ระดับประเทศ และระดับพื้นที่ โดยในรายละเอียดยังสามารถแบ่งได้ตามประเภทและขนาดของโรงผลิตไฟฟ้า เช่น ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก โรงไฟฟ้าฉุกเฉิน โรงไฟฟ้าเคลื่อนที่ โรงไฟฟ้าภาคครัวเรือน โรงไฟฟ้าสังเคราะห์ และโรงไฟฟ้าที่ไม่มีการควบคุม เป็นต้น โดยในต่างประเทศก็มีทั้งสหรัฐอเมริกา อินเดีย เวียดนาม นามิเบีย เคนยา แทนซาเนีย ปากีสถาน ออสเตรเลีย และสเปนที่ทำข้อตกลง Power Purchase Agreement นี้เอาไว้อย่างจริงจัง

Green energy

สรุป

การเลือกใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียนสำหรับผลิตไฟฟ้าเป็นทางเลือกของธุรกิจในยุคนี้ที่จะช่วยชะลอภาวะโลกร้อน ลดค่าใช้จ่าย ลดภาระการพึ่งพาพลังงานจากภาครัฐ ป้องกันความเสี่ยง และกระจายอำนาจการผลิตไฟฟ้า แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเลือกใช้โมเดลพลังงานสะอาดทดแทนแล้วต้องไม่มองข้ามการทำข้อตกลงการใช้ไฟฟ้า PPA กับภาครัฐเพื่อให้เกิดข้อปฏิบัติที่ชัดเจน

ติดตามข่าวสารและคอนเทนต์ดีๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อมที่คุณไม่ควรพลาด

ได้ที่ Facebook PTT ExpresSo,m

New call-to-action
  • SUBSCRIBE TO BE
    THE FIRST INNOVATOR.

logo