Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

การบริหารแบบ Micromanagement: ข้อควรระวังในการขับเคลื่อนธุรกิจ Startup

SHARE

การบริหารแบบ Micromanagement ไม่ช่วยให้ Startup ไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืนและอาจสั่นคลอนความมั่นคงของธุรกิจได้อย่างไม่น่าเชื่อ

เนื่องจาก Micromanagement เป็นวิธีจัดการธุรกิจโดยสร้างภาพลวงตาว่าทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ก่อตั้ง และจะช่วยป้องกันไม่ให้มีความผิดพลาดใดๆ เกิดขึ้น แต่น่าเสียดายที่สิ่งที่คิดอาจตรงกันข้ามกับความเป็นจริง เพราะเมื่อผู้ก่อตั้งให้ความสำคัญกับงานยิบย่อยมากเกินไปก็จะไม่มีเวลามุ่งเน้นไปที่บทบาทและความรับผิดชอบในภาพรวม ซึ่งมีความสำคัญและส่งผลต่อความอยู่รอดของธุรกิจในระยะยาว

บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักว่า Micromanagement คืออะไร? มีผลกระทบอย่างไร? พร้อมแนะนำ 5 วิธีจัดการธุรกิจให้หลุดจากกรอบ Micromanagement

 Micromanagement startup ธุรกิจ ทางแก้

Micromanagement คืออะไร?

Micromanagement คือ การบริหารจัดการธุรกิจที่มุ่งเน้นการควบคุมมากเกินไป และใส่ใจในรายละเอียดเกี่ยวกับงานของลูกน้องมากกว่าการมองภาพใหญ่ของธุรกิจ ซึ่งในบางกรณีการจัดการรูปแบบนี้อาจเหมาะสม เช่น โครงการขนาดเล็ก แต่โดยทั่วไป Micromanagement มักมีความหมายเชิงลบเพราะแสดงให้เห็นถึงการขาดความไว้วางใจและจำกัดเสรีภาพในการทำงานของพนักงานมากเกินเหตุ

ต่อไปนี้ คือสัญญาณเตือนที่ควรระวังว่าคุณกำลังตกหลุมพรางของการบริหารธุรกิจ Startup แบบ Micromanagement อยู่หรือไม่

  • เชื่อมั่นในกระบวนการตัดสินใจจากบนลงล่าง
  • ใส่ใจรายละเอียดมากกว่าผลลัพธ์ปลายทาง
  • ล้มเหลวในการมอบหมายงาน และเข้าไปพัวพันกับการทำงานของลูกน้องมากเกินไป
  • ไม่ค่อยพอใจกับผลงานของลูกน้อง
  • ชอบให้ลูกน้องทำงานตามคำสั่งทุกขั้นตอน
  • ร้องขอให้มีการอัปเดตความคืบหน้าของงานบ่อยเกินไป
  • สนุกกับการจับผิดข้อบกพร่องและแก้ไขงานผู้อื่น

ผลกระทบของ Micromanagement ที่ควรระวัง

Micromanagement ส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการทำงานและทำให้ระดับการมีส่วนร่วมของพนักงานลดลง รวมทั้งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้พนักงานตัดสินใจลาออกจากบริษัท นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบด้านลบของ Micromanagement อีกมากมายที่ควรระวัง เช่น

  • Productivity หรือผลิตภาพ และอัตราการเติบโตของธุรกิจลดลง
  • ปิดกั้นโอกาสในการริเริ่มนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ
  • พนักงานไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน เพราะไม่รู้ว่าผลงานที่ทำจะได้รับการชื่นชมหรือมีคุณค่าสำหรับบริษัทหรือไม่
  • พนักงานสูญเสียความมั่นใจในการทำงานและมีแนวโน้มที่จะพึ่งพาผู้จัดการมากขึ้น
  • พนักงานขาดแรงบันดาลใจที่จะเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเอง
  • ปัญหาสุขภาพจิตและความเครียดอันเนื่องมาจากการถูกตำหนิหรือต้องคอยรองรับอารมณ์ของผู้จัดการอยู่เป็นประจำ
  • พนักงานรู้สึกไม่มั่นคงในการทำงาน กลัวถูกลดตำแหน่งหรือโดนไล่ออกโดยไม่เป็นธรรม

Micromanagement startup ธุรกิจ ทางแก้

5 วิธีจัดการธุรกิจให้หลุดจากกรอบ Micromanagement

กุญแจสำคัญของการจัดการธุรกิจให้หลุดจากกรอบ Micromanagement คือ การไว้วางใจและปล่อยวางในส่วนงานที่ความเสี่ยงน้อย ผู้ก่อตั้ง Startup ส่วนใหญ่มักประสบปัญหาไม่กล้ามอบความไว้วางใจให้กับพนักงานอย่างเต็มที่ เพราะยังกลัวความเสี่ยงและความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจ หากไม่ได้เป็นผู้ควบคุมดูแลทุกอย่างด้วยตัวเอง

ต่อไปนี้ คือ 5 วิธีที่จะช่วยให้คุณปล่อยวางและสามารถจัดการธุรกิจออกจากกรอบ Micromanagement ได้สำเร็จ

1. จ้างงานเฉพาะคนที่ใช่

กระบวนการจ้างงานเป็นขั้นตอนสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่ดีขึ้น เพราะการจ้างคนที่ใช่จะช่วยให้คุณอุ่นใจได้เสมอ โดยเฉพาะพนักงานที่มีความรับผิดชอบสูงจะทำให้คุณสามารถมองข้ามการจัดการแบบ Micromanagement และยอมมอบความไว้วางใจให้ทำงานต่างๆ แทนมากขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้น ควรใช้เวลากับกระบวนการสรรหาและตรวจสอบให้แน่ใจว่า ผู้สมัครคนใดที่มีความเหมาะสมทั้งในแง่คุณสมบัติและความเข้าใจเกี่ยวกับงานตรงตามที่บริษัทกำลังมองหาอยู่มากที่สุด

2. บอกความคาดหวัง ไม่ใช่งาน

ก่อนจะเริ่มต้นทำโครงการอะไร ให้คุณบอกเป้าหมายและความคาดหวังที่ชัดเจนแทนการอธิบายแบบลงรายละเอียดเกี่ยวกับงานแต่ละอย่างว่าใครต้องทำอะไรและต้องทำอย่างไร จากนั้น ให้พนักงานเป็นคนรับผิดชอบการทำงานเพื่อนำไปสู่เป้าหมายนั้นเอง ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดแรงกดดันให้พนักงานไม่รู้สึกว่าถูกควบคุมตลอดเวลา และเปลี่ยนบทบาทของคุณให้กลายเป็นผู้นำที่คอยสนับสนุนเมื่อลูกน้องต้องการ

3. มอบหมายความไว้วางใจทีละเล็กทีละน้อย

การเปลี่ยนจาก Micromanagement เต็มรูปแบบไปสู่การมีส่วนร่วมด้านการจัดการที่น้อยลงอาจเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ก่อตั้ง Startup ซึ่งในทางปฏิบัติ คุณไม่จำเป็นต้องเร่งรัดการเปลี่ยนแปลงด้วยการมอบความรับผิดชอบทั้งหมดให้ผู้อื่นทันที หรือละทิ้งการบริหารจัดการทุกอย่างไปแบบปัจจุบันทันด่วน แต่สามารถเริ่มต้นด้วยการมอบหมายงานให้กับพนักงานที่เหมาะสมทีละเล็กทีละน้อยเพื่อถอยบทบาทออกมาอย่างช้าๆ วิธีนี้จะช่วยให้ทั้งคุณและพนักงานได้มีเวลาปรับตัวและเตรียมความพร้อม รวมทั้งช่วยลดความกังวลของคุณและป้องกันความเสี่ยงในด้านต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจได้อีกด้วย

4. ส่งเสริมวัฒนธรรมการสื่อสารที่เปิดกว้าง

Micromanagement เป็นสาเหตุของการขาดความไว้วางใจและทำให้เกิดปัญหาด้านการสื่อสารระหว่างลูกน้องกับหัวหน้า หรือลูกจ้างกับนายจ้าง ดังนั้น ถ้าต้องการให้บริษัทของคุณมีวัฒนธรรมการทำงานและการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในฐานะผู้ก่อตั้งจึงต้องทำให้พนักงานรู้สึกสบายใจที่จะแบ่งปันความคิดเห็น กล้าที่จะบอกปัญหาและข้อเสนอแนะในการทำงานกับคุณได้อย่างสนิทใจ ซึ่งวิธีนี้จะเป็นรากฐานของการสร้างทีมที่แข็งแกร่งทั้งด้านความคิด คำพูด และการลงมือทำ

5. ให้พนักงานมีส่วนร่วมหรือมีความเป็นเจ้าของ

ลองเปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจ เช่น การให้สิทธิ์ถือหุ้น วิธีนี้จะทำให้พนักงานรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท ไม่ใช่แค่คนที่รับจ้างทำงานให้เพียงอย่างเดียว จึงช่วยกระตุ้นให้พวกเขาอยากทำงานหนักขึ้น รวมทั้งตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ ด้วยความรอบคอบและชาญฉลาดยิ่งขึ้น เพื่อปกป้องผลประโยชน์และสร้างผลกำไรที่มากขึ้นให้กับบริษัท

สรุป

ผู้ก่อตั้ง Startup มักตกหลุมพรางของ Micromanagement เพราะเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจมาตั้งแต่เริ่มต้น จึงมั่นใจว่าตนเองคือบุคคลเดียวที่สามารถตัดสินใจและควบคุมการดำเนินงานต่างๆ ได้ดีที่สุด แต่ถ้ายังดึงดัน ไม่ยอมปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการธุรกิจด้วยการมองภาพใหญ่ให้มากขึ้น ก็อาจนำไปสู่ปัญหาที่บานปลายจนทำให้ธุรกิจต้องสะดุดล้มลงในที่สุด

แม้ว่าการปล่อยวางเพื่อเปลี่ยนแปลงจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่เมื่อผู้ก่อตั้ง Startup เริ่มตระหนักและเข้าใจถึงปัญหาก็จะนำไปสู่การเรียนรู้วิธีจัดการธุรกิจให้หลุดจากกรอบ Micromanagement ด้วยการสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่ทุกคนเป็นเจ้าของความสำเร็จของบริษัท รวมทั้งสามารถค้นหาจุดสมดุลระหว่างการมอบความไว้วางใจกับการควบคุมพนักงาน เพื่อช่วยขับเคลื่อนธุรกิจ Startup ให้เติบโตต่อไปในอนาคตได้อย่างยั่งยืน

 

ติดตามข่าวสารและคอนเทนต์ดีๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อมที่คุณไม่ควรพลาด

ได้ที่ Facebook PTT Expresso

New call-to-action
  • SUBSCRIBE TO BE
    THE FIRST INNOVATOR.

logo