Power Purchase Agreement (PPA) สำคัญต่อภาคธุรกิจอย่างไร?
เมื่อปัญหาภาวะโลกร้อนถูกจุดประเด็นขึ้นและได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา การเลือกพลังงานสะอาดสำหรับผลิตไฟฟ้าและการกำหนด PPA (Power Purchase Agreement) จึงเป็นเรื่องที่ทั้งโลกต่างให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากประเด็น Let The Earth Breathe ที่นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษออกมาประท้วงให้หยุดยั้งการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลซึ่งเป็นสาเหตุของการเร่งปฏิกิริยาภาวะโลกร้อน ทำให้เราทุกคนหันกลับมาตระหนักถึงปัญหานี้อีกครั้ง
“พวกเราต่างรู้ดีว่าโลกของเรากำลังร้อนขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่สามารถหยุดยั้งได้ แล้วอะไรบ้างล่ะที่ทุกคนสามารถทำเพื่อชะลอความรุนแรงของภาวะโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้?”
การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานฟอสซิลเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดมลพิษและภาวะโลกร้อน นอกจากนี้ การใช้ไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ก็มีต้นทุนสูงและความเสี่ยงที่มากกว่า ดังนั้น การใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด (Green Energy) จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เราช่วยกันได้
PPA คืออะไร?
PPA (Power Purchase Agreement) คือ ข้อตกลงการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนระหว่างภาครัฐและเอกชนที่เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าขึ้นมาใช้เอง เช่น ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจที่มีพลังงานหมุนเวียนและสามารถผลิตไฟฟ้าได้ ธุรกิจที่ติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้าสำหรับนำไปใช้ในภาคธุรกิจ หรือแม้แต่การติดตั้งโซลาร์เซลล์สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เองภายในครัวเรือน
นอกจาก PPA แล้วยังมี Private PPA ซึ่งเป็นข้อตกลงการซื้อขายพลังงานหมุนเวียนเช่นกัน แต่เป็นข้อตกลงระหว่างเอกชนกับเอกชน โดยส่วนมากจะเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด หรือ บริษัทที่รับติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์พร้อมสัญญาเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่สนใจโดยไม่ต้องไปติดต่อกับทางภาครัฐเอง
Power Purchase Agreement ในประเทศไทยครอบคลุมแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่ไม่ใช่พลังงานจากนิวเคลียร์และพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ
ตัวอย่างพลังงานหมุนเวียน
- พลังงานสะอาดนอกรูปแบบ: พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังน้ำ
- พลังงานจากภาคการผลิตอุตสาหกรรมการเกษตร: เศษวัสดุเหลือใช้ อาหาร ปุ๋ย มูลสัตว์ และไอน้ำจากกระบวนการผลิตทางการเกษตร
- พลังงานสูญเสีย: พลังงานจากความร้อนไอเสียเครื่องยนต์หรือเครื่องจักรต่างๆ
- พลังงานผลพลอยได้: พลังงานกลซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการปรับลดความดันของก๊าซธรรมชาติ
- พลังงานจากขยะมูลฝอย
- พลังงานจากเชื้อเพลิงไม้ในการปลูกป่า
วิดีโอนี้จะพาคุณไปทำความเข้าใจกับ PPA มากยิ่งขึ้น
PPA มีไว้สำหรับใคร
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า PPA คือ สัญญาข้อตกลงการใช้ไฟฟ้าระหว่างผู้ที่มีความสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองได้กับภาครัฐ (กฟผ.) ดังนั้น ข้อกำหนด PPA จึงมีไว้สำหรับผู้ที่ต้องการเปลี่ยนโมเดลการใช้พลังงานไฟฟ้าจากภาครัฐมาเป็นการผลิตไฟฟ้าใช้เอง รวมถึงภาคธุรกิจที่สามารถสร้างพลังงานหมุนเวียนเพื่อผลิตไฟฟ้าได้ และผู้ที่ต้องการทำธุรกิจผลิตไฟฟ้า เป็นต้น
PPA มีความสำคัญอย่างไร?
ปัจจุบันภาคธุรกิจใหญ่ๆ ในประเทศไทยหลายเจ้าได้ให้ความสำคัญกับประเด็นภาวะโลกร้อนและเปลี่ยนมาใช้ “พลังงานหมุนเวียน” ผลิตไฟฟ้าสำหรับใช้ในภาคธุรกิจแทน โดยภาคธุรกิจหรือครัวเรือนใหญ่ที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้เองอาจมีข้อจำกัดเรื่องปริมาณการผลิตและค่าใช้จ่าย ในกรณีที่ไม่สามารถดึงพลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตกระแสไฟได้เพียงพออาจต้องดึงพลังงานไฟฟ้าจากภาครัฐมาใช้ร่วมด้วยทำให้เกิดความยุ่งยากและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้ ข้อตกลง PPA จึงเป็นสิ่งที่จะเข้ามาช่วยอธิบายและให้ความกระจ่างเรื่องนี้ โดยในข้อตกลง PPA จะระบุข้อปฏิบัติต่างๆ ไว้ดังนี้
- การเดินเครื่อง (Operating Characteristics)
- ค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า (Availability Payments)
- ค่าพลังงานไฟฟ้า (Energy Payments)
- มาตรฐานทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Quality Standards)
- การเก็บเชื้อเพลิงและสัญญาซื้อเชื้อเพลิง (Fuel Stocking and Fuel Purchase Agreement)
- แผนงานก่อสร้าง ระบบส่งเชื่อมโยงระหว่างโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนกับระบบของ กฟผ. (New Transmission Facilities and Construction Schedule)
- กำหนดการสำคัญตามสัญญา(Contracted Milestones)
- ค่าเสียหายกรณีผิดสัญญา (Liquidated Damages)
- เหตุสุดวิสัย (Force Majeures)
- อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
การทำสัญญา PPA สามารถระบุได้ว่า ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องการผลิตไฟฟ้าใช้เองแบบครบวงจรหรือผสมผสานระหว่างการใช้ไฟฟ้าของภาครัฐกับการผลิตเองเพื่อให้เกิดความกระจ่างในเรื่องของค่าใช้จ่าย
ทำไมธุรกิจยุคใหม่ควรสนใจพลังงานสะอาดและ PPA ?
การผลิตไฟฟ้าใช้เองและการทำข้อตกลง PPA เป็นทางเลือกใหม่สำหรับธุรกิจและภาคครัวเรือน “เพราะคุณสามารถเลือกที่จะช่วยโลกให้ดีขึ้นไปพร้อมกับการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าให้น้อยลง นอกจากนี้ ยังช่วยแบ่งเบาภาระการผลิตไฟฟ้าและลดการพึ่งพาพลังงานจากภาครัฐได้อีกด้วย”
- ช่วยชะลอภาวะโลกร้อน: การหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าจะช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกไปสู่ชั้นบรรยากาศซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน
- ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย: การทำสัญญา PPA มีหลักการคิดค่าไฟฟ้าแบบเฉลี่ยคงที่ (Flat Rate) จึงช่วยให้คุณประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้จำนวนมากนั่นเอง โดยเฉพาะในธุรกิจที่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าปริมาณมาก การใช้พลังงานแสงอาทิตย์และการทำข้อตกลง PPA กับภาครัฐให้ชัดเจนจะช่วยให้คุณกำหนดและลดงบประมาณต่อปีได้อย่างมหาศาล
- นำพลังงานหมุนเวียนเหลือใช้กลับมาใช้ประโยชน์: ปัจจุบันมีภาคธุรกิจมากมายที่ผลิตพลังงานหมุนเวียนจากการทำธุรกิจหรืออุตสาหกรรมแล้วปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งการเปลี่ยนพลังงานเหลือใช้มาเป็นไฟฟ้าเป็นอีกช่องทางที่จะช่วยเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายให้กับธุรกิจ
- กระจายอำนาจการผลิตและป้องกันความเสี่ยง: การผลิตไฟฟ้าใช้ได้ด้วยตัวเองยังเป็นการป้องกันความเสี่ยงด้านพลังงาน ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินที่ภาครัฐไม่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ประชาชนหรือภาคธุรกิจได้ ผู้ที่มีอำนาจผลิตไฟฟ้าใช้ได้ด้วยตัวเองจะไม่ได้รับผลกระทบ
การเลือกใช้พลังงานสะอาดและข้อกำหนด PPA ให้ชัดเจนเป็นทางเลือกในการใช้โมเดลพลังงานแบบใหม่ที่น่าสนใจสำหรับภาคธุรกิจไม่น้อยเลยทีเดียว โดยข้อตกลงการใช้ไฟฟ้ามีทั้งในระดับโลก ระดับประเทศ และระดับพื้นที่ โดยในรายละเอียดยังสามารถแบ่งได้ตามประเภทและขนาดของโรงผลิตไฟฟ้า เช่น ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก โรงไฟฟ้าฉุกเฉิน โรงไฟฟ้าเคลื่อนที่ โรงไฟฟ้าภาคครัวเรือน โรงไฟฟ้าสังเคราะห์ และโรงไฟฟ้าที่ไม่มีการควบคุม เป็นต้น โดยในต่างประเทศก็มีทั้งสหรัฐอเมริกา อินเดีย เวียดนาม นามิเบีย เคนยา แทนซาเนีย ปากีสถาน ออสเตรเลีย และสเปนที่ทำข้อตกลง Power Purchase Agreement นี้เอาไว้อย่างจริงจัง
สรุป
การเลือกใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียนสำหรับผลิตไฟฟ้าเป็นทางเลือกของธุรกิจในยุคนี้ที่จะช่วยชะลอภาวะโลกร้อน ลดค่าใช้จ่าย ลดภาระการพึ่งพาพลังงานจากภาครัฐ ป้องกันความเสี่ยง และกระจายอำนาจการผลิตไฟฟ้า แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเลือกใช้โมเดลพลังงานสะอาดทดแทนแล้วต้องไม่มองข้ามการทำข้อตกลงการใช้ไฟฟ้า PPA กับภาครัฐเพื่อให้เกิดข้อปฏิบัติที่ชัดเจน
ติดตามข่าวสารและคอนเทนต์ดีๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อมที่คุณไม่ควรพลาด
ได้ที่ Facebook PTT ExpresSo,m
