เกษตรกรอัจฉริยะ หรือ Smart Farmer เป็นชื่อที่ถูกใช้กันอย่างมากมายในหลายบริบท ตั้งแต่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีร่วมกับการเกษตรในโครงการพระราชดำริ จนถึงการทำงานของเกษตรกรยุคใหม่ทั้งไทยและสากล ซึ่งในอนาคตการทำเกษตรรูปแบบนี้จะมีเพิ่มขึ้นอีกอย่างแน่นอน
Smart Farmer คืออะไร
Smart Farmer คือเกษตรกรที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและระบบดิจิทัล นวัตกรรม รวมถึงข้อมูล หรือแนวคิดทางธุรกิจแบบใหม่ เพื่อผลักดันประสิทธิภาพการผลิตของตัวเองให้ได้มากที่สุด ภายใต้งบประมาณที่เหมาะสมที่สุด
หลายคนเข้าใจว่าการทำงานของ Smart Farmer นั้นไกลตัว แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น การใช้อุปกรณ์สมาร์ทโฟนและแอปพลิเคชันต่างๆ เพื่อเก็บข้อมูลการเกษตร การผลิตและการคำนวณหาการเพาะปลูกที่เหมาะสมที่สุด ก็เป็นขั้นแรกของ Smart Farmer แล้ว
แนวคิดของ Smart Farmer เพิ่มความเป็นไปได้ยิ่งขึ้นอีก เนื่องจากการพัฒนาของเทคโนโลยีและระบบดิจิทัล ที่ทำให้อุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ IoT การใช้งาน Big Data การใช้งานโดรน หรือการใช้หุ่นยนต์รูปแบบต่างๆ ร่วมกับการเกษตรก็สามารถหาได้ง่ายขึ้น ต้นทุนลดต่ำลง
โดยการใช้งาน Smart Farmer มีตัวอย่างดังต่อไปนี้
ตัวอย่างของ Smart Farmer
- การใช้เทคโนโลยี GPS เพื่อตรวจสอบพื้นที่การเกษตรและเทคโนโลยีจัดการข้อมูลเพื่อตรวจสอบสภาพภูมิอากาศในออสเตรเลีย ทำให้เกษตรกรสามารถคาดเดาการรดน้ำใส่ปุ๋ยให้พืชผลของตนเองได้
- การเกษตรของญี่ปุ่น ที่ภาครัฐและมหาวิทยาลัยได้มีการศึกษาแนวคิดรถแทร็กเตอร์ไร้คนขับ เพื่อนำมาใช้งานแทนแรงงานคน โดยรถแทร็กเตอร์นี้จะสามารถทำงานได้ทั้งการไถ หว่าน ให้ปุ๋ย จนถึงการเก็บเกี่ยว
- การนำเทคโนโลยี Big Data มาประยุกต์ใช้ในฟาร์มญี่ปุ่น เพื่อรวบรวมข้อมูลการปลูกพืชทั้งหมด มาวิเคราะห์ว่าการทำการเกษตรแบบไหนสามารถให้ผลตอบแทนได้ดีที่สุด
เห็นได้ชัดว่าการทำการเกษตรด้วยแนวคิด Smart Farmer นั้นครอบคลุมตั้งแต่การวางแผนก่อนการหว่านเมล็ด จนถึงการขายสินค้า ทำให้เกษตรกรสามารถลดภาระของตัวเองได้ ด้วยการลงทุนในระบบที่ดีในระยะยาว
ประโยชน์ของการทำการเกษตรแบบ Smart Farm
- ลดการใช้แรงงานคน เนื่องจากงานบางส่วนจะมีการใช้เทคโนโลยี เช่น โดรน หุ่นยนต์ รถไถอัตโนมัติ เข้ามาช่วย ดังนั้นจะลดภาระงานของคนโดยรวมได้
- ได้สินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น การใช้เครื่องมือที่มีความแม่นยำสูงเข้ามาช่วย จะทำให้เกษตรกรสามารถเพิ่มคุณภาพของสินค้าได้ ผ่านการปรับปรุงพันธุ์ ปรับสัดส่วนปุ๋ย การให้น้ำ การให้แสง เป็นต้น
- ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการทำงานที่มีการเก็บข้อมูลอยู่ตลอดและการจัดการในรูปแบบ Zero Waste ทำให้เกษตรกรสามารถคำนวณพื้นที่การปลูก รูปแบบพันธุกรรมต่างๆ ให้มีคุณภาพที่ดี ตามต้องการของผู้บริคในลักษณะต่างๆ หรือในลักษณะ customization เพื่อขายได้ในราคาที่เหมาะสม ไม่ล้นตลาด
- มีการขายที่ง่ายขึ้น ในปัจจุบันชาวนาชาวสวนสามารถเข้าถึงการขายได้ง่ายผ่านการตลาดออนไลน์ในแอปพลิเคชันต่างๆ โดยการสนับสนุนจากภาครัฐหรือบริษัทเอกชน
ชัดเจนว่าการนำระบบ Smart Farm มาประยุกต์ใช้นั้นได้ประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะประเทศไทยที่การทำเกษตรยังคงเป็นหัวใจหลักของประชาชน ทว่าในการทำงานจริงนั้นอาจไม่ได้สวยงามเสมอไป ซึ่งการทำงานดังกล่าวมีความเป็นไปได้ดังนี้
Smart Farmer ในไทยและการทำงานจริง
สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับสำหรับการทำงานด้วย Smart Farm คือ การเข้าถึงเทคโนโลยีและะระบบดิจิทัลต่างๆ ยังคงเป็นอุปสรรคกับพี่น้องเกษตรกรอยู่ไม่น้อย จนสามารถกล่าวได้ว่าแนวคิดนี้ยังต้องใช้เวลาอีกมากสำหรับการประยุกต์ใช้งานจริง
ขณะเดียวกัน ในหน่วยงานทั้งจากภาครัฐและเอกชนก็มีการลงทุนในด้านเทคโนโลยีนี้เพื่อทำให้การผลิตภายในประเทศดีขึ้น เช่นบริษัท เอไอ โรโบติกส์ เวนเจอร์ ในเครือ PTTEP ได้ร่วมลงทุนในการสร้างระบบโดรนนวัตกรรมการเกษตร พร้อมบริการครบวงจร รวมถึงระบบการเก็บข้อมูล เพื่อทำให้ทางเกษตรกรเข้าถึงเครื่องมือชนิดนี้ได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ ปตท. ส่งเสริมและผลักดันกลุ่ม “วังจันทร์รวมรัก ปลูกผักแบ่งปัน” ในการสร้างร้านค้าผักวังจันทร์ ซึ่งเป็นตลาดออนไลน์สำหรับจำหน่ายผลผลิตจากชุมชนราษฎรตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง จำนวน 8 หมู่บ้านครัวเรือนนำร่อง ผลกำไรจากการจำหน่ายผักจะปันผลคืนให้แก่สมาชิก
แน่นอนว่าการใช้งานอุปกรณ์อื่นๆ เช่น ระบบ IoT และการใช้ Robotics ในการเกษตร รวมถึง Smart Farmer เองก็ยังเป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญสำหรับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้วย คาดว่าหลังจากนี้ในส่วนของการเกษตรจะมีการใช้งานเทคโนโลยีต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างเป็นนัยสำคัญอย่างแน่นอน
สรุป
การทำการเกษตรแบบ Smart Farmer นั้นมีส่วนช่วยอย่างมากในการยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องเกษตรกร ทั้งรายย่อยและรายใหญ่ รวมถึงทำให้ผู้บริโภคได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ
ทว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน ยังคงเป็นเรื่องยากที่จะกระจายเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลรวมถึงบอกเล่าความรู้เหล่านั้นไปสู่มือของเกษตรกร จึงอาจเป็นหน้าที่ของทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลและสนับสนุนในระยะยาว เพื่อทำให้การเกษตรแบบอัจฉริยะนี้กลายเป็นหนึ่งในหนทางพัฒนาคุณภาพของประเทศไทยในอนาคต