Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

เปลี่ยนแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าด้วย Photovoltaic (PV)

SHARE

เปลี่ยนแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าด้วย Photovoltaic (PV)

Photovoltaic (PV) คืออะไร? มีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับเทรนด์พลังงานแสงอาทิตย์ที่กำลังมาแรง! ในปัจจุบัน เราพบเห็นแผงโซลาร์เซลล์ตามสถานที่ต่างๆ มากขึ้น แต่รู้หรือไม่ว่าแผงโซลาร์เซลล์ทำงานอย่างไรก่อนจะผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า

บทความนี้ PTT ExpresSo จะพาไปทำความรู้จัก Photovoltaic (PV) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในแผงโซลาร์เซลล์ที่ช่วยเปลี่ยนแสงอาทิตย์ให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้า พร้อมประเด็นน่าสนใจต่างๆ ที่คุณควรรู้

Solar panel

Photovoltaic (PV) คืออะไร?

Photovoltaic (PV) หรือ เซลล์แสงอาทิตย์ คือ ส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าเมื่อสัมผัสกับโฟตอน (Photons) หรืออนุภาคของแสง ซึ่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้เรียกว่า Photovoltaic Effect ถูกค้นพบในปี 1839 โดย Edmond Becquerel นักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศส โดยรากศัพท์ของคำว่า Photovoltaic มีที่มาจากคำในภาษากรีก ได้แก่ ‘Photo’ หรือ ‘Phos’ ที่แปลว่า แสง และ ‘Volt’ ที่แปลว่าไฟฟ้า

ในปี 1960 Photovoltaic ได้มีการประยุกต์ใช้จริงกับเทคโนโลยีดาวเทียมเป็นครั้งแรก และช่วงปลายทศวรรษ 1980 ได้มีการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ที่ประกอบด้วย Photovoltaic สำหรับติดตั้งตามหลังคาอาคารบ้านเรือน จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงต้นศตวรรษที่ 21 กำลังการผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์เริ่มมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องจนนำไปสู่การใช้ Photovoltaic เป็นส่วนประกอบในการสร้างโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่

ประเภทของ Photovoltaic

Photovoltaic เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เรามีตัวเลือกในการใช้งานที่หลากหลาย โดยทั่วไป Photovoltaic ที่นำมาใช้ประกอบเป็นแผงโซลาร์เซลล์แบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่ Monocrystalline, Polycrystalline และ Thin-Film

Photovoltaic Solar Cell

1. Monocrystalline

Photovoltaic ประเภทนี้ทำจากซิลิกอนผลึกเดี่ยว เป็นเซลล์แสงอาทิตย์ที่มีความบริสุทธิ์ที่สุดและมีลักษณะมืดสนิท นอกจากนี้ ซิลิกอนยิ่งมีความบริสุทธิ์สูงเท่าไรยิ่งช่วยให้มีที่ว่างมากขึ้นสำหรับการเคลื่อนที่ของอิเล็กตรอน ทำให้แผงโซลาร์เซลล์นั้นมีประสิทธิภาพสูงขึ้นมากกว่า 20%

2. Polycrystalline

คุณสามารถแยก Photovoltaic ประเภท Polycrystalline ได้ไม่ยาก เนื่องจากไม่มีการตัดมุมของเซลล์แสงอาทิตย์ในแผงโซลาร์เซลล์ โดยปกติ Polycrystalline จะเป็นสีน้ำเงินและผลิตจากการหลอมซิลิกอนดิบซึ่งเป็นกระบวนการที่เร็วและถูกกว่าการผลิต Monocrystalline ทำให้เซลล์แสงอาทิตย์ประเภทนี้มีประสิทธิภาพต่ำกว่า Monocrystalline ประมาณ 15 %

3. Thin-Film

Photovoltaic ประเภท Thin-Film หรือฟิล์มบางผลิตขึ้นจากการวางฟิล์มของวัสดุเซลล์แสงอาทิตย์หนึ่งแผ่นขึ้นไปลงบนพื้นผิว เช่น แก้ว พลาสติก หรือโลหะ โดยวัสดุนั้นอาจเป็นซิลิกอน แคดเมียม หรือทองแดงก็ได้ เนื่องจากเป็น Photovoltaic ที่ใช้วัสดุและขั้นตอนน้อยกว่าประเภทอื่น จึงผลิตได้ง่ายที่สุดและมีราคาถูกที่สุดด้วย

การเพิ่มประสิทธิภาพ Photovoltaic

ประสิทธิภาพของ Photovoltaic ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งภายในและภายนอก เช่น ความเข้มของแสงและความยาวคลื่นซึ่งส่งผลต่อปริมาณไฟฟ้าที่เซลล์แสงอาทิตย์สามารถผลิตได้

กลยุทธ์ที่จะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพของ Photovoltaic ในอนาคต อาจทำได้ด้วยการรวมสารกึ่งตัวนำ (Semiconductor) หลายชั้นเข้าด้วยกันเพื่อสร้างเซลล์แสงอาทิตย์แบบหลายจุด โดยแต่ละชั้นของเซลล์สามารถมีแถบความถี่ที่ต่างกันได้ นั่นหมายความว่าเซลล์เหล่านั้นจะช่วยดูดซับสเปกตรัมของแสงอาทิตย์ได้ดีกว่าเซลล์แยกส่วนแบบเดิม

อายุการใช้งานของ Photovoltaic เป็นอย่างไร?

Photovoltaic อาจใช้งานได้ยาวนานถึง 40 ปี ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น คุณภาพของแผงควบคุมและสภาพอากาศ อีกทั้งยังต้องการการบำรุงรักษาเพียงเล็กน้อยและส่วนใหญ่มักมาพร้อมการรับประกันคุณภาพไม่ต่ำกว่า 25 ปี อย่างไรก็ตาม PV Inverter ซึ่งทำหน้าที่แปลงไฟฟ้ากระแสตรงจากแสงอาทิตย์ให้เป็นไฟฟ้ากระแสสลับแบบกริดซึ่งเป็นเครือข่ายที่สามารถเชื่อมต่อและส่งกระแสไฟฟ้าเข้ากับมิเตอร์และระบบของการไฟฟ้า อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่หลังใช้งานไปได้ประมาณ 12-15 ปี

ถึงแม้ว่าแผงโซลาร์เซลล์จะมีอายุการใช้งานเฉลี่ยสูงถึง 25 ​​ปี  แต่สุดท้ายเมื่อหมดอายุการใช้งานก็จะกลายเป็นขยะเพิ่มขึ้นในโลก โดยผลการวิจัยของสำนักงานพลังงานทดแทนระหว่างประเทศ (IRENA) คาดการณ์ว่าแผงโซลาร์เซลล์ที่ใช้งานไม่ได้แล้วอาจสร้างปริมาณขยะสูงถึง 78 ล้านตันภายในปี 2050 นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ประเทศพัฒนาแล้วได้พยายามคิดค้นเทคโนโลยีสำหรับการรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อช่วยลดปริมาณขยะและป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

สรุป

Photovoltaic เป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ช่วยเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าผ่านกระบวนการที่เรียกว่า Photovoltaic Effect ด้วยเหตุนี้ การใช้ Photovoltaic ในแผงโซลาร์เซลล์จึงเป็นทางเลือกที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตพลังงานสีเขียวสำหรับใช้ภายในบ้านและอุตสาหกรรมต่างๆ พร้อมความหวังที่ว่าพลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์จะช่วยให้เราเป็นอิสระจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และสามารถจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น

 

ติดตามข่าวสารและคอนเทนต์ดีๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อมที่คุณไม่ควรพลาด

ได้ที่ Facebook PTT ExpresSo

New call-to-action

สวย ใส ใช้พลังงานแสงอาทิตย์กับ Energy Transparent Glass

SHARE

หากพูดถึงการใช้งานพลังงานแสงอาทิตย์ ภาพอันแสนชินตาของทุกคนย่อมเป็นโซลาร์เซลล์สีทึบๆ ที่ตั้งเรียงรายกันเป็นฟาร์ม หรือแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งอยู่บนหลังคาบ้าน แต่ภาพจำนั้นอาจเปลี่ยนไปในอนาคต กับการมาของ Energy Transparent Glass โซลาร์เซลล์รูปแบบใหม่แห่งอนาคต

Energy Transparent Glass คืออะไร 

Energy Transparent Glass คือนวัตกรรมการสร้าง “โซลาร์เซลล์โปร่งแสง” ที่เหมาะกับการประยุกต์ใช้กับอาคารบ้านเรือนทั่วไป จนถึงตึกสูงตามเมืองต่างๆ ที่ในปัจจุบันนิยมใช้การตกแต่งภายนอกอาคารด้วยกระจกใส ทำให้ผู้คนที่อยู่ภายในสามารถมองเห็นทัศนียภาพได้ชัดเจน

โดยโซลาร์เซลล์ชนิดนี้จะมีความบางกว่า ใช้งานง่ายกว่า และด้วยสีที่ใส ไม่ดำทึบแบบสมัยก่อน อีกทั้งยังคงประสิทธิภาพของการดูดซับและเปลี่ยนแปลงแสงอาทิตย์มาเป็นพลังงานได้ดังเดิม

แน่นอนว่าเทคโนโลยีแบบนี้ไม่ได้มีการพัฒนาเพียงเจ้าเดียว แนวคิดของ Energy Transparent Glass มีการรังสรรค์และต่อยอดไปมากมายหลายสถาบัน โดยมีรูปแบบการทำงานที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

ClearView Power 

เทคโนโลยีนี้มีการวิจัยและพัฒนาโดย Ubiquitous Energy ที่มีการเปิดตัวไปช่วงปี 2013 และพัฒนาต่อยอดมาในปัจจุบัน ซึ่งเป็นฟิลม์ใสสามารถมองทะลุได้ด้วยตาเปล่า มีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนแสงอาทิตย์เป็นพลังงานอยู่ที่ 9.8%

โดยในปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์บ้างแล้ว ทั้งในส่วนของการใช้ร่วมกับอุปกรณ์ต่างๆ และติดตั้งบนกระจกอาคารอีกด้วย

SmartSkin

เทคโนโลยีนี้ถูกพัฒนาจากบริษัท Physee จากยุโรป โดยอยู่ในรูปแบบของกระจกใสที่ทำงานในรูปแบบเดียวกับโซลาร์เซลล์ เพื่อสร้างพลังงานภายในอาคาร ซึ่งในปัจจุบันมีการใช้งานเชิงพาณิชย์แล้ว ซึ่งทางบริษัท Physee เองก็ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีนี้ด้วย เช่นการทำระบบอัตโนมัติและการเก็บข้อมูลพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อประมวลผล เป็นต้น

Energy Transparent Glass

Transparent Crystalline Silicon 

เทคโนโลยีนี้ได้รับการวิจัยและพัฒนาจากสถาบัน Ulsan National Institute of Science and Technology (UNIST) ในเกาหลีใต้ โดยการนำ Crystalline Silicon (c-Si)  ที่เป็นวัสดุสำหรับทำเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ มาทำให้เป็นแผ่นฟิล์มบาง มีความโปร่งแสง แต่ยังคงประสิทธิภาพในการเปลี่ยนแปลงแสงอาทิตย์เป็นพลังงานถึง 12.2%

ก้าวถัดไปของเทคโนโลยีดังกล่าวคือการพัฒนาเพื่อผลิตจำนวนมาก เพื่อใช้งานเป็น Solar Windows ตามบ้านคนจริงๆ  รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการแปลงพลังงานเป็น 15% 

คุณ Kwanyong Seo หนึ่งในทีมพัฒนาระบุไว้ว่า “เรายังต้องการให้มันมีความเสถียรเชิงกล (Mechanical Stability) และความแข็งแรงที่มากขึ้น เพื่อที่จะสามารถนำไปแทนที่บานกระจกบนอาคารต่างๆ ที่ใช้งานในปัจจุบัน”

เทคโนโลยีด้านบนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการพัฒนา Energy Transparent Glass หรือโซลาร์เซลล์แบบโปร่งแสงเท่านั้น ยังมีทีมพัฒนาอีกมากที่สนใจในการประยุกต์ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ให้มีความเข้าถึงง่ายขึ้น สะดวกมากขึ้น และสามารถใช้งานได้หลากหลายขึ้น

การใช้งาน Energy Transparent Glass ในอนาคต

Energy Transparent Glass ในปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยและพัฒนา เพื่อปรับปรุงศักยภาพของการแปลงแสงอาทิตย์เป็นพลังงานให้ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งความคาดหวังสำหรับการใช้พลังงานสะอาดที่น่าสนใจอย่างมากในสังคม โดยหากเปรียบเทียบกับการใช้งานพลังงานแสงอาทิตย์ในปัจจุบันแล้ว เรายังสามารถประยุกต์ใช้งาน Energy Transparent Glass ได้หลากหลาย ดังนี้

  • ใช้ร่วมกับรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อสนับสนุนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานสำรอง
  • ใช้งานภาคครัวเรือน ติดตั้งตามบ้านเรือนต่างๆ แทนกระจกหน้าต่าง
  • ประยุกต์ใช้งานกับสถานที่สาธารณะต่างๆ เช่น ป้ายรถเมล์ เพื่อเพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งานที่มากขึ้น
  • ติดตั้งตามอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้สามารถใช้งานเทคโนโลยี IoT ได้โดยมีพลังงานในตัว

แม้ว่าจะมีโอกาสในการการประยุกต์ใช้งานที่หลากหลายแต่ทว่าเทคโนโลยี Energy Transparent Glass นั้นยังติดประเด็นในส่วนของ “ราคา” ที่ในปัจจุบันอาจสูงไปสักเล็กน้อยหากเทียบกับการใช้งานพลังงานรูปแบบอื่นๆ รวมถึงการเข้าถึงลูกค้าที่อยู่นอกประเทศผู้พัฒนา ที่ยังนับว่าไม่ได้มีการโปรโมทได้มากเท่าที่ควร

พลังงานแสงอาทิตย์ไทยกับเทคโนโลยี Energy Transparent Glass

ประเทศไทยเองก็เป็นอีกประเทศที่มีการผลักดันพลังงานแสงอาทิตย์เป็นอย่างมาก ทว่ายังขาดความชัดเจนในการดำเนินนโยบายลงมายังภาคประชาชน จนทำให้หลายๆ คนยังรู้สึกว่าพลังงานประเภทนี้ยัง “ไกลตัว” ประชาชนคนไทยมากกว่าพลังงานชนิดอื่น

หากเทคโนโลยี Energy Transparent Glass มีการประดิษฐ์และต่อยอดในประเทศไทยเรา ก็ไม่แน่ว่ามันอาจเปลี่ยนภาพลักษณ์ของเจ้าแผ่นโซลาร์เซลล์สีดำๆ เป็นอะไรที่จับต้องได้มากขึ้น ทั้งนี้ก็ต้องจับตาดูว่าหากมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้จริง จะมีภาคส่วนใดเข้ามาสนับสนุน เปิดกว้างการใช้งานได้อย่างเต็มที่มากน้อยขนาดไหน หรือจะกลายเป็นเทคโนโลยีที่มาแล้วก็ไป ไม่ได้มีการนำมาใช้ในสังคมไทยกันแน่

New call-to-action
  • SUBSCRIBE TO BE
    THE FIRST INNOVATOR.

logo