Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

รู้จัก Funding Stage: Series A, B, C ก่อนเริ่มระดมทุน Startup

SHARE

รู้จัก Funding Stage: Series A, B, C ก่อนเริ่มระดมทุน Startup

เมื่อผู้ก่อตั้ง Startup เริ่มดำเนินธุรกิจไปได้สักระยะ มักต้องแสวงหาเงินทุนเพิ่มเติมจากภายนอก เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือขยับขยายธุรกิจให้เข้าถึงลูกค้ามากขึ้น Funding Stage: Series A, B, C จึงเป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญที่เจ้าของธุรกิจ Startup ควรทำความเข้าใจถึงความแตกต่างของการระดมทุนในแต่ละ Series เพื่อประเมินสถานการณ์และวางแผนจัดหาแหล่งเงินทุนจากภายนอกได้สำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ถ้าอยากรู้ว่า Funding Stage: Series A, B, C คืออะไร? แตกต่างกันยังไง? ต้องอ่านบทความนี้

Hand touching STARTUP FUNDING button.

Series A Funding คือ?

Series A Funding คือ การระดมทุนก้าวสำคัญสำหรับบริษัท Startup ที่จะมีโอกาสได้รับเงินระดมทุนก้อนใหญ่ขึ้นจาก Venture Capital (VC) หรือธุรกิจเงินร่วมลงทุนมากกว่าระยะ Seed Funding หรือ Pre-Series A ในช่วงก่อนหน้าซึ่งมักได้รับเงินทุนจากนักลงทุนอิสระ (Angel Investor) ครอบครัว และเพื่อนฝูงเป็นส่วนใหญ่

ทั้งนี้ บริษัทมักจำเป็นต้องแสดงให้นักลงทุนเห็นว่ามีผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพขั้นต่ำ (Minimum Viable Product: MVP) เพียงพอที่จะเติบโตในตลาดอย่างมั่นคง รวมถึงการมีแนวคิดธุรกิจและทีมงานที่ยอดเยี่ยมสำหรับการดำเนินงานต่อไปในระยะยาว จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับผู้เริ่มก่อตั้ง Startup ที่จะระดมทุนระดับ Series A ได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจาก U.S. Funding Data ระบุว่าการระดมทุน Series A มีค่าเฉลี่ยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยในปี 2021 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 22.2 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 30% จากปี 2020 ที่มีค่าเฉลี่ยเพียง 15.6 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ

ขั้นตอนการเจรจาโดยทั่วไปของ Series A Funding นักลงทุนและผู้ก่อตั้งจะต้องประเมินมูลค่าบริษัทอย่างยุติธรรม เพื่อแลกเปลี่ยนเงินทุนตามสัดส่วนของผู้ถือหุ้น เช่น หากบริษัท Tech Startup แห่งหนึ่งต้องการขอเงินทุน 5 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐเพื่อแลกกับหุ้น 25% พวกเขาจะต้องประเมินมูลค่าบริษัทให้ได้ 20 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่นักลงทุนใช้พิจารณาในการกำหนดมูลค่าบริษัท ได้แก่ ยอดขายที่ผ่านมา ความเสี่ยง อัตราการเติบโตในปัจจุบัน ขนาดของตลาด เป็นต้น

Startup Plan Investment Concept.

Series B Funding คือ?

Series B Funding คือ การระดมทุนหลังจากธุรกิจเปิดตัวผลิตภัณฑ์และเริ่มสร้างรายได้ต่อเนื่อง จึงต้องการเงินทุนเพิ่มเพื่อขยับจากขั้นตอนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปสู่การขยายธุรกิจ ถือเป็นรอบที่ท้าทายอีกครั้งเพราะก่อนการระดมทุน Series B จะเกิดขึ้น บริษัทต้องแสดงให้เห็นความสำเร็จที่แข็งแกร่งมากกว่ารอบ Series A เพื่อยืนยันถึงความพร้อมและแนวโน้มการเติบโตทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นเมื่อได้รับเงินลงทุนจาก Series B Funding

ข้อมูลจาก U.S. Funding Data ระบุว่าในปี 2019 บริษัท Startup ที่ได้รับการระดมทุนระดับ Series B มีรายได้เฉลี่ย 32 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ และมีมูลค่าบริษัทเฉลี่ย 58 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม การระดมเงินทุน Series B ก็มีความเสี่ยงสูง เนื่องจาก Startup ที่ประสบความสำเร็จในตลาดขนาดเล็กอาจไม่สามารถอยู่รอดและเติบโตในตลาดขนาดใหญ่ได้ ต้องพยายามแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดและสร้างการรับรู้แก่สาธารณชนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือแบรนด์ของตนแข่งขันกับธุรกิจที่มีชื่อเสียงซึ่งมีกระแสเงินสดที่มั่นคงมากกว่า

ดังนั้น นักลงทุน Series B อาจเลือกจัดการความเสี่ยงนี้โดยขอส่วนแบ่งเพิ่มเติม ผู้ก่อตั้ง Startup จึงจำเป็นต้องหาทางปกป้องเงินทุนและการประเมินมูลค่าบริษัทของตนเองในรอบการระดมทุน Series B เพื่อให้แน่ใจว่าการประเมินมูลค่านั้นสะท้อนถึงการเติบโตของธุรกิจอย่างแท้จริง

 Businesspeople chasing angel investor funding.

Series C Funding คือ?

Series C Funding คือ การระดมทุนที่มีเป้าหมายในการเตรียมบริษัทเพื่อเข้าซื้อกิจการ ขยายกิจการ หรือมองหาการผลักดันธุรกิจ เช่น การเตรียมความพร้อมก่อนเสนอขายหุ้น IPO หรือการควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions) รวมถึงการระดมทุน Series D E F ในระยะต่อๆ ไปที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

Startup ที่สามารถเข้าสู่การระดมทุนระดับ Series C มักจะมีหลักฐานยืนยันความสำเร็จทางธุรกิจว่ามีฐานลูกค้าที่เติบโต การรับรู้แบรนด์ที่แข็งแกร่ง และได้รับการประเมินมูลค่าบริษัทก่อนการระดมทุนรอบนี้โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 115 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งเป็นธุรกิจที่มั่นคงและมีแนวโน้มเติบโตจนมีมูลค่าหลักพันล้านได้

ด้วยเหตุนี้ Series C Funding จึงเป็นการระดมเงินทุนจำนวนมากเข้าสู่ธุรกิจที่มีศักยภาพในการทำกำไร เพื่อมุ่งขยายการเติบโตให้ได้มากที่สุดและให้ผลตอบแทนที่รวดเร็วแก่นักลงทุน ถือเป็นการระดมทุนที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า Series A และ Series B ทำให้บริษัทไพรเวทอิควิตี้ (Private Equity Firm) กองทุนเฮดจ์ฟันด์ (Hedge fund) และวาณิชธนกิจ (Investment Bank) เข้ามามีส่วนร่วมในการระดมทุนรอบนี้มากขึ้น เพราะสถาบันการเงินเหล่านี้จะไม่เลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงมาก จึงมักรอให้ Startup เติบโตอย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพเสียก่อนจึงค่อยพิจารณาให้เงินลงทุน

จากข้อมูล U.S. Funding Data ระบุว่าในปี 2019 การลงทุนระดับ Series C ทำให้ Startup แต่ละบริษัทได้รับเงินทุนมีมูลค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 55 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ

สรุป

ผู้ก่อตั้ง Startup ทุกคนควรรู้จักและทำความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการระดมทุน Funding Stage ทั้งระดับ Series A, B, C เพราะหากคุณเริ่มต้นวางรากฐานและสร้างมูลค่าทางธุรกิจได้อย่างแข็งแกร่งก็จะยิ่งมีโอกาสได้รับเงินทุนมากขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้ การเรียนรู้ความแตกต่างระหว่าง Series A, B และ C ยังช่วยให้คุณวางแผนเตรียมพร้อมสำหรับการระดมทุนในแต่ละระดับได้ดีขึ้น เพิ่มโอกาสคว้าเงินลงทุนก้อนใหญ่มาใช้ขยายธุรกิจ Startup ให้เติบโตและประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้

 

ติดตามข่าวสารและคอนเทนต์ดีๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อมที่คุณไม่ควรพลาด

ได้ที่ Facebook PTT ExpresSo

New call-to-action

 

รวม Startup กับเทคโนโลยี Decarbonize ในวงการยานยนต์

SHARE

เทคโนโลยี Decarbonize เป็นกุญแจสำคัญที่ธุรกิจ Startup ยุคใหม่โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในการช่วยหยุดยั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ลดการปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายเร่งด่วนที่ทั่วโลกต้องร่วมมือกัน

บทความนี้ PTT ExpresSo จะพาไปทำความรู้จักเทคโนโลยี Decarbonize และ 5 ธุรกิจ Startup ที่น่าจับตามองในฐานะฮีโร่ผู้คิดค้นเทคโนโลยีกำจัดคาร์บอนเพื่อช่วยกอบกู้โลกอย่างยั่งยืน

Decarbonize Technology_Lower CO2 emissions

เทคโนโลยี Decarbonize คืออะไร?

ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คำว่า Decarbonize กลายเป็นคำศัพท์ใหม่มาแรงที่ใช้อธิบายการกำจัดหรือยุติการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนต่างๆ เช่น การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล การเกษตร อุตสาหกรรมหนัก ฯลฯ ซึ่งถือเป็นแนวทางสำคัญในการแก้ปัญหาก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก

ด้วยเหตุนี้ เทคโนโลยี Decarbonize จึงเริ่มเป็นที่ต้องการและได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

เห็นได้จาก Innovation Map in Environment กรอบงานโซลูชันเพื่อความยั่งยืนที่เพิ่งเปิดตัวใหม่ของ GlobalData ที่มุ่งติดตามนวัตกรรมเป้าหมายระดับโลกเกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษ ความหลากหลายทางชีวภาพ และทรัพยากรธรรมชาติ โดยในภาคส่วนของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมุ่งเน้นไปที่โซลูชัน Decarbonize ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ขับเคลื่อนโดยบริษัท Startup เช่น เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน เชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำ การจัดเก็บพลังงานไฟฟ้าและแหล่งพลังงานหมุนเวียน

รวม 5 Startup สายเทคโนโลยี Decarbonize

ในแต่ละปีมี Startup เกิดขึ้นใหม่หลายพันแห่งทั่วโลกและหลายบริษัทมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น เทคโนโลยี Decarbonize อ้างอิงจากข้อมูล Global Startup Heat Map บนแพลตฟอร์ม StartUs Insights Discovery ที่ระบุว่า ในปี 2022 มี Startup ที่พัฒนาโซลูชัน Decarbonize มากถึง 2,457 บริษัททั่วโลก

บทความนี้ PTT ExpresSo ได้คัดเลือกและรวบรวมข้อมูล 5 Startup สายเทคโนโลยี Decarbonize ในวงการยานยนต์ที่น่าจับตามองมานำเสนอเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับคุณแล้ว ดังนี้

1. Eco Energy International

การเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงทางเลือกเป็นแนวคิดขั้นต้นของการกำจัดคาร์บอนให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ เนื่องจากรถยนต์รุ่นเก่าที่ใช้เชื้อเพลิงจากปิโตรเลียมเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลภาวะ แม้ว่ายานยนต์ไฟฟ้าจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจแต่ก็มีราคาค่อนข้างสูงจนทำให้ผู้ใช้รถยนต์หลายคนยังไม่กล้าตัดสินใจซื้อ

ด้วยเหตุนี้ Eco Energy International บริษัท Startup ในประเทศสหรัฐอเมริกาจึงเริ่มต้นพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพด้วยการผลิตน้ำมันดีเซลหมุนเวียน (Renewable Diesel) จากขยะมูลฝอยในเขตเทศบาล ซึ่งใช้กระบวนการผลิตแนวทางเดียวกันกับปิโตรเลียมดีเซล (Petro-Diesel) จึงมีคุณสมบัติเหมือนกันทางเคมีแต่ไม่ก่อให้เกิดคาร์บอน ช่วยให้ผู้ใช้รถยนต์รุ่นเก่าไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อยานยนต์ไฟฟ้าหรือหาวิธีดัดแปลงเครื่องยนต์เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

Decarbonize Technology_Lower CO2 emissions

2. Jaunt Motors

ความกังวลเรื่องต้นทุนของยานยนต์ไฟฟ้าที่สูงในช่วงเริ่มต้นทำให้ผู้คนลังเลใจที่จะซื้อและถือเป็นความท้าทายที่ขัดขวางกระบวนการ Decarbonize ในภาคยานยนต์ ดังนั้น Jaunt Motors บริษัท Startup ในประเทศออสเตรเลียจึงได้คิดค้นและนำเสนอโซลูชันการติดตั้งชิ้นส่วน EV ที่พร้อมใช้งานเพิ่มเติม ประกอบด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ระบบชาร์จ เบรกแบบหมุนเวียน แบตเตอรี่ ตลอดจนพวงมาลัยพาวเวอร์จากผู้ผลิตรายต่างๆ เช่น ใช้ชุดแบตเตอรี่ของ Tesla มอเตอร์ไฟฟ้าของ Netgain เป็นต้น

ประโยชน์ที่ผู้ใช้ยานยนต์จะได้รับ คือ การแปลงโฉมรถเครื่องยนต์สันดาปภายในทั่วไปให้กลายเป็นยานยนต์ไฟฟ้าด้วยชิ้นส่วน EV ที่มีคุณภาพแต่ใช้ต้นทุนต่ำ นอกจากจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนแล้ว โซลูชันดังกล่าวยังช่วยเพิ่มอายุการใช้งานของยานพาหนะได้อีกด้วย

3. Traxial

เนื่องจากการจัดหาวัสดุสำหรับผลิตยานยนต์ไฟฟ้ามีส่วนเพิ่มการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างต่อเนื่อง การคิดค้นเทคโนโลยีที่ช่วยปรับปรุงกระบวนการจัดหาวัสดุและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเพื่อลดปริมาณ Carbon Footprint จากการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าจึงเป็นสิ่งสำคัญ

Traxial บริษัท Startup สัญชาติเบลเยียมเล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหานี้ จึงได้พัฒนา Yokeless Axial Flux Motors ซึ่งเป็นมอเตอร์ไฟฟ้าความเร็วสูงสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า โดยผสมผสานระหว่างระบบระบายความร้อนที่ได้รับการจดสิทธิบัตร, มอเตอร์เหนี่ยวนำแม่เหล็กถาวรแบบโรเตอร์คู่, Yokeless Stator และเหล็กไฟฟ้าเพื่อเพิ่มความหนาแน่นของพลังงาน นอกจากนี้ มอเตอร์ของ Traxial ยังมีน้ำหนักเบาจึงเหมาะกับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าภาคพื้นดิน รวมทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและประหยัดเชื้อเพลิงได้อีกด้วย

4. ELO Mobility

เนื่องจากยานยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่จะช่วย Decarbonize ได้อย่างยั่งยืนก็ต่อเมื่อใช้พลังงานหมุนเวียนในการชาร์จไฟเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม ยานยนต์ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนจะปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ รวมทั้งใช้ระยะเวลาในการเติมเชื้อเพลิงพลังงานไฮโดรเจนน้อยกว่ายานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) อีกด้วย

นั่นคือเหตุผลที่ ELO Mobility บริษัท Startup ในประเทศเยอรมนีเริ่มคิดค้นและให้บริการออกแบบรถบัสเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ซึ่งมี Modular Platform ที่ผสมผสานองค์ประกอบการจัดการพลังงาน ระบบการตรวจวัดระยะและส่งข้อมูลทางไกล รวมทั้งการพัฒนารถไฟที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจน นอกจากนี้ ELO Mobility ยังได้ปรับปรุงรถโดยสารประจำทางรูปแบบใหม่ รุ่น ELO H2 Bus ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถ OEM ออกสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็วและช่วยลดต้นทุนการผลิตได้อีกด้วย

Decarbonize Technology_Lower CO2 emissions

5. Uniti

ผู้คนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมักชอบใช้บริการรถร่วมและระบบขนส่งสาธารณะมากกว่าการเป็นเจ้าของรถยนต์ เพราะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างยั่งยืนมากกว่า ด้วยเหตุนี้ แค่ยานยนต์ไฟฟ้าอาจยังไม่เพียงพอและไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในการ Decarbonize วงการยานยนต์ให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero Emission

Uniti บริษัท Startup สัญชาติสวีเดนได้ริเริ่มสร้างยานยนต์ไฟฟ้าที่ออกแบบเพื่อการสัญจรร่วมกัน โดยใช้กลยุทธ์การจัดการคาร์บอนและทรัพยากร (Carbon and Resource Management Strategy: CRMS) เพื่อพัฒนายานยนต์ที่เป็นกลางต่อสภาพอากาศ น้ำหนักเบา และคล่องตัว เลือกใช้วัสดุและเทคนิคการผลิตที่เหมาะสมกับการสัญจรในเมือง นอกจากนี้ ยังใช้แนวทางการออกแบบที่ช่วยอำนวยความสะดวกแบบ Peer-to-Peer (P2P) รวมถึงการใช้งานแบบ Fleet Car Sharing ด้วย

สรุป

Startup สายเทคโนโลยี Decarbonize ในวงการยานยนต์ทั้ง 5 บริษัทที่เราได้นำเสนอในบทความนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะหยุดยั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกจากการปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสะสมมาเป็นเวลานานจนเปรียบเสมือนภูเขาน้ำแข็งที่กำลังละลายอย่างรวดเร็ว

ดังนั้น ทุกธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์จึงจำเป็นต้องร่วมมือกันสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้วยการคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยี Decarbonize ร่วมกับแนวทางต่างๆ เช่น การดักจับคาร์บอน ระบบการค้าคาร์บอน รวมทั้งการลงทุนด้านพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ เพื่อให้การบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emission ไม่ไกลเกินความเป็นจริง

ติดตามข่าวสารและคอนเทนต์ดีๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อมที่คุณไม่ควรพลาด

ได้ที่ Facebook PTT ExpresSo

 

New call-to-action

ธุรกิจคุณอยู่จุดไหนใน Startup Stages

SHARE

ตั้งแต่วินาทีที่คุณตัดสินใจก่อตั้ง Startup หมายถึงการเริ่มต้นก้าวเข้าสู่วงจร Startup Stages ซึ่งมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง และต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่คาดเดาหรือเอาชนะได้ยาก จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ในแต่ละปีจะมีธุรกิจ Startup จำนวนมากที่ล้มเหลวภายในช่วงไม่กี่ปีแรกของการก่อตั้ง

รายงานของ Startup Genome ปี 2019 ระบุว่า 90% ของ Startup ที่ล้มเหลวไม่ได้เป็นเพราะความโชคร้ายหรือปัจจัยของสภาวะตลาดที่อยู่เหนือการควบคุมแต่มักเกิดจากปัจจัยภายใน เช่น การตัดสินใจที่ผิดพลาด การขาดความพร้อมและไม่มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง จึงมองไม่เห็นภาพที่ชัดเจนว่าธุรกิจของตนเองอยู่จุดไหนและจะต้องเดินหน้าต่อไปทางใด

บทความนี้ PTT ExpresSo จะพาไปทำความรู้จัก Startup Stages ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการทุกคนต้องรู้ เพื่อเริ่มต้นขับเคลื่อนและพัฒนาธุรกิจให้ก้าวไปในแต่ละขั้นได้อย่างมั่นคงและประสบความสำเร็จ

มาสำรวจกันว่า ตอนนี้ธุรกิจของคุณกำลังอยู่จุดไหนใน Startup Stages ทั้ง 5 ขั้น ดังต่อไปนี้

startup stages ธุรกิจ

ขั้นที่ 1: Seed Stage

เป็นระยะเริ่มต้นของวงจรธุรกิจ ก่อนที่ Startup จะเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ คุณจำเป็นต้องมีแนวคิดทางธุรกิจและความพร้อมที่จะลงมือทำ ซึ่งควรนำแนวคิดนั้นมาประเมินศักยภาพและความเป็นไปได้ด้วยการรวบรวมคำแนะนำและความคิดเห็นจากบุคคลต่างๆ ให้มากที่สุด เช่น เพื่อนฝูง ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ผู้ร่วมธุรกิจ หรือผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมที่คุณสามารถเข้าถึงได้ เพราะความสำเร็จของธุรกิจมักขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความสามารถของคุณ สภาวะของตลาดที่ต้องการจะแข่งขัน และความสามารถในการหาแหล่งเงินทุนในระยะเริ่มต้น

โดยสรุป นี่คือระยะที่เปิดโอกาสให้คุณพิจารณาความเป็นไปได้ของแนวคิดทางธุรกิจและถามตัวเองว่าคุณมีศักยภาพที่จะทำให้มันประสบความสำเร็จได้หรือไม่ก่อนจะก้าวสู่ขั้นต่อไป

ขั้นที่ 2: Startup Stage

เมื่อคุณได้ตรวจสอบและปรับปรุงแนวคิดทางธุรกิจอย่างละเอียดทุกแง่มุมจนมั่นใจว่าพร้อมแล้ว ก็ถึงเวลาเริ่มลงมือทำธุรกิจให้เป็นรูปเป็นร่าง หลายคนเชื่อว่านี่เป็นระยะที่เสี่ยงที่สุดของวงจรธุรกิจทั้งหมด เพราะความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในขั้นนี้จะส่งผลกระทบต่อบริษัทในปีต่อๆ ไป และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ Startup จำนวนมากต้องล้มเหลว

ดังนั้น ความสามารถในการปรับตัวจึงเป็นสิ่งสำคัญ คุณควรใช้เวลาส่วนใหญ่ในขั้นตอนนี้ไปกับการปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการของคุณให้ตอบโจทย์และสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าตั้งแต่รายแรก อาจมีปัญหาและข้อเสนอแนะมากมายที่ทำให้คุณรู้สึกสับสน การวางแผนล่วงหน้าที่ดีและฝึกพิจารณาสิ่งต่างๆ ด้วยความรอบคอบจนได้คำตอบที่ชัดเจนจะช่วยป้องกันการตัดสินใจผิดพลาดได้ดียิ่งขึ้น

startup stages ธุรกิจ

ขั้นที่ 3: Growth & Established Stage

ธุรกิจที่อยู่ในขั้นนี้จะเริ่มมีการเติบโตทั้งด้านรายได้และจำนวนลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ทำให้กระแสเงินสดหมุนเวียนดีขึ้น มีรายได้ประจำที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่อเนื่อง มองเห็นผลกำไรที่งอกเงยขึ้นอย่างช้าๆ แต่สม่ำเสมอ

ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในขั้นนี้ คือ การแบ่งเวลาให้กับบทบาทหน้าที่ใหม่ๆ ที่คุณต้องให้ความสนใจมากขึ้น เช่น การจัดการรายได้ที่เพิ่มขึ้น การวางระบบดูแลลูกค้า การรับมือคู่แข่งในตลาด การสรรหาบุคลากรเพิ่มขึ้น ฯลฯ

ทั้งนี้ การจ้างพนักงานที่มีศักยภาพสูงเป็นสิ่งที่ผู้ก่อตั้งทุกคนควรให้ความสำคัญกับกระบวนการสรรหา เพราะทีมงานที่มีความสามารถจะเข้ามารับช่วงต่อความรับผิดชอบที่เคยอยู่ภายใต้การควบคุมของคุณได้อย่างมีประสิทธิภาพและไว้วางใจได้ ทำให้คุณมีเวลาเหลือไปทำงานส่วนอื่นที่จำเป็นกว่าเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตโดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง

ขั้นที่ 4: Expansion Stage

ธุรกิจในระยะนี้มักจะเห็นการเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งในด้านรายได้และกระแสเงินสด เนื่องจากมีการวางรากฐานและสร้างระบบธุรกิจจนมีสถานะที่มั่นคงในอุตสาหกรรมแล้ว แต่ในการทำธุรกิจ หากคุณไม่ก้าวไปข้างหน้า แปลว่าคุณกำลังถอยหลังและอาจถูกคู่แข่งแซงโดยไม่ทันตั้งตัว

ดังนั้น คุณจึงต้องเริ่มคิดถึงการขยายขอบเขตธุรกิจออกไปให้กว้างขึ้น โดยคำนึงถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการขยายธุรกิจที่รวดเร็วหรือใหญ่โตเกินไปด้วย เนื่องจากการมีโมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอยู่เบื้องหลังไม่ได้รับประกันว่าจะได้ผลเช่นเดิมในตลาดอื่นๆ เห็นได้จาก Startup จำนวนมากที่ขยายตัวแล้วล้มเหลว

สิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันความเสี่ยงได้ คือ การวางแผนอย่างรอบคอบ พิจารณาทรัพยากรทั้งหมดที่คุณมีอยู่เพื่อประเมินต้นทุนและผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้นจากการขยายธุรกิจ นอกจากนี้ ทุกการเปลี่ยนแปลงจะต้องไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อคุณภาพสินค้าและบริการที่คุณเคยมอบให้กับลูกค้าในปัจจุบันด้วย

ขั้นที่ 5: Maturity & Exit Stage

เมื่อผ่านขั้นตอนการขยายตัวของธุรกิจแล้ว บริษัทของคุณควรเห็นผลกำไรที่มั่นคงแบบปีต่อปีหรือยังคงรักษาระดับการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง อาจกล่าวได้ว่าเจ้าของธุรกิจในขั้นนี้จะต้องเผชิญกับสองทางเลือก คือ ผลักดันให้ธุรกิจขยายตัวต่อไปหรือออกจากวงจรธุรกิจ

หากคุณตัดสินใจที่จะขยายธุรกิจเพิ่มเติม ต้องถามตัวเองให้แน่ใจก่อนว่าธุรกิจจะเติบโตต่อไปได้หรือไม่? มีโอกาสเพียงพอสำหรับการขยายตัวหรือเปล่า? ธุรกิจของคุณมีความมั่นคงทางการเงินมากพอที่จะรองรับการขยายธุรกิจที่ไม่ประสบความสำเร็จแค่ไหน? และคำถามที่สำคัญที่สุด คือ คุณมีความเป็นผู้นำที่พร้อมจะขยายธุรกิจเพิ่มเติมในระดับนี้จริงหรือไม่? เพราะมีหลายบริษัทที่เจ้าของตัดสินใจจ้าง CEO มืออาชีพขึ้นมา บริหารงานแทนเพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ

ในขณะที่ผู้ก่อตั้ง Startup อีกส่วนหนึ่งเลือกที่จะมองหาโอกาสขายกิจการในขั้นนี้แทนการขยายธุรกิจด้วยตัวเอง โดยอาจเป็นการขายหุ้นบางส่วนหรือขายทั้งหมดก็ได้ ขึ้นอยู่กับมูลค่าบริษัทและการเจรจาระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย

สรุป

การเข้าใจ Startup Stages จะช่วยให้คุณสามารถเดินเกมธุรกิจได้อย่างมั่นคงท่ามกลางความท้าทายและโอกาส รวมทั้งสามารถคาดการณ์ปัญหาและอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละขั้นที่ธุรกิจของคุณดำเนินอยู่หรือกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ขั้นต่อไป

ยิ่งธุรกิจ Startup ของคุณเติบโตขึ้นมากเท่าไร การพัฒนาเป้าหมายของธุรกิจ วัตถุประสงค์ การลำดับความสำคัญและวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจก็เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจมากขึ้นตามไปด้วย และนั่นคือเหตุผลที่การตระหนักรู้ถึงขั้นตอนของ Startup Stages จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

ติดตามข่าวสารและคอนเทนต์ดีๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อมที่คุณไม่ควรพลาด

ได้ที่ Facebook PTT Express

 

New call-to-action

การบริหารแบบ Micromanagement: ข้อควรระวังในการขับเคลื่อนธุรกิจ Startup

SHARE

การบริหารแบบ Micromanagement ไม่ช่วยให้ Startup ไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืนและอาจสั่นคลอนความมั่นคงของธุรกิจได้อย่างไม่น่าเชื่อ

เนื่องจาก Micromanagement เป็นวิธีจัดการธุรกิจโดยสร้างภาพลวงตาว่าทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ก่อตั้ง และจะช่วยป้องกันไม่ให้มีความผิดพลาดใดๆ เกิดขึ้น แต่น่าเสียดายที่สิ่งที่คิดอาจตรงกันข้ามกับความเป็นจริง เพราะเมื่อผู้ก่อตั้งให้ความสำคัญกับงานยิบย่อยมากเกินไปก็จะไม่มีเวลามุ่งเน้นไปที่บทบาทและความรับผิดชอบในภาพรวม ซึ่งมีความสำคัญและส่งผลต่อความอยู่รอดของธุรกิจในระยะยาว

บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักว่า Micromanagement คืออะไร? มีผลกระทบอย่างไร? พร้อมแนะนำ 5 วิธีจัดการธุรกิจให้หลุดจากกรอบ Micromanagement

 Micromanagement startup ธุรกิจ ทางแก้

Micromanagement คืออะไร?

Micromanagement คือ การบริหารจัดการธุรกิจที่มุ่งเน้นการควบคุมมากเกินไป และใส่ใจในรายละเอียดเกี่ยวกับงานของลูกน้องมากกว่าการมองภาพใหญ่ของธุรกิจ ซึ่งในบางกรณีการจัดการรูปแบบนี้อาจเหมาะสม เช่น โครงการขนาดเล็ก แต่โดยทั่วไป Micromanagement มักมีความหมายเชิงลบเพราะแสดงให้เห็นถึงการขาดความไว้วางใจและจำกัดเสรีภาพในการทำงานของพนักงานมากเกินเหตุ

ต่อไปนี้ คือสัญญาณเตือนที่ควรระวังว่าคุณกำลังตกหลุมพรางของการบริหารธุรกิจ Startup แบบ Micromanagement อยู่หรือไม่

  • เชื่อมั่นในกระบวนการตัดสินใจจากบนลงล่าง
  • ใส่ใจรายละเอียดมากกว่าผลลัพธ์ปลายทาง
  • ล้มเหลวในการมอบหมายงาน และเข้าไปพัวพันกับการทำงานของลูกน้องมากเกินไป
  • ไม่ค่อยพอใจกับผลงานของลูกน้อง
  • ชอบให้ลูกน้องทำงานตามคำสั่งทุกขั้นตอน
  • ร้องขอให้มีการอัปเดตความคืบหน้าของงานบ่อยเกินไป
  • สนุกกับการจับผิดข้อบกพร่องและแก้ไขงานผู้อื่น

ผลกระทบของ Micromanagement ที่ควรระวัง

Micromanagement ส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการทำงานและทำให้ระดับการมีส่วนร่วมของพนักงานลดลง รวมทั้งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้พนักงานตัดสินใจลาออกจากบริษัท นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบด้านลบของ Micromanagement อีกมากมายที่ควรระวัง เช่น

  • Productivity หรือผลิตภาพ และอัตราการเติบโตของธุรกิจลดลง
  • ปิดกั้นโอกาสในการริเริ่มนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ
  • พนักงานไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน เพราะไม่รู้ว่าผลงานที่ทำจะได้รับการชื่นชมหรือมีคุณค่าสำหรับบริษัทหรือไม่
  • พนักงานสูญเสียความมั่นใจในการทำงานและมีแนวโน้มที่จะพึ่งพาผู้จัดการมากขึ้น
  • พนักงานขาดแรงบันดาลใจที่จะเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเอง
  • ปัญหาสุขภาพจิตและความเครียดอันเนื่องมาจากการถูกตำหนิหรือต้องคอยรองรับอารมณ์ของผู้จัดการอยู่เป็นประจำ
  • พนักงานรู้สึกไม่มั่นคงในการทำงาน กลัวถูกลดตำแหน่งหรือโดนไล่ออกโดยไม่เป็นธรรม

Micromanagement startup ธุรกิจ ทางแก้

5 วิธีจัดการธุรกิจให้หลุดจากกรอบ Micromanagement

กุญแจสำคัญของการจัดการธุรกิจให้หลุดจากกรอบ Micromanagement คือ การไว้วางใจและปล่อยวางในส่วนงานที่ความเสี่ยงน้อย ผู้ก่อตั้ง Startup ส่วนใหญ่มักประสบปัญหาไม่กล้ามอบความไว้วางใจให้กับพนักงานอย่างเต็มที่ เพราะยังกลัวความเสี่ยงและความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจ หากไม่ได้เป็นผู้ควบคุมดูแลทุกอย่างด้วยตัวเอง

ต่อไปนี้ คือ 5 วิธีที่จะช่วยให้คุณปล่อยวางและสามารถจัดการธุรกิจออกจากกรอบ Micromanagement ได้สำเร็จ

1. จ้างงานเฉพาะคนที่ใช่

กระบวนการจ้างงานเป็นขั้นตอนสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่ดีขึ้น เพราะการจ้างคนที่ใช่จะช่วยให้คุณอุ่นใจได้เสมอ โดยเฉพาะพนักงานที่มีความรับผิดชอบสูงจะทำให้คุณสามารถมองข้ามการจัดการแบบ Micromanagement และยอมมอบความไว้วางใจให้ทำงานต่างๆ แทนมากขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้น ควรใช้เวลากับกระบวนการสรรหาและตรวจสอบให้แน่ใจว่า ผู้สมัครคนใดที่มีความเหมาะสมทั้งในแง่คุณสมบัติและความเข้าใจเกี่ยวกับงานตรงตามที่บริษัทกำลังมองหาอยู่มากที่สุด

2. บอกความคาดหวัง ไม่ใช่งาน

ก่อนจะเริ่มต้นทำโครงการอะไร ให้คุณบอกเป้าหมายและความคาดหวังที่ชัดเจนแทนการอธิบายแบบลงรายละเอียดเกี่ยวกับงานแต่ละอย่างว่าใครต้องทำอะไรและต้องทำอย่างไร จากนั้น ให้พนักงานเป็นคนรับผิดชอบการทำงานเพื่อนำไปสู่เป้าหมายนั้นเอง ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดแรงกดดันให้พนักงานไม่รู้สึกว่าถูกควบคุมตลอดเวลา และเปลี่ยนบทบาทของคุณให้กลายเป็นผู้นำที่คอยสนับสนุนเมื่อลูกน้องต้องการ

3. มอบหมายความไว้วางใจทีละเล็กทีละน้อย

การเปลี่ยนจาก Micromanagement เต็มรูปแบบไปสู่การมีส่วนร่วมด้านการจัดการที่น้อยลงอาจเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ก่อตั้ง Startup ซึ่งในทางปฏิบัติ คุณไม่จำเป็นต้องเร่งรัดการเปลี่ยนแปลงด้วยการมอบความรับผิดชอบทั้งหมดให้ผู้อื่นทันที หรือละทิ้งการบริหารจัดการทุกอย่างไปแบบปัจจุบันทันด่วน แต่สามารถเริ่มต้นด้วยการมอบหมายงานให้กับพนักงานที่เหมาะสมทีละเล็กทีละน้อยเพื่อถอยบทบาทออกมาอย่างช้าๆ วิธีนี้จะช่วยให้ทั้งคุณและพนักงานได้มีเวลาปรับตัวและเตรียมความพร้อม รวมทั้งช่วยลดความกังวลของคุณและป้องกันความเสี่ยงในด้านต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจได้อีกด้วย

4. ส่งเสริมวัฒนธรรมการสื่อสารที่เปิดกว้าง

Micromanagement เป็นสาเหตุของการขาดความไว้วางใจและทำให้เกิดปัญหาด้านการสื่อสารระหว่างลูกน้องกับหัวหน้า หรือลูกจ้างกับนายจ้าง ดังนั้น ถ้าต้องการให้บริษัทของคุณมีวัฒนธรรมการทำงานและการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในฐานะผู้ก่อตั้งจึงต้องทำให้พนักงานรู้สึกสบายใจที่จะแบ่งปันความคิดเห็น กล้าที่จะบอกปัญหาและข้อเสนอแนะในการทำงานกับคุณได้อย่างสนิทใจ ซึ่งวิธีนี้จะเป็นรากฐานของการสร้างทีมที่แข็งแกร่งทั้งด้านความคิด คำพูด และการลงมือทำ

5. ให้พนักงานมีส่วนร่วมหรือมีความเป็นเจ้าของ

ลองเปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจ เช่น การให้สิทธิ์ถือหุ้น วิธีนี้จะทำให้พนักงานรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท ไม่ใช่แค่คนที่รับจ้างทำงานให้เพียงอย่างเดียว จึงช่วยกระตุ้นให้พวกเขาอยากทำงานหนักขึ้น รวมทั้งตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ ด้วยความรอบคอบและชาญฉลาดยิ่งขึ้น เพื่อปกป้องผลประโยชน์และสร้างผลกำไรที่มากขึ้นให้กับบริษัท

สรุป

ผู้ก่อตั้ง Startup มักตกหลุมพรางของ Micromanagement เพราะเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจมาตั้งแต่เริ่มต้น จึงมั่นใจว่าตนเองคือบุคคลเดียวที่สามารถตัดสินใจและควบคุมการดำเนินงานต่างๆ ได้ดีที่สุด แต่ถ้ายังดึงดัน ไม่ยอมปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการธุรกิจด้วยการมองภาพใหญ่ให้มากขึ้น ก็อาจนำไปสู่ปัญหาที่บานปลายจนทำให้ธุรกิจต้องสะดุดล้มลงในที่สุด

แม้ว่าการปล่อยวางเพื่อเปลี่ยนแปลงจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่เมื่อผู้ก่อตั้ง Startup เริ่มตระหนักและเข้าใจถึงปัญหาก็จะนำไปสู่การเรียนรู้วิธีจัดการธุรกิจให้หลุดจากกรอบ Micromanagement ด้วยการสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่ทุกคนเป็นเจ้าของความสำเร็จของบริษัท รวมทั้งสามารถค้นหาจุดสมดุลระหว่างการมอบความไว้วางใจกับการควบคุมพนักงาน เพื่อช่วยขับเคลื่อนธุรกิจ Startup ให้เติบโตต่อไปในอนาคตได้อย่างยั่งยืน

 

ติดตามข่าวสารและคอนเทนต์ดีๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อมที่คุณไม่ควรพลาด

ได้ที่ Facebook PTT Expresso

New call-to-action
  • SUBSCRIBE TO BE
    THE FIRST INNOVATOR.

logo