Synergy คือรูปแบบการทำธุรกิจที่ผสานความสามารถระหว่างองค์กร ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ บุคลากร หรือเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มความสามารถในการทำงานทั้งหมด ทำให้มีโอกาสในการทำกำไรมากขึ้น และใช้ต้นทุนโดยรวมที่ลดลง ซึ่งอาจเป็นการควบรวมธุรกิจโดยตรงหรือการให้ความร่วมมือก็ได้
เรื่อง Synergy มีมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา แต่กระแสของเรื่องนี้กลับเงียบหายไปในเวลาไม่นาน ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เราจะมาหาคำตอบกัน
1+1 = 3 หลักสำคัญของการทำธุรกิจ Synergy
การทำธุรกิจแบบ Synergy มีหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การควบรวมองค์กร การให้ความร่วมมือระหว่างองค์กร การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี บุคลากร ไปจนถึงการขอความร่วมมือในการขายสินค้า (Cross-Selling และ Up-Selling) ของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งการทำธุรกิจแต่ละรูปแบบก็จะมีจุดอ่อน จุดแข็ง แตกต่างกันออกไป เช่น การควบรวมระหว่างสององค์กร อาจทำให้มีอัตราการเติบโตและการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีที่เหนือกว่า แต่ก็ทำให้ต้องมีการจัดสรรเงินทุนและการวิจัยสิ่งต่างๆ ใหม่ เป็นต้น
โดยหลักการเบื้องต้นของการทำงานแบบ Synergy คือ
- การตั้งเป้าหมายร่วมกัน ที่ต้องสูงกว่าการตั้งเป้าหมายแบบปกติ
- การแบ่งปันข้อมูล วัตถุดิบ และบุคลากรระหว่าง 2 องค์กร
- การให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพในการพัฒนาองค์กร
จุดร่วมของ Synergy ทุกรูปแบบก็คือ ถ้าร่วมมือประสิทธิภาพจะต้องเหนือกว่า และการร่วมมือนั้นจะต้องไม่ทำให้เกิดปัญหาระหว่าง 2 องค์กร (หรือหน่วยงาน) ทั้งระยะสั้นและระยะยาว สิ่งเหล่านั้นคือหัวใจสำคัญในการทำงานแบบ Synergy ถ้าทำแล้วแย่ลง ควรหลีกเลี่ยง เพราะไม่ใช่ทุกองค์กรเหมาะกับการทำธุรกิจแบบนี้
ประโยชน์ของ Synergy
หากองค์กรของคุณสามารถปรับใช้ Synergy ได้อย่างมีคุณภาพ จะได้ประโยชน์โดยตรง 3 เรื่องหลัก คือ
1.ความหลากหลายในการทำงาน
ปริมาณคนในองค์กรที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลตรงต่อความหลากหลายในการทำงานที่เพิ่มขึ้นตาม ขอบเขตของการทำงานทั้งหมดก็จะเพิ่มขึ้นด้วย ส่งผลให้งานที่ทำรวดเร็วมากขึ้น มีความแม่นยำ มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ใช้เวลาที่สั้นลง
2.พัฒนาการของการทำงาน
Synergy ทำให้เกิดการแข่งขันภายในองค์กรเพิ่มขึ้น ต่างคนต่างต้องให้ความสำคัญกับการทำงานในหน้าที่ของตัวเอง เพื่อพัฒนาซึ่งกันและกัน และความสำเร็จก็เท่ากับความก้าวหน้าของทั้งสององค์กร
3.ความสร้างสรรค์ในการทำงาน
การมีคนมากก็ย่อมมีไอเดียที่มากขึ้นตาม ทั้งคุณภาพและปริมาณ การสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้มีประสิทธิภาพเป็นอีกจุดแข็งของการทำงานแบบ Synergy ซึ่งหากมีการปรับใช้ ทางผู้บริหารควรมีการกำหนดทิศทางการทำงานในส่วนนี้อย่างเหมาะสมเพื่อเปิดโอกาสในความคิดที่หลากหลาย เพื่อการทำงานที่ดียิ่งขึ้น
นอกเหนือจากนั้น Synergy ยังช่วยในการบริหารจัดการปัจจัยต่างๆ ทำให้รับรู้วิสัยทัศน์ขององค์กรที่ร่วมมือด้วยและปรับใช้สิ่งเหล่านั้นร่วมกับองค์กรของเราอย่างเหมาะสม
บทบาทของ Synergy ที่หายไป
ทำไมจึงไม่ค่อยมีการพูดถึง Synergy หากการทำงานในรูปแบบนี้เวิร์ก หากกล่าวแบบเรียบง่ายที่สุดคือเทรนด์การทำงานแบบ Synergy นั้น ถูกกลืนเข้าไปในกระแสของการทำองค์กรสมัยใหม่ ที่ความร่วมมือดูจะเป็นเรื่องธรรมดา มิใช่อะไรที่พิเศษอีกต่อไป อีกทั้งการทำงานแบบใหม่นั้นยังรองรับความหลากหลายและวัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่างได้ดีกว่า ไม่จำเป็นต้องมีการจูนบุคลากรเข้าหากันเพื่อทำงาน
Synergy ภายใต้การทำงานปัจจุบัน
แน่นอนว่าการทำธุรกิจแบบ Synergy นั้นไม่ได้หายไปไหนเสียทีเดียว แต่มันถูกแปรเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสิ่งทีใหญ่ยิ่งกว่า นั่นคือ Business Ecosystem หรือระบบนิเวศทางธุรกิจ และการลงทุนในรูปแบบ Joint Venture เพื่อสนับสนุนธุรกิจต่างๆ แทนที่การร่วมมือกันแบบ 100% นอกเหนือจากนั้นคือการควบรวมองค์กร ซึ่งระบบภายในจะเกิดการ Synergy โดยตัวเองเพื่อความอยู่รอดของทั้งสององค์กร
บทบาทของ Synergy ยังถูกย่อยลงมาอยู่ในระดับทีม โดยใช้เป็นพื้นฐานในการปรับความเข้าใจและการทำงานระหว่างทีมต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน โดยเฉพาะกรณีที่คนในทีมยังไม่เคยทำงานด้วยกันเลย เช่น การตั้งเป้าหมายระหว่างทีมร่วมกัน การแชร์วัตถุดิบในการทำงานระหว่างทั้งสองทีม เป็นต้น
สรุป
การทำธุรกิจแบบ Synergy เป็นอีกหนึ่งรูปแบบการทำงานที่น่าสนใจ ภายใต้ความกดดันและสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาดหรือปัญหาด้านเศรษฐกิจ การเลือกควบรวมกิจการหรือแสวงหาความร่วมมือจากองค์กรอื่นๆ รวมถึงการปรับใช้เพื่อพัฒนาความก้าวหน้าภายในทีมขององค์กรอีกด้วย
การเลือกมองรูปแบบการพัฒนาระหว่างองค์กรยังมีอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการให้ความร่วมมือ ร่วมทุน หรือแม้แต่สนับสนุนเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว ซึ่งในการทำงานจริงควรศึกษาและเลือกวิธีการที่เหมาะสมที่สุดสำหรับองค์กรของตนเอง