Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

สวย ใส ใช้พลังงานแสงอาทิตย์กับ Energy Transparent Glass

SHARE

หากพูดถึงการใช้งานพลังงานแสงอาทิตย์ ภาพอันแสนชินตาของทุกคนย่อมเป็นโซลาร์เซลล์สีทึบๆ ที่ตั้งเรียงรายกันเป็นฟาร์ม หรือแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งอยู่บนหลังคาบ้าน แต่ภาพจำนั้นอาจเปลี่ยนไปในอนาคต กับการมาของ Energy Transparent Glass โซลาร์เซลล์รูปแบบใหม่แห่งอนาคต

Energy Transparent Glass คืออะไร 

Energy Transparent Glass คือนวัตกรรมการสร้าง “โซลาร์เซลล์โปร่งแสง” ที่เหมาะกับการประยุกต์ใช้กับอาคารบ้านเรือนทั่วไป จนถึงตึกสูงตามเมืองต่างๆ ที่ในปัจจุบันนิยมใช้การตกแต่งภายนอกอาคารด้วยกระจกใส ทำให้ผู้คนที่อยู่ภายในสามารถมองเห็นทัศนียภาพได้ชัดเจน

โดยโซลาร์เซลล์ชนิดนี้จะมีความบางกว่า ใช้งานง่ายกว่า และด้วยสีที่ใส ไม่ดำทึบแบบสมัยก่อน อีกทั้งยังคงประสิทธิภาพของการดูดซับและเปลี่ยนแปลงแสงอาทิตย์มาเป็นพลังงานได้ดังเดิม

แน่นอนว่าเทคโนโลยีแบบนี้ไม่ได้มีการพัฒนาเพียงเจ้าเดียว แนวคิดของ Energy Transparent Glass มีการรังสรรค์และต่อยอดไปมากมายหลายสถาบัน โดยมีรูปแบบการทำงานที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

ClearView Power 

เทคโนโลยีนี้มีการวิจัยและพัฒนาโดย Ubiquitous Energy ที่มีการเปิดตัวไปช่วงปี 2013 และพัฒนาต่อยอดมาในปัจจุบัน ซึ่งเป็นฟิลม์ใสสามารถมองทะลุได้ด้วยตาเปล่า มีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนแสงอาทิตย์เป็นพลังงานอยู่ที่ 9.8%

โดยในปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์บ้างแล้ว ทั้งในส่วนของการใช้ร่วมกับอุปกรณ์ต่างๆ และติดตั้งบนกระจกอาคารอีกด้วย

SmartSkin

เทคโนโลยีนี้ถูกพัฒนาจากบริษัท Physee จากยุโรป โดยอยู่ในรูปแบบของกระจกใสที่ทำงานในรูปแบบเดียวกับโซลาร์เซลล์ เพื่อสร้างพลังงานภายในอาคาร ซึ่งในปัจจุบันมีการใช้งานเชิงพาณิชย์แล้ว ซึ่งทางบริษัท Physee เองก็ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีนี้ด้วย เช่นการทำระบบอัตโนมัติและการเก็บข้อมูลพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อประมวลผล เป็นต้น

Energy Transparent Glass

Transparent Crystalline Silicon 

เทคโนโลยีนี้ได้รับการวิจัยและพัฒนาจากสถาบัน Ulsan National Institute of Science and Technology (UNIST) ในเกาหลีใต้ โดยการนำ Crystalline Silicon (c-Si)  ที่เป็นวัสดุสำหรับทำเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ มาทำให้เป็นแผ่นฟิล์มบาง มีความโปร่งแสง แต่ยังคงประสิทธิภาพในการเปลี่ยนแปลงแสงอาทิตย์เป็นพลังงานถึง 12.2%

ก้าวถัดไปของเทคโนโลยีดังกล่าวคือการพัฒนาเพื่อผลิตจำนวนมาก เพื่อใช้งานเป็น Solar Windows ตามบ้านคนจริงๆ  รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการแปลงพลังงานเป็น 15% 

คุณ Kwanyong Seo หนึ่งในทีมพัฒนาระบุไว้ว่า “เรายังต้องการให้มันมีความเสถียรเชิงกล (Mechanical Stability) และความแข็งแรงที่มากขึ้น เพื่อที่จะสามารถนำไปแทนที่บานกระจกบนอาคารต่างๆ ที่ใช้งานในปัจจุบัน”

เทคโนโลยีด้านบนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการพัฒนา Energy Transparent Glass หรือโซลาร์เซลล์แบบโปร่งแสงเท่านั้น ยังมีทีมพัฒนาอีกมากที่สนใจในการประยุกต์ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ให้มีความเข้าถึงง่ายขึ้น สะดวกมากขึ้น และสามารถใช้งานได้หลากหลายขึ้น

การใช้งาน Energy Transparent Glass ในอนาคต

Energy Transparent Glass ในปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยและพัฒนา เพื่อปรับปรุงศักยภาพของการแปลงแสงอาทิตย์เป็นพลังงานให้ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งความคาดหวังสำหรับการใช้พลังงานสะอาดที่น่าสนใจอย่างมากในสังคม โดยหากเปรียบเทียบกับการใช้งานพลังงานแสงอาทิตย์ในปัจจุบันแล้ว เรายังสามารถประยุกต์ใช้งาน Energy Transparent Glass ได้หลากหลาย ดังนี้

  • ใช้ร่วมกับรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อสนับสนุนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานสำรอง
  • ใช้งานภาคครัวเรือน ติดตั้งตามบ้านเรือนต่างๆ แทนกระจกหน้าต่าง
  • ประยุกต์ใช้งานกับสถานที่สาธารณะต่างๆ เช่น ป้ายรถเมล์ เพื่อเพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งานที่มากขึ้น
  • ติดตั้งตามอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้สามารถใช้งานเทคโนโลยี IoT ได้โดยมีพลังงานในตัว

แม้ว่าจะมีโอกาสในการการประยุกต์ใช้งานที่หลากหลายแต่ทว่าเทคโนโลยี Energy Transparent Glass นั้นยังติดประเด็นในส่วนของ “ราคา” ที่ในปัจจุบันอาจสูงไปสักเล็กน้อยหากเทียบกับการใช้งานพลังงานรูปแบบอื่นๆ รวมถึงการเข้าถึงลูกค้าที่อยู่นอกประเทศผู้พัฒนา ที่ยังนับว่าไม่ได้มีการโปรโมทได้มากเท่าที่ควร

พลังงานแสงอาทิตย์ไทยกับเทคโนโลยี Energy Transparent Glass

ประเทศไทยเองก็เป็นอีกประเทศที่มีการผลักดันพลังงานแสงอาทิตย์เป็นอย่างมาก ทว่ายังขาดความชัดเจนในการดำเนินนโยบายลงมายังภาคประชาชน จนทำให้หลายๆ คนยังรู้สึกว่าพลังงานประเภทนี้ยัง “ไกลตัว” ประชาชนคนไทยมากกว่าพลังงานชนิดอื่น

หากเทคโนโลยี Energy Transparent Glass มีการประดิษฐ์และต่อยอดในประเทศไทยเรา ก็ไม่แน่ว่ามันอาจเปลี่ยนภาพลักษณ์ของเจ้าแผ่นโซลาร์เซลล์สีดำๆ เป็นอะไรที่จับต้องได้มากขึ้น ทั้งนี้ก็ต้องจับตาดูว่าหากมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้จริง จะมีภาคส่วนใดเข้ามาสนับสนุน เปิดกว้างการใช้งานได้อย่างเต็มที่มากน้อยขนาดไหน หรือจะกลายเป็นเทคโนโลยีที่มาแล้วก็ไป ไม่ได้มีการนำมาใช้ในสังคมไทยกันแน่

New call-to-action
  • SUBSCRIBE TO BE
    THE FIRST INNOVATOR.

logo