Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

ตอบคำถาม PM 2.5 ในประเทศไทย สาเหตุคืออะไรกันแน่?

19 มี.ค. 2020
SHARE

หมอกควันสีเทาหม่นๆ เผยให้เห็นเมื่อเงยหน้า แม้เราหวังว่าจะได้เห็นเส้นขอบฟ้า ภูเขา หรือยอดตึก ทุกวันนี้ต่างถูกบดบังด้วยฝุ่น ซึ่งฝุ่นประเภทที่หลายคนได้ยินจนชินหูคือฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 นั่นเอง 

ปัญหาฝุ่นไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งจะเกิดมา แต่หากเราจะใช้คำว่ามันคือ ‘ปัญหาสะสมเรื้อรัง’ ก็ไม่ผิดนัก ช่วงเวลาที่ผ่านมาแสดงให้เห็นชัดว่าเพียงแค่การแก้ปัญหาครึ่งๆ กลางๆ ในบางจุด ไม่สามารถช่วยอะไรได้กับเรื่องที่เกิดขึ้นเลย ไม่ใช่เพียงแค่ในประเทศไทย ในระดับสากลหลายประเทศจำเป็นต้องมีการงัดมาตรการขั้นเด็ดขาดมาเพื่อจัดการกับปัญหานี้ ท่ามกลางความไม่พอใจของประชาชนที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน

รู้จัก PM 2.5 แบบคร่าวๆ

PM (Particle Matters) 2.5 หรือฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน เป็นฝุ่นในขนาดที่ตาของเรามองไม่เห็น มีแหล่งกำเนิดหลักๆ จากควันท่อไอเสียรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม การเผาสิ่งต่างๆ กลางแจ้ง

สิ่งที่เป็นจุดเด่นอย่างแรกของฝุ่น PM 2.5 คือขนาดที่เล็กมากๆ  จนมองแทบไม่เห็นด้วยตาเปล่าของมัน ทำให้เจ้าฝุ่นนี้สามารถชอนไชเข้าสู่ระบบต่างๆ ภายในร่างกาย เช่น ระบบทางเดินหายใจ ระบบเลือด และระบบการทำงานอื่นๆ เพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคต่างๆ ให้มากขึ้น นอกเหนือจากนั้นยังมีผลให้เกิด อาการไอ จาม ภูมิแพ้กำเริบ ในบางครั้งอาจมีผื่นขึ้น คันตามร่างกาย แล้วแต่ว่าคนๆ นั้นแพ้ฝุ่นมากขนาดไหน

สาเหตุ pm2.5

บางคนอาจตั้งข้อสังเกตว่าบางวันการวัดค่าฝุ่นมีการขึ้นลงสูง ขออธิบายว่านอกจากปัจจัยภายนอก เช่น ลม ฝน หรือตัวแปรอื่นๆ แล้ว การวัดค่าที่เราเห็นเป็นปกติคือค่า AQI (Air Quality Index) ที่เป็นการรายงานคุณภาพอากาศโดยรวม โดย PM 2.5 เป็นหนึ่งในตัวแปรการคำนวณเท่านั้น

สถานการณ์ PM 2.5 บนโลก 

จากความร้ายแรงที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างของฝุ่น PM 2.5 ทำให้หลายประเทศมีการขยับเพื่อแก้ปัญหา ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แน่นอนว่าบางอย่างก็สามารถช่วยได้ แต่บางอย่างก็ไม่ และนี่คือตัวอย่างการจัดการสถานการณ์ฝุ่นในแต่ละประเทศ

จีน: ประเทศที่เคยมีค่าฝุ่นสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก มีการจัดการเบื้องต้นโดยการห้ามเผาในที่สาธารณะ ติดเครื่องปล่อยน้ำเพื่อดักจับฝุ่นในที่ต่างๆ ควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมและการก่อสร้างให้ปล่อยมลพิษน้อยที่สุด ผลักดันกฎหมายรถยนต์ไฟฟ้าและควบคุมรถยนต์พลังงานฟอสซิลในการขับไปที่ต่างๆ 

อินเดีย: ปิดโรงงานไฟฟ้าที่ก่อให้เกิดฝุ่น จำกัดการใช้รถยนต์ภายในประเทศในเขตต่างๆ สนับสนุนการใช้งานขนส่งมวลชน เช่น รถไฟฟ้า และรถประจำทางให้มากขึ้น

 

ญี่ปุ่น: เพิ่มบทลงโทษรถควันดำ ลดการใช้รถยนต์เก่า ตรวจสภาพรถยนต์อย่างเข้มงวด เพิ่มการตรวจสอบฝุ่นในบริเวณต่างๆ ไม่อนุญาตให้มีการเผาในที่โล่งแจ้ง

อังกฤษ: ประเทศที่เคยเจอปัญหาฝุ่นตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 19 มีมาตรการหลักคือการลดการใช้เชื้อเพลิงและควบคุมโรงงาน ไปจนถึงการห้ามขายถ่านหินและเชื้อเพลิงที่ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 

สวีเดน: เก็บค่าธรรมเนียมการขับรถยนต์เข้าเมืองต่างๆ ส่งเสริมการใช้รถยนต์สาธารณะ และทำระบบสาธารณะให้ครอบคลุม

 

จะสังเกตได้ว่าสถานการณ์และการแก้ไขต่างๆ ล้วนมีการแก้ไขโดย ‘พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ’ และ ‘บังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับรถยนต์และการเผาอย่างเข้มงวด’ ด้วยกันแทบทั้งสิ้น นอกเหนือจากในแง่กฎหมายแล้วยังมีการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจ เช่น Green Economy ที่ช่วยเหลือปัญหาดังกล่าวในเชิงสังคมอีกด้วย 

สาเหตุของ PM 2.5 ในไทย

สำหรับประเทศไทย สาเหตุของ PM 2.5 ที่พบได้ภายในจังหวัดใหญ่ๆ คือ ฝุ่นควันจากรถยนต์เป็นหลัก เมื่อถึงวันที่ลมนิ่ง จึงทำให้ฝุ่นจากรถนั้นรวมตัวกลายเป็นกลุ่มฝุ่นที่ครอบคลุมเป็นวงกว้าง เมื่อฝุ่นส่งผลกระทบจนคนอึดอัดในการใช้ขนส่งมวลชน คนก็เลือกจะใช้รถส่วนตัว เพิ่มปริมาณฝุ่นโดยรวมมากขึ้นไปอีก

นอกเหนือจากฝุ่นที่เกิดจากรถยนต์ภายในเมืองใหญ่ๆ แล้ว ฝุ่น PM 2.5 ยังมาจากการเผาไร่ เผาป่า ตามพื้นที่ต่างๆ และบางส่วนก็มาจากการเผาของประเทศเพื่อนบ้าน และการห้ามเผายังไม่ได้รับความร่วมมือจากภาคประชาชนเท่าที่ควรแม้จะมีบทลงโทษและการช่วยเหลือลงไปในพื้นที่ โดยคำตอบส่วนใหญ่ที่ได้คือความไม่คุ้มค่าในการลงมือตัด และบางครั้งก็เป็นการ ‘ลักลอบเผา’ เรือกสวนไร่นา ชาวบ้านไม่ได้ทำเองแต่อย่างใด

สาเหตุ pm2.5

เมื่อนานวันเข้า ฝุ่นทั้งหมดก็ได้รวมตัวกัน กระจายตัว และรวมตัวกันใหม่ จากการเผาแบบไม่หยุดไม่หย่อน นอกจากฝุ่นควัน PM 2.5 แล้ว บางบริเวณยังมีเขม่าควันและเถ้าจากการเผากระจายไปทั่ว บดบังทัศนวิสัยส่งผลต่อสุขภาพคนเป็นอย่างมาก

การแก้ไข PM 2.5 อย่างยั่งยืน

จากการปฏิบัติของประเทศต่างๆ พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจราจร ขนส่งมวลชนไร้มลพิษ และการเพิ่มตัวบทกฎหมายควบคุมรถยนต์เชื้อเพลิงฟอสซิลแบบเก่า จะเป็นผลมากที่สุด โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีรถติดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก 

นอกเหนือจากนั้นคือการควบคุมการเผาตามสถานที่ต่างๆ เพิ่มการควบคุมให้เข้มงวด จริงจัง มากกว่าการทำเพียงครั้งคราว หากไม่เป็นเช่นนั้นแม้ว่าในระยะสั้นจะแก้ได้ แต่ในระยะยาวก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย

สำหรับภาคเอกชนและภาคประชาชนก็ควรมีการศึกษาเพิ่มเติม ว่ากิจกรรมใดบ้างที่ส่งผลให้ค่าฝุ่นเพิ่มมากขึ้น ลดได้ลด เลิกได้เลิก เราอาจไม่จำเป็นต้องพึ่งพาภาครัฐที่บางครั้งต้องใช้เวลาดำเนินการ แต่ร่วมด้วยช่วยกันจัดการปัญหาเฉพาะหน้ากันเอง แค่ภายในครอบครัว ภายในบริษัท พลังของคนหลายๆ คน จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวให้คลี่คลายได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาใคร

 

 

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ให้ตรงใจคุณได้ง่ายๆ ด้วยการให้ฟีดแบคและคอมเมนต์กับเราได้ที่อิโมจิด้านขวานี้ ขอบคุณครับ

 

New call-to-action
  • SUBSCRIBE TO BE
    THE FIRST INNOVATOR.

logo