Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

ก้าวทันอนาคตกับเทคโนโลยีการขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

7 พ.ค. 2019
SHARE

ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานสักแค่ไหน โลกจะก้าวไกลสักเพียงใด สิ่งที่ยังคงเกิดขึ้นคือผู้คนยังคงดำเนินชีวิตด้วยการเดินทาง บางคนใช้เวลาอยู่บนรถโดยสารพอๆ กับการพักผ่อนที่บ้านเสียด้วยซ้ำไป ทำให้เทคโนโลยีการขนส่ง เป็นสิ่งจำเป็นไม่ว่าจะอยู่ในสังคมใดก็ตาม

แม้ว่าเราจะยังชินตากับเสียงอื้ออึงของเครื่องยนต์ ฝุ่นควันเต็มถนน แต่หลายๆ อย่างกำลังเปลี่ยนแปลง ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น รถไฟฟ้า รถยนต์ไฮบริด รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ไปจนถึงไฮเปอร์ลูป ส่งผลให้ในอนาคตเราอาจจะไม่ได้เห็นภาพถนนที่เต็มไปด้วยควันแบบนี้อีก

แต่มันจะใช้เวลามากขนาดไหนเราถึงก้าวไปอยู่ในจุดๆ นั้น? ก่อนหน้าที่จะพูดถึงอนาคต เรามาดูกันก่อนดีกว่าว่าเทคโนโลยีการขนส่งตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง

เทคโนโลยีการขนส่งกับปัจจุบัน

ในปัจจุบัน น้ำมันและแก๊ส กลายเป็นพลังงานรูปแบบหลักๆ ที่เราใช้กันในระบบขนส่ง ทั้งรถส่วนตัวและรถสาธารณะ แน่นอนว่ามันสะดวก แต่ภายใต้ความสะดวกนั้น กลับทำให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาวขึ้น

“ไทยมีรถยนต์จดทะเบียนถึง 8.7 ล้านคัน ซึ่งอยู่ในกทม. 4.2 ล้านคัน”

จากสถิติช่วงปี 2560 ประเทศไทยของเรามีรถยนต์ที่จดทะเบียนอยู่บนถนนทั่วประเทศราว 8.7 ล้านคัน ซึ่งอยู่ในกทม.ถึง 4.2 ล้านคัน และแน่นอนว่าโดยส่วนใหญ่แล้วจะใช้น้ำมันหรือแก๊สเป็นหลัก ยังไม่รวมถึงปริมาณรถจักรยานยนต์ที่ไม่ด้อยไปกว่ากันเท่าไหร่

การขนส่งประเทศไทย

ปริมาณรถที่มากเกินไปนั่นเอง เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาฝุ่นควันปริมาณมาก ซึ่งเรื่องดังกล่าวเพิ่งจะมาได้รับความสนใจอย่างจริงจังในช่วงเวลาที่เกิดสภาพอากาศปิดเมื่อต้นปี 2019 ซึ่งค่าฝุ่นในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลสูงเกินมาตรฐาน ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพและการใช้ชีวิตของผู้คน

ไทย ไม่ใช่ประเทศเดียวที่ประสบปัญหาฝุ่นควันที่เกิดจากการใช้รถใช้ถนน เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และประเทศที่เต็มไปด้วยรถล้วนประสบปัญหาคล้ายคลึงกัน และแม้ว่าจะออกมาตรการแก้ที่ปลายเหตุ เช่น การห้ามรถเก่าเข้าเมือง ขับรถวันคู่วันคี่ ไปจนถึงการห้ามขับรถช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่สุดท้ายก็ต้องกลับไปพิจารณาที่ต้นเหตุ ว่าเราจะสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการขนส่งอย่างไร

ขนส่งไทยไปถึงไหนแล้ว

สำหรับประเทศไทย เรื่องที่กำลังดำเนินการเกี่ยวกับเทคโนโลยีการขนส่งและสิ่งแวดล้อม จะเน้นด้านการขนส่งสาธารณะทั่วประเทศเป็นหลัก เพื่อสนับสนุนให้คนในประเทศมีการใช้ขนส่งมวลชนมากขึ้น ลดการใช้รถส่วนตัวให้น้อยลง ดังนี้

  • การสร้างระบบรถไฟความเร็วสูงและการปรับปรุงระบบราง นำรถไฟฟ้าความเร็วสูงเข้ามาใช้และปรับปรุงระบบรางให้เป็นระบบรถไฟรางคู่ เพื่อเพิ่มตัวเลือกในการเดินทาง โดยการสร้างรถไฟฟ้าภายในตัวเมืองกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ระบบรถไฟความเร็วสูง

ปัจจุบันนอกจากการนำเข้ารถไฟมาใช้งาน ในข้อสัญญาของไทยยังระบุถึงการ “ถ่ายองค์ความรู้” ด้านเทคโนโลยี ทำให้ทีมวิศวกรของไทยได้รับความรู้เรื่องระบบรางของแต่ละประเทศมากขึ้น ซึ่งคาดว่าอนาคตประเทศไทยจะสามารถผลิตรถไฟได้ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องนำเข้ารถไฟและระบบต่างๆ จากต่างประเทศอีกต่อไป รวมถึงการตั้งกรมรางที่คอยดูแลระบบรางทั่วทั้งประเทศ เพื่อทำงานได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น

“การถ่ายองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี จะทำให้วิศวกรไทยผลิตรถไฟและระบบรางเองได้”

  • เปลี่ยนระบบขนส่งมวลชนทางบกเดิมให้เป็นพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น เช่น การเปลี่ยนรถเมล์ปัจจุบันที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นรถเมล์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งมีการทดลองวิ่งแล้ว 6 เส้นทางเมื่อปี 2018 โดยหวังว่าจะเปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้าทั้งระบบภายในปี 2565
ระบบขนส่งมวลชนทางบกพลังงานไฟฟ้า
Loxley co.,Ltd. opening a first electric bus in Thailand

นอกเหนือจากนั้นทางการไฟฟ้า ขสมก. และสวทช. ยังร่วมมือกันเพื่อวิจัยและดัดแปลงรถเมล์ปรับอากาศสภาพดีให้สามารถใช้พลังงานไฟฟ้าได้ ซึ่งอาจให้ทางเอกชนนำความรู้ในส่วนนี้ไป
ต่อยอดทางธุรกิจในอนาคต

  • ส่งเรือพลังงานไฟฟ้าสู่ลำน้ำเจ้าพระยา โครงการเรือพลังงานไฟฟ้านี้มีการให้บริการมาแล้วระยะหนึ่ง ซึ่งให้บริการในคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งแผนระยะยาวของโครงการลำน้ำนี้คือการขยายให้ครอบคลุมทั้งแม่น้ำเจ้าพระยา
เรือพลังงานไฟฟ้า
EA หรือบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) เปิดตัวเรือไฟฟ้าตัวต้นแบบร่วมมือกับกรมเจ้าท่า เตรียมให้บริการเส้นแม่น้ำเจ้าพระยา – The Standard

โดยจะมีเรือด่วนพลังงานไฟฟ้า ที่ให้บริการ 20 สถานีตั้งแต่วัดราชสิงขร ไปจนถึงท่าน้ำนนทบุรี และเรือข้ามฟากพลังงานไฟฟ้าแทนที่เรือข้ามฟากเดิม

เราคงทราบกันอยู่แล้วว่าจริงๆ ประเทศไทยไม่ได้อยู่เฉยในเรื่องการขนส่ง ทว่ามันต้องใช้เวลาทั้งในการวิจัย พัฒนา และผลิตเป็นจำนวนมาก และด้วยความที่เทคโนโลยีการขนส่งเองก็ไม่เคยหยุดที่จะก้าวหน้าเช่นกัน เรามาดูกันดีกว่าว่า ตอนนี้ในระดับโลก มีเทคโนโลยีอะไรที่น่าสนใจ และสามารถนำมาใช้ต่อยอดในไทยได้อีกบ้าง

ก้าวสู่ระดับสากลด้วยเทคโนโลยีใหม่

อย่างที่บอกว่าเทคโนโลยีไม่เคยหยุด​โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับผู้คนเช่นการขนส่ง ในต่างประเทศเองก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องไม่ต่างกัน แน่นอนว่าบางอย่างเองก็ยังอยู่ในขั้นตอนทดลอง แต่ก็คาดว่าจะใช้งานได้จริงในอนาคต

รถยนต์ไฟฟ้า ปัจจุบันรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้าไม่น่าจะเป็นเรื่องแปลกใหม่อีกต่อไป แต่สิ่งที่ต่อยอดมาจากรถยนต์ไฟฟ้าต่างหากที่สำคัญ เพราะตอนนี้บริษัทต่างประเทศเริ่มให้ความสำคัญกับความจุแบตเตอร์รี่ การใช้พลังงานที่น้อยลง รวมไปถึงการพัฒนาแบตเตอรรี่ขนาดใหญ่ที่ใช้สำหรับรถบรรทุก

ซึ่งต่างประเทศโดยเฉพาะอเมริกามีการพัฒนารถบรรทุกพลังงานไฟฟ้าแล้ว โดยเฉพาะรถบรรทุกของบริษัท Tesla ที่มีการเปิดตัวไปเมื่อปี 2017

รถยนต์ไร้คนขับ ในอดีต รถยนต์ไร้คนขับอาจเป็นเพียงแค่เรื่องในนิยายวิทยาศาสตร์ แต่ในปัจจุบันมันกลับถูกพัฒนาจนสามารถวิ่งบนถนนจริงๆ ได้แล้ว และยังมีการแซง เร่งความเร็วเมื่อถนนโล่งแทบไม่ต่างกับมนุษย์ขับเลย

รถยนต์ไร้คนขับ
Google Driveless Car by The Sunday Times Driving

และไม่ใช่บริษัทเดียวที่พัฒนารถยนต์ไร้คนขับ ตอนนี้ทั้ง Google, Tesla, BMW, Waymo และแบรนด์อื่นๆ ต่างเน้นพัฒนาเทคโนโลยีนี้มากขึ้น และคาดว่าจะได้ใช้จริงในเร็วๆ นี้

หุ่นยนต์/โดรนส่งของ การขนส่งอาจไม่ได้หยุดอยู่ที่คน แต่รวมถึงสัมภาระ สินค้า โดยเฉพาะในยุคที่การซื้อของผ่านโลกออนไลน์กำลังพัฒนา ทำให้เกิดการส่งไปหาลูกค้ารายย่อยเป็นจำนวนมาก

โดรนส่งของ
Amazon Revels New Details About Drone Deliveries. – TIME (AP Photo/Amazon)

บริษัท E-commerce รายใหญ่อย่าง Amazon จึงพัฒนาฝูงโดรนแห่งอนาคต Amazon Prime Air ที่ทำหน้าที่ส่งของตามบ้านและตึกสูงแทนที่จะใช้รถขนส่งสินค้า หรือมอเตอร์ไซค์ ซึ่งโดรนเหล่านี้จะขับเคลื่อนด้วยระบบอัตโนมัติทั้งหมด

ไฮเปอร์ลูป ปิดท้ายด้วยการขนส่งที่ได้รับความสนใจของคนไทยเป็นอย่างมากในช่วงต้นปี 2019 กับเทคโนโลยีไฮเปอร์ลูป หรือการขนส่งผ่านท่อแรงดันด้วยความเร็วสูง ซึ่งแนวคิดนี้มีการดีไซน์และทดลองอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2012 โดยทีมจากบริษัท Tesla และ SpaceX

hyperloop

ซึ่งคาดว่าไฮเปอร์ลูปอาจทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 1,200 กิโลเมตรต่อชม. แม้ว่าจะต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนาอีกมากโดยเฉพาะในแง่ความปลอดภัย แต่ก็ถือเป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจสำหรับการขนส่งในอนาคต

แม้จะไม่ถึงกับรวดเร็วทันใจ แต่ท่ามกลางหมอกควันและเสียงเครื่องยนต์ยังมีแสงสว่างลางๆ ให้เห็นการพัฒนาเทคโนโลยีการขนส่งให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงสามารถสร้างและปรับปรุงได้ด้วยตัวเองถือเป็นแผนการที่ต้องใช้เงินทุนและเวลาเป็นจำนวนมาก แต่ถ้าสำเร็จและนำมาใช้ได้จริงแล้ว จะคุ้มค่าอย่างแน่นอน

ไม่แน่ว่าในอนาคตอันใกล้หลังจากพัฒนาการขนส่งได้ตามแผนการทั้งรถไฟความเร็วสูง และรถพลังงานไฟฟ้า ภาพฝุ่นควันที่อยู่ในครรลองสายตาของเราในตอนนี้ อาจเป็นเพียงภาพถ่ายในอดีตก็เป็นได้

New call-to-action

  • SUBSCRIBE TO BE
    THE FIRST INNOVATOR.

logo