Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

“คัดแยกขยะ” อุตสาหกรรมแสนล้านภายใต้วิกฤตในปัจจุบัน

11 ธ.ค. 2019
SHARE

รู้หรือไม่ว่าธุรกิจเกี่ยวกับการจัดการขยะ รีไซเคิลขยะ และการคัดแยกขยะในประเทศไทยมีมูลค่ารวมกันมากกว่าหนึ่งแสนล้านบาท แม้ว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมบางส่วนจะเผชิญวิกฤตจากการนำเข้าขยะจากต่างประเทศ แต่ก็ยังมีการทำกำไรอยู่ไม่มากก็น้อย

สิ่งที่น่าเสียดายคือคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่เห็นมูลค่าที่แท้จริงของขยะที่ทิ้งไป และไม่ใส่ใจในการคัดแยกขยะเท่าที่ควร นอกจากจะสูญเสียโอกาสในการมีรายได้หมุนเวียนอย่างง่ายๆ แล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมมากมายตามมาอีกด้วย การทำความเข้าใจการคัดแยกขยะจึงเป็นประเด็นสำคัญในปัจจุบันที่ต้องให้ความรู้และทำความเข้าใจอย่างทั่วถึง

คัดแยกขยะ แหล่งขุมทรัพย์ที่ถูกทิ้งร้าง

ทำไมถึงเรียกการคัดแยกขยะว่า “แหล่งขุมทรัพย์ที่ถูกทิ้งร้าง” ?

สาเหตุเพราะคนที่ใส่ใจการคัดแยกขยะคือคนที่ทำหน้าที่ตรวจสอบหรือเลือกขยะนำไปขายต่อ เช่น ซาเล้ง คนรับซื้อขยะ ไปจนถึงโรงงาน แต่ประเด็นเกี่ยวกับขยะกลับไม่ได้รับการใส่ใจจากประชาชนเท่าที่ควร รวมถึงภาครัฐที่มีการสนับสนุนได้ไม่ทั่วถึง

ดังภาพที่ออกสื่อทั่วไปเกี่ยวกับการทิ้งขยะไม่เป็นที่ ในแม่น้ำและทะเลมีขยะเต็มไปหมด ตั้งแต่ถุงพลาสติกไปจนถึงที่นอน แสดงให้เห็นว่านอกจากจะไม่ใส่ใจการคัดแยกขยะแล้ว แม้แต่การทิ้งก็ยังเป็นปัญหา

คัดแยกขยะ

ในประเทศไทยมีศูนย์คัดแยกขยะและศูนย์กำจัดขยะกระจายไปทั่วทุกพื้นที่ ซึ่งมีการตรวจสอบ ปรับปรุงให้ถูกต้องตามกฎหมายมากขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป ทว่าแม้จะเป็นศูนย์ที่ใหญ่ขนาดไหนก็ยังประสบปัญหาเนื่องจากขยะที่เข้ามามีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ส่วนหนึ่งเพราะคนเลือกที่จะไม่แยกขยะของตัวเอง ทำให้ขยะที่สามารถนำมาแปรรูป หรือรีไซเคิลได้ ถูกปะปนกับขยะมูลฝอยและขยะพิษ จนหมดมูลค่า

ปัจจัยที่อยู่นอกเหนือจากนั้นคือ “ราคา” เพราะราคาขยะมีการขึ้นลงตามชนิด ตามวันรับซื้อ ไม่ต่างจากราคาหุ้น อีกทั้งยังมีความแตกต่างแยกย่อยไปตามชนิดขยะ เช่น

  • พลาสติก: พลาสติกใส พลาสติกขุ่น
  • สายไฟ: สายทองแดง สายอลูมิเนียม สายที่ปอกแล้ว สายที่ยังไม่ปอก
  • กระดาษ: กระดาษลัง กระดาษขาวดำ กระดาษสี
  • ขยะชิ้นใหญ่: เช่น ตู้เย็น พัดลม โทรทัศน์ ที่ต้องอาศัยการแยกส่วนก่อนขายโรงงาน

วันไหนขยะขายได้ราคาดี แม้แต่คนเก็บของเก่าเองก็อาจมีรายได้หลักพันบาท แต่วันไหนราคาตกและไม่มีของ รายได้เองก็จะเหลือเพียงหลักร้อย หลักสิบ นี่อาจเป็นปัญหาที่ภาครัฐและภาคเอกชนต้องเข้ามาร่วมกับดูแลควบคุมราคา ให้ประชาชนรู้สึก “คุ้มค่า” ในการจัดการขยะของตนเองต่อไป

การจัดการขยะไทยไปถึงไหนในปัจจุบัน

แม้ภายนอกเราอาจชินตากับการเห็นภาพซาเล้งและคนเก็บขยะ แต่ลึกลงไปแล้วประเทศไทยยังมีโรงงานคัดแยกขยะ และคนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับขยะจนมีรายได้หลักล้าน เช่น

    • บริษัทคัดแยกขยะวงษ์พาณิชย์: ทำธุรกิจจัดการขยะขนาดใหญ่ รับซื้อขยะ มีคอร์สสอนเกี่ยวกับขยะกันอย่างจริงจัง สร้างรายได้ให้กับคนจำนวนมาก
    • PTTGC: มีแผนลงทุนในการสร้างโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกหมุนเวียน หรือ Recycle Plastic เพื่อช่วยลดพื้นที่ในการจัดการขยะพลาสติก รวมถึงมีการสนับสนุนการรีไซเคิลขยะรูปแบบต่างๆ
    • Smart Waste Management: บริษัทรับจัดการขยะทุกประเภท ซึ่งเน้นการจัดการในเขตอุตสาหกรรมต่างๆ

ประเทศไทยมีผู้ประกอบการเกี่ยวกับขยะนับพันราย แม้แต่ในภาคประชาชนก็ยังมีการจัดการขยะกันเองอย่างเป็นระบบอยู่ เช่น ชุมชนกิ่งไม้ใหญ่ในบุรีรัมย์ ที่มีการจัดการขยะในชุมชนกันเอง สามารถลดปริมาณขยะจาก 690 กิโลกรัม เหลือ 17.9 กิโลกรัมใน 3 เดือน

คัดแยกขยะ

ซึ่งปัจจุบันภาครัฐเองก็เข้ามามีบทบาทในเรื่องการจัดการขยะปัจจุบันมากขึ้น ในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ หน่วยงานจะจัดตั้งศูนย์คัดแยกขยะ เช่น ในงานกาชาดประจำปี 2562 ที่มีกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับขยะและการรีไซเคิล โดยให้ผู้ร่วมงานคัดแยกขยะก่อนทิ้งด้วยตนเอง

นอกเหนือจากนั้นยังมีการร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชนในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะตามที่ต่างๆ แต่ยังต้องมีการศึกษาและวิจัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ผลที่ดีที่สุดและกระทบภาคประชาชนน้อยที่สุด

อุปสรรคและความก้าวหน้าของการแยกขยะในอนาคต

นอกจากธุรกิจเกี่ยวกับการคัดแยกขยะทำงานภายใต้วิกฤตสิ่งแวดล้อม ยังต้องทำงานภายใต้วิกฤตทางธุรกิจ เนื่องด้วยมีการนำเข้าขยะจากต่างประเทศ ทำให้มูลค่าขยะโดยรวมนั้นลดลงอย่างมาก ส่งผลให้ผู้ทำธุรกิจรายย่อยต่างผันตัวไปประกอบอาชีพอื่นๆ ที่สามารถสร้างเงินได้มากกว่ากันหมด

ประเด็นการนำเข้าขยะที่ทำให้มูลค่าขยะในตลาดโดยรวมตกลงซึ่งส่งผลกระทบอย่างมาก ไม่นับว่าหลายคนเข้ามาทำธุรกิจในตลาดขยะเพราะคิดว่า “ง่าย” โดยที่ไม่ศึกษาให้ดีก่อน และเมื่อเปิดแข่งกันเองมากเข้าก็มีโอกาสที่จะล้มเช่นกัน

สิ่งที่ประเทศไทยต้องการตอนนี้คือการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและการสนับสนุนด้านการจัดการขยะอย่างจริงจังจากภาครัฐและภาคเอกชน ที่จะทำให้อุตสาหกรรมคงอยู่ได้ นอกจากนั้นควรมีการประยุกต์การใช้งานขยะประเภทต่างๆ เข้าร่วมกับอุตสาหกรรมอื่น เช่น ประยุกต์เข้าสร้างพลังงานรูปแบบใหม่ เพื่อเพิ่มทางเลือกและสร้างมูลค่าให้กับขยะที่มีอยู่แตกเดิม

ท้ายสุดแล้ว การทำความเข้าใจอย่างจริงจังจังกับภาคประชาชนให้มีการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นน้ำ ทิ้งให้เป็นที่ อาจเป็นความก้าวหน้าสูงสุดสำหรับประเทศไทย เพราะต่อให้มีความสะดวกจากอุปกรณ์ต่างๆ เพียงใด ถ้าประชาชนคนส่วนใหญ่ในประเทศไม่ได้ใส่ใจ ความก้าวหน้าที่คาดหวังไว้ก็อาจไปไม่ถึงฝั่งฝัน

New call-to-action
  • SUBSCRIBE TO BE
    THE FIRST INNOVATOR.

logo