Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

เจาะประเด็น Big Data: เมื่อข้อมูลคือพระเจ้าแห่งโลกธุรกิจ

1 พ.ย. 2019
SHARE

หนึ่งในความจริงที่ต้องยอมรับคือธุรกิจในปัจจุบันเริ่มกลายเป็นสมรภูมิการค้าเข้าไปทุกขณะ คนที่รู้ตัวเร็วกว่า ปรับตัวได้ดีกว่า คือผู้ชนะในสนามนั้น และสิ่งที่จะสามารถทำให้การปรับเปลี่ยนดังกล่าวเป็นไปได้มีประสิทธิภาพที่สุดคือ ข้อมูล นั่นทำให้เทคโนโลยีด้านข้อมูลอย่าง Big Data ที่ก้าวเข้ามาในปัจจุบัน ก้าวเข้าสู่ความเป็นพระเจ้าที่ชี้เป็นชี้ตายธุรกิจใหญ่ๆ ได้เลยทีเดียว

Big Data ตัวตนที่อยู่เบื้องหลังโลกธุรกิจ

ยุคอินเทอร์เน็ตเป็นยุคที่เราต้องยอมมอบข้อมูลส่วนตัวเพื่อแลกกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และข้อมูลเหล่านั้นจะถูกเก็บในคลังขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น ชื่อ นามสกุล เพศ ความชอบ เว็บไซต์ที่เข้าประจำ โซเชียลมีเดียที่ใช้มากที่สุด แน่นอนว่าบางคนอาจจะมีคำถามขึ้นมาว่า

“ใหญ่ขนาดไหน ถึงสามารถเรียกเป็น Big Data ได้”

Big Data ไม่ได้ถูกนับด้วยความใหญ่ แต่เป็นคุณสมบัติอื่นๆ เกี่ยวกับข้อมูล ซึ่งผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนก็ให้นิยามของคุณสมบัตินั้นแตกต่างกันออกไป ซึ่งเรียกรวมๆ กันว่า  4Vs ซึ่งก็คือ

Volume: ข้อมูลปริมาณมหาศาลที่ถูกจัดเก็บในระบบ เช่น ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับผู้ใช้งาน สถิติต่างๆ ทางการเงินที่มีปริมาณมาก 

Variety: ข้อมูลดังกล่าวต้องมีความหลากหลาย ไม่ใช่แค่ตัวเลขสถิติตสองสามตัว เช่น ถ้ามีแค่เพศ อายุ ข้อมูลอาจไม่เพียงพอ ต้องมีรสนิยม หน้าเว็บไซต์ที่ชอบเข้า หรือข้อมูลอื่นๆ มาประกอบกัน

Veracity: ความน่าเชื่อถือของข้อมูล มีความเป็นปัจจุบันเพียงพอและสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ได้ทันที

Velocity: ข้อมูลมีความถี่การอัปเดตอย่างสม่ำเสมอ เช่น ข้อมูล statement บัตรเครดิต สเตตัสบนโซเชียลมีเดีย

big data คือ

ไม่ใช่ว่าแค่เยอะและเฉพาะเจาะจงแล้วข้อมูลจะดี แต่ท้ายสุดก็ขึ้นอยู่กับการนำข้อมูลนั้นไปใช้ตามความเหมาะสม ยิ่งสามารถใช้ประโยชน์ได้มากเท่าไหร่ข้อมูลดังกล่าวก็มีคุณภาพเท่านั้น และคุณสมบัติทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าการใช้ Big Data ได้ บริษัทจะต้องมีความ “ใหญ่” ระดับหนึ่งเลยทีเดียว 

แต่ถ้าบริษัทนั้นเลือกจะไม่ปรับตัวล่ะ? หากบริษัทใหญ่ไม่คิดว่าข้อมูลต่างๆ ของลูกค้านั้นสำคัญ จะเกิดอะไรขึ้นตามมา 

Big Data สำคัญแค่ไหนในธุรกิจ

การเก็บข้อมูลเป็นพื้นฐานของธุรกิจ 

ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของร้านกาแฟที่ถามไถ่ความเข้ม ไม่เข้มของลูกค้า ร้านค้าที่จดจำลูกค้าประจำและเมนูโปรดของเขาเหล่านั้นได้ เมื่อลูกค้าได้ “ความสำคัญ” ไป ก็จะเกิดความประทับใจ จนเปลี่ยนเป็นความ Loyalty ในแบรนด์ขึ้นมา

แต่นั่นก็เป็นเพียงส่วนเดียวในการตลาด จะดีกว่าหรือไม่ถ้าผู้ประกอบการสามารถรู้จักลูกค้า และจูงใจคนที่​ “อาจ” ซื้อสินค้าของเรา ให้เข้ามาในร้านได้

จุดเปลี่ยนของเรื่องนี้ในวงกว้างคงเป็นการเข้ามาของ Google ยักษ์ใหญ่แห่งวงการ Search Engine และ Facebook ผู้เปลี่ยนแปลงทิศทางของ Social Media ในโลกนี้ ทั้งสองแบรนด์แสดงให้เห็นว่าแม้จะทำบริการฟรีให้คนใช้ ทางผู้ให้บริการยังสามารถหาเงินได้จากข้อมูลของคนเหล่านั้น โดยเฉพาะข้อมูลมหาศาลที่ผ่านการวิเคราะห์มาอย่างดี 

เพราะ Big Data จะทำงานไม่ได้เลยหากขาดการวิเคราะห์ข้อมูล (Big Data Analytic) มาใช้ในขั้นสุดท้าย และใช้การนำเสนอให้เห็นภาพ (Visualization) ในการจูงใจผู้บริหารเพื่อออกนโยบาย

ความสำเร็จของทั้งสองบริษัทส่งผลให้องค์กรใหญ่ๆ อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทมือถือ ห้างสรรพสินค้า ไปจนถึงบ้านจัดสรรศึกษาเรื่อง Big Data และนำมาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ที่ทำให้ลูกค้า “ซื้อ” ของได้มากที่สุด โดยโปรที่โดนใจที่สุด

ถ้าไม่มีการปรับตัว ไม่มีการใช้ข้อมูลเลย ก็คงตอบได้ง่ายๆ ว่าบริษัทดังกล่าวอาจช้ากว่าบริษัทอื่นๆ ไปอย่างน้อยสองก้าว เพราะไม่มีข้อมูลใดๆ ที่ช่วยส่งผลในการตัดสินในเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าหรือผู้ที่อาจมาเป็นลูกค้าเลย

บริษัทแบบไหนใช้ Big Data ได้เวิร์กที่สุด

ประเด็นสำคัญคือแม้จะถูกใช้งานในวงกว้างในปัจจุบัน แต่ทว่า Big Data ก็ยังไม่ได้ตอบโจทย์การทำงานกับทุกบริษัท โดยบริษัทที่สามารถใช้ Big Data ได้อย่างเต็มที่จะต้องมีคุณสมบัติหลักๆ ดังนี้

  • มีข้อมูลและกลยุทธ์การเก็บข้อมูลเพื่อใช้งานในระยะยาว
  • มีต้นทุนเพียงพอสำหรับการทำงานสาย Data
  • มีคนบุคลากรที่เกี่ยวข้องในสายงาน เช่น Data scientist และ Data Engineer 
  • ผู้นำของบริษัทเข้าใจความสำคัญของข้อมูล 

โดยเฉพาะประเด็นสุดท้ายที่มักเห็นกันในบริษัทใหญ่คือ แม้ว่าจะมีการแสดงผลข้อมูล นำเสนอได้ดีเพียงไรแต่อาจถูกตีตกได้ด้วยคำว่า “ไม่พอใจ” คำเดียว หากอยากทำให้บริษัทเติบโตทางด้านนี้ย่อมต้องให้ความสำคัญนอกจากเรื่องเงินด้วย

big data คือ

ตัวอย่างการใช้ Big Data 

  • ธนาคารที่ศึกษาความต้องการของลูกค้า และวิเคราะห์ความเสี่ยงผ่านทางข้อมูลการเงินของลูกค้าแต่ละรายเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละคน
  • ผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคม ที่ศึกษาผู้ใช้งานในแง่ของการใช้งานการโทร ปริมาณอินเทอร์เน็ต การใช้งานโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อการนำเสนอโปรโมชั่นใหม่ๆ ที่ถูกต้องและถูกคน
  • สถานที่ท่องเที่ยว ใช้การเก็บข้อมูลเชิงสถิตินักท่องเที่ยว ความคิดเห็น การรีวิว ประเมินจากโซเชียลต่างๆ รวมถึงข้อมูลเรื่องความปลอดภัยเพื่อนำมาประชาสัมพันธ์ในช่วงปีต่่างๆ หรือการวางแผนธุรกิจร่วมกับคนในชุมชน
  • ร้านค้า ใช้การวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อการจัดแคมเปญและนำเข้าสินค้าใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อ

แน่นอนว่าที่ระบุไว้นั้นเป็นการใช้งานทั้งในประเทศไทยและระดับสากล ซึ่งยังมีการใช้เทคโนโลยี Big Data อีกมากที่ยังไม่ได้กล่าวถึง 

ต่อให้ถูกเปรียบเทียบว่าเป็น “พระเจ้า” แต่สุดท้าย Big Data ก็เป็นเพียง “เครื่องมือ” ของเหล่านักธุรกิจเท่านั้น ซึ่งมันจะเกิดประโยชน์ได้ก็ต่อเมื่อมีการนำมาใช้ อย่างถูกต้อง ถูกกลุ่มคน และมีคุณภาพ ผู้ที่ต้องการใช้ Big Data จึงต้องมีทุนในการทำงานระดับหนึ่ง หรือเป็นพาร์ทเนอร์กับบริษัทที่ใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการให้ก้าวเข้าไปสู่อีกขั้น

New call-to-action

  • SUBSCRIBE TO BE
    THE FIRST INNOVATOR.

logo