เมื่อการใช้พลังงานที่ไม่เหมาะสมก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม หลายประเทศจึงมีการมองหาพลังงานทดแทน ซึ่งนอกจากแสงอาทิตย์และลมแล้ว พลังงานชีวมวลและพลังงานชีวภาพก็มีการพูดถึงเป็นวงกว้าง แต่ทว่ายังมีคนหลายกลุ่มสับสนระหว่างพลังงานสองชนิดนี้ เราจึงจะมาทำความเข้าใจว่าพลังงานทั้งสองต่างกันอย่างไร และควรเลือกใช้พลังงานแบบไหนกันแน่!
รู้จักกับพลังงานชีวมวลและพลังงานชีวภาพ
พลังงานชีวมวล (Biomass Energy)
พลังงานชีวมวล คือการผลิตพลังงานด้วยวัสดุชีวมวล (Biomass) ทั้งจากรูปแบบการหมัก การเผา หรือกรรมวิธีอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่นการเผาเศษไม้เพื่อสร้างความร้อน การหมักมูลสัตว์เพื่อทำให้เกิดก๊าซ และนำความร้อนหรือก๊าซนั้นๆ ไปใช้ต่อ
ตัวอย่างโรงงานพลังงานชีวมวล
พลังงานชีวภาพ (Biogas Energy)
พลังงานชีวภาพ หรือ ก๊าซชีวภาพ คือการนำวัสดุทางชีวภาพมาย่อยสลายด้วยแบคทีเรียในสภาวะไร้ออกซิเจน (Anaerobic Digestion) เพื่อผลิตก๊าซชีวภาพ (Biogas) ก่อนนำไปใช้งานโดยตรง โดยวัสดุที่ใช้จะมีความจำเพาะเจาะจงมากกว่ากระบวนการผลิต Biomass Energy เช่น ใช้ขยะอินทรีย์ มูลสัตว์ หรือพืชเชื้อเพลิงประเภทเส้นใยอย่างอ้อย เพื่อเข้ากระบวนการ Anaerobic Digestion เท่านั้น หากเป็นพืชทั่วไปก็อาจผลิต Biogas ไม่ได้ หรือได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
ตัวอย่างโรงงานพลังงานชีวภาพ
ความแตกต่างสำคัญของพลังงานทั้งสองรูปแบบ
1.การผลิตพลังงาน พลังงานชีวภาพจะระบุชัดเจนเลยว่าใช้กระบวนการ Anaerobic Digestion เพื่อการผลิต ขณะเดียวกันพลังงานชีวมวลจะเป็นการแปรรูปจากการเผา การหมัก เพื่อสร้างพลังงานหรือใช้งานโดยตรงเลย
2.การใช้พลังงาน พลังงานชีวมวลมีหลากหลายรูปแบบ เช่น ความร้อน ก๊าซ ของเหลว เป็นต้น ขึ้นอยู่กับกระบวนการผลิต ส่วนพลังงานชีวภาพจะถูกจำกัดเลยว่าสิ่งที่ได้จะต้องเป็นก๊าซเท่านั้น และจะถูกนำไปประยุกต์ใช้งานต่อในภายหลัง
หากพิจารณาดูดีๆ แล้ว การที่เราสรุปว่าพลังงานชีวภาพจะเป็นรูปแบบหนึ่งของการผลิตพลังงานชีวมวลก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องเช่นกัน เพียงแต่รูปแบบการผลิตบางส่วนมีความซับซ้อนมากกว่าเท่านั้นเอง
ข้อดี ข้อเสีย ของพลังงานชีวมวลและพลังงานชีวภาพ
พลังงานชีวมวล
ข้อดี
- เป็นพลังงานหมุนเวียน สามารถใช้วัตถุดิบได้หลากหลายและไม่หมดไปหากเปรียบเทียบกับพลังงานฟอสซิล
- มีราคาถูก หากเทียบกับการใช้งานพลังงานฟอสซิล
- สามารถใช้งานในกระบวนการอุตสาหกรรมได้ดี เนื่องจากสามารถใช้ของเสียชีวมวลในการผลิตได้ ขณะเดียวกันก็ช่วยลดปริมาณการฝังกลบขยะอีกด้วย
ข้อเสีย
- พลังงานชีวมวลไม่ใช่พลังงานสะอาดทั้งหมด บางส่วนยังก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และควันในการผลิต รวมถึงการใช้งาน
- จำเป็นต้องใช้พื้นที่ปริมาณมากในการผลิตพลังงาน
- เนื่องจากใช้แหล่งพลังงานหลากหลายรูปแบบ อาจทำให้การผลิตพลังงานยังไม่สม่ำเสมอ
พลังงานชีวภาพ
ข้อดี
- เป็นพลังงานสะอาด ให้พลังงานความร้อนสูง สามารถใช้งานได้หลากหลาย
- เป็นพลังงานหมุนเวียน สามารถใช้วัตถุดิบได้หลากหลายและไม่หมดไปหากเปรียบเทียบกับพลังงานฟอสซิล
- ลดขยะชีวภาพที่เกิดขึ้นในครัวเรือน
ข้อเสีย
- มีการจัดเก็บพลังงานที่ยุ่งยาก การใช้งานค่อนข้างจำกัด
- เทคโนโลยีอุปกรณ์การผลิตที่ได้คุณภาพปัจจุบัน มีต้นทุนค่อนข้างสูง
- การผลิตระยะยาวอาจมีการใช้พืชพลังงานเข้ามามีส่วนร่วม และอาจทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในตลาด ที่ทำให้เกษตรกรเน้นการปลูกพืชชนิดนี้มากกว่าสินค้าเกษตรอื่นๆ ได้
จากข้อมูลด้านบนนั้นสามารถสรุปได้ว่าพลังงานทั้งสองแบบมีความใกล้เคียงกันมากในแง่ของการใช้งานวัตถุดิบ แต่พลังงานชีวภาพ (ก๊าซชีวภาพ) เป็นพลังงานสะอาดและควรค่าแก่การใช้งานระยะยาวมากกว่า ซึ่งปัจจัยที่ต้องให้ความสำคัญคือเทคโนโลยีการผลิต ที่ปัจจุบันยังมีราคาค่อนข้างสูง
สรุป
พลังงานชีวมวลและพลังงานชีวภาพแม้ว่าจะมีชื่อคล้ายกัน แต่กลับมีความแตกต่างกันทั้งด้านของวัตถุดิบ การผลิต และการแปรรูปพลังงาน โดยพลังงานชีวภาพจะมีการใช้วัตถุดิบและกระบวนการซับซ้อนมากกว่าพลังงานชีวมวล แต่ก็มีความคุ้มค่าที่สามารถให้พลังงานสะอาดได้
พลังงานทั้งสองประเภทเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการใช้พลังงานทดแทนอย่างจริงจังทั้งในระดับประเทศและในระดับสากล การทำความเข้าใจกับภาคประชาชนและภาคเอกชนเกี่ยวกับความสำคัญในการใช้งานและการผลิตพลังงานทั้งสองประเภทจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ขาดไม่ได้ สำหรับการแก้ไขปัญหาวิกฤตพลังงานที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต