Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

Hyperloop นวัตกรรมเพื่อการเดินทางความเร็วสูงแห่งอนาคต

12 ต.ค. 2022
SHARE

ในปี 2013 อัจฉริยะชื่อดังนามว่า ‘อีลอน มัสก์’ (​​Elon Musk) ได้ผุดไอเดียล้ำยุคอย่าง Hyperloop ซึ่งในตอนนั้นถูกมองว่าเป็นเรื่องเพ้อฝัน แถมเขายังเอ่ยปากอีกว่าใครอยากนำไอเดียนี้ไปทำต่อก็ไม่หวง

ในตอนนั้นไม่มีใครเชื่อว่ามันจะเป็นไปได้ แต่มาวันนี้ Hyperloop ได้เกิดขึ้นจริงแล้ว ซึ่งในขณะนี้มี 3 บริษัทใหญ่ ๆ ที่กำลังพัฒนาไฮเปอร์ลูปอย่างจริงจัง ได้แก่

  • Virgin Hyperloop เดิมชื่อ Hyperloop One บริษัทในเครือ Virgin Group ของ Richard Branson
  • HyperloopTT (Hyperloop Transportation Technology) ศูนย์วิจัยและพัฒนาไฮเปอร์ลูปของประเทศสหรัฐอเมริกา
  • The Boring Company บริษัทพัฒนาไฮเปอร์ลูปของ Elon Musk

Hyperloop คืออะไร

Hyperloop คือ รูปแบบการเดินทางผ่านอุโมงค์สุญญากาศด้วยความเร็วสูง โดยมียานพาหนะที่เรียกว่า “Pod” หรือแคปซูลที่ส่งผู้โดยสารกลุ่มเล็ก ๆ ไปถึงที่หมายได้ในระยะเวลาอันสั้น อีกทั้งยังสามารถอุดรอยรั่วต่าง ๆ ของการขนส่งในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ทั้งในเรื่องความเร็วในการเดินทาง การทนต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และการปล่อยมลพิษ เป็นต้น

Hyperloop คือ

Virgin Hyperloop

Hyperloop เคลื่อนที่ด้วยวิธีใด

Hyperloop มีหลักการทํางานแบบเดียวกับรถไฟแม็กเลฟ (Maglev) ซึ่งเคลื่อนที่ด้วยการใช้สนามแม่เหล็กสร้างแรงยกตัวให้วิ่งลอยอยู่เหนือรางโดยไม่ต้องใช้ล้อ แล้วเร่งความเร็วไปตามอุโมงค์สุญญากาศ แน่นอนว่าเมื่อเป็นสุญญากาศก็จะไร้แรงต้าน ไม่ต้องเสียพลังงานไปกับการต้านลม ทำให้ไฮเปอร์ลูปวิ่งได้เร็วมากขึ้น

ความเร็วของ Hyperloop

Elon Musk ได้ตั้งเป้าว่าอยากให้ Hyperloop มีความเร็วสูงสุดอยู่ที่ ​​1,000 km/h แต่ปัจจุบันเทคโนโลยี Hyperloop ของ Elon Musk ยังไม่ได้เปิดเผยออกมาเป็นรูปเป็นร่างให้เห็น

มองกลับมาที่ความเร็วของ Virgin Hyperloop ขณะนี้ทำได้อยู่ที่ประมาณ 1,080 km/h ถือว่าเร็วกว่ารถไฟความเร็วสูงถึง 3 เท่า! และเร็วกว่ารถไฟทั่วไป 10 เท่า!

ส่วนความเร็วสูงสุดของไฮเปอร์ลูปจาก HyperloopTT นำหน้าไปแล้วอยู่ที่ 1,223 km/h ถือว่ามากที่สุดในบรรดา 3 แบรนด์ที่ทำเทคโนโลยีนี้ออกมาเป็นรูปธรรม

Virgin Hyperloop’s Pod

Virgin Hyperloop’s Pod

Hyperloop มีข้อดี-ข้อเสียอะไรบ้าง

ข้อดีของ Hyperloop

  • ช่วยย่นระยะเวลาในการเดินทางและขนส่งสินค้า เมื่อเทียบกับเครื่องบินถือว่าเร็วกว่า 2 เท่า! และเร็วกว่ารถไฟความเร็วสูง 3 เท่า!
  • ลดปัญหารถติดและทำให้มีที่จอดเพิ่มขึ้น
  • ทนต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ จึงปลอดภัยในการเดินทาง อีกทั้งยังสามารถซับแรงจากแผ่นดินไหวได้
  • ใช้กระแสไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์และพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ ในการขับเคลื่อน จึงช่วยลดมลพิษ รวมถึงลดการนำเข้าเชื้อเพลิง เนื่องจากไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล
  • การขนส่งสินค้าที่สะดวกและคล่องตัวกว่า อีกทั้งยังช่วยลดการเน่าเสียของสินค้าด้วย
  • ช่วยสร้างอาชีพและโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ

ข้อเสียของ Hyperloop

  • รองรับผู้โดยสารได้น้อย ล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 30 ถึง 40 คนต่อแคปซูล เนื่องจากยังเป็นช่วงเริ่มต้นพัฒนา
  • มีความเป็นไปได้ว่าคนที่สามารถเข้าถึง Hyperloop อาจมีแค่คนที่มีกำลังจ่ายเท่านั้น
  • ข้อจำกัดทางเทคโนโลยีอาจเพิ่มขึ้น หากต้องการทำให้รับส่งผู้โดยสารได้มากขึ้น

ตัวอย่างประเทศที่ใช้ Hyperloop มีที่ไหนบ้าง

หนึ่งในประเทศที่มีการใช้ Hyperloop ให้เห็นเป็นรูปธรรม คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีการทดสอบวิ่งไฮเปอร์ลูปของ Virgin ในเส้นทาง ดูไบ – อาบูดาบี ซึ่งใช้เวลาเพียง 12 นาทีเท่านั้น จากปกติที่นั่งรถยนต์ส่วนบุคคล 1 ชั่วโมงครึ่ง ถือว่าเร็วกว่ากันถึง 7.5 เท่า แถมภายใน 1 ชั่วโมง ยังสามารถขนส่งผู้โดยสารได้มากกว่า 10,000 คนเลยทีเดียว

นอกจากเส้นทางดังกล่าว Virgin Hyperloop ยังมีแผนที่เพิ่มเส้นทางอื่น ๆ ดังต่อไปนี้

เส้นทางเตรียมวิ่ง Hyperloop ของ Virgin Hyperloop

  • เอสโตเนีย (Estonia) – ฟินแลนด์ (Finland)
  • เวียนนา (Vienna) – บูดาเปสต์ (Budapest)
  • เส้นทางในประเทศเนเธอร์แลนด์ (Netherlands)
  • คอร์ซิกา (Corsica) – ซาร์ดิเนีย (Sardinia)
  • เฮลซิงกิ (Helsinki) – สต็อกโฮล์ม (Stockholm)
  • ลิเวอร์พูล (Liverpool) – กลาสโกว์ (Glasgow)
  • สเปน (Spain) – โมร็อกโก (Morocco)
  • ลอนดอน (London) – เอดินเบิร์ก (Edinburgh)
  • เส้นทางในประเทศโปแลนด์ (Poland)
  • คาร์ดิฟฟ์ (Cardiff) – กลาสโกว์ (Glasgow)
  • เส้นทางในประเทศเยอรมนี (Germany)
  • เส้นทางหลักในประเทศอินเดีย (India) 5 เส้นทาง ได้แก่
    • พระราชวังบังคาลอร์ (Bangalore Palace) – สถานีรถไฟธีรุวนันทปุรัม (Thiruvananthapuram Central Station) ระยะทาง 749 กม. ตั้งเป้าวิ่งภายใน 41 นาที จากปกติรถยนต์วิ่ง 12 ชั่วโมงครึ่ง
    • ประตูชัยอินเดีย (Gateway of India) – หาดมารีน่า (Marina Beach, Chennai) ระยะทาง 1,391 กม. ภายใน 75 นาที จากปกติประมาณ 22 ชั่วโมง
    • ท่าเรือเจนไน (Chennai Port) – นิคมธุรกิจซอฟต์แวร์ ITPB (International Tech Park, Bangalore (ITPB) ระยะทาง 334 กม. ภายใน 18 นาที จากปกติเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมงครึ่ง
    • มุมไบตอนใต้ (South Mumbai) – ท่าเรือกัลกัตตา (Kolkata Port) ระยะทาง 2,133 กม. ภายใน 108 นาที จากปกติใช้เวลาเดินทาง 1 วัน 14 ชั่วโมง
    • ท่าเรือมุมไบ (Mumbai Port) – เดลีเก่า (Old Delhi) ระยะทาง 1,445 กม. ภายใน 79 นาที จากปกติใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 วัน 11 นาที
  • เส้นทางหลักอื่น ๆ ในสหรัฐฯ (US) 11 เส้นทาง

hyperloop ประเทศที่ใช้

11 เส้นทางไฮเปอร์ลูปที่มีแนวโน้มวิ่งในสหรัฐอเมริกา จาก Virgin Hyperloop

เส้นทางเตรียมวิ่ง Hyperloop ของ Hyperloop TT

  • เบอร์โน (Brno) – บราติสลาวา (Bratislava)
  • อาบูดาบี (Abu Dhabi) – แอลเอน (Al Ain)
  • เวนิซ (Venice) – ปาดัว (Padua) ตั้งเป้าเป็นเส้นทางการค้าไฮเปอร์ลูปแห่งแรกในยุโรป
  • ลอสแองเจลิส (Los Angeles) – ลาสเวกัส (Las Vegus) มีแพลนถึงที่หมายภายใน 26 นาที
  • ปอร์ตูอาเลเกร (Porto Alegre) – กาเซียสดูซูล (Caxias do Sul) ระยะทาง 137 กม. มีแพลนถึงภายใน 19 นาที 45 วินาท

Hyperloop ภายใน

เทคโนโลยีภายในแคปซูลของ HypeloopTT จาก HypeloopTT

อนาคต Hyperloop ในไทยจะเป็นอย่างไร

Virgin Hyperloop และ HypeloopTT ต่างพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเทคโนโลยีนี้เกิดขึ้นได้และใช้งานได้จริง ยิ่งดูจากหลายเส้นทางที่วางแผนเอาไว้ ยิ่งทำให้เห็นว่าเราสามารถสร้างได้เช่นกัน แถมระบบทั้งหมดก็เรียบง่าย สามารถผลิตที่ไหนก็ได้ในโลก โดยเฉพาะระบบราง ตัวรถ และอุโมงค์สุญญากาศก็สามารถผลิตในไทยได้ไม่ยาก นั่นแสดงว่าคนไทยก็มีโอกาสใช้ไฮเปอร์ลูปได้เช่นกัน

ยิ่งไปกว่านั้น เทคโนโลยีไฮเปอร์ลูปยังช่วยสร้างงานอีกหลายตำแหน่ง และไทยเองก็มีศักยภาพมากพอในการผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ เองอีกด้วย และถ้าพูดถึงเส้นทางในไทยที่เหมาะแก่การสร้างไฮเปอร์ลูปมากที่สุด ก็คงเป็นเหนือไปใต้ ซึ่งก็คือ เชียงใหม่ กรุงเทพฯ และภูเก็ต เป็นต้น

Virgin Hyperloop

Virgin Hyperloop

สรุป

ณ เวลานี้เทคโนโลยี Hyperloop ถือเป็นระบบการขนส่งที่เร็วที่สุดในโลก ไม่เพียงแต่รองรับผู้โดยสารเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสินค้าต่าง ๆ ด้วย ซึ่งไฮเปอร์ลูปนั้นสามารถใช้ส่งสินค้าให้ถึงที่หมายได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง นับว่าเป็นการลดระยะเวลาในการรอคอยสินค้า และยังเป็นรูปแบบการเดินทางที่รักษ์สิ่งแวดล้อมอีกด้วย

หากสามารถทลายข้อจำกัดด้วยการทำให้รองรับผู้โดยสารได้มากขึ้นและให้ทุกคนเข้าถึงการใช้บริการ Hyperloop ได้ เทคโนโลยีนี้อาจกลายเป็นระบบการขนส่งที่ดีที่สุดในโลกเลยล่ะ

ติดตามข่าวสารและคอนเทนต์ดี ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อมที่คุณไม่ควรพลาด ได้ที่ Facebook PTT ExpresSo

New call-to-action
  • SUBSCRIBE TO BE
    THE FIRST INNOVATOR.

logo