Upcycling คำที่หลายคนไม่ค่อยคุ้นหูแต่ความจริงแล้วคุ้นตากว่าที่คิด! บางคนอาจจะยังเข้าใจว่า Upcycling คือ Recycling บทความนี้ PTT Expresso จะพาทุกคนมาทำความเข้าใจใหม่ว่า Upcycling คืออะไร แตกต่างจาก Recycling และ Reuse ยังไง มีไอเดียอะไรน่าสนใจเพื่อนำไปต่อยอดเป็นธุรกิจได้บ้าง พร้อมวิธีเริ่มต้นทำธุรกิจ Upcycling ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลย!
Upcycling คืออะไร?
Upcycling คือ การนำขยะหรือของเหลือใช้มาเพิ่มคุณค่าด้วยการใส่ไอเดียสร้างสรรค์และความแปลกใหม่ลงไป ซึ่งทำให้ของชิ้นนั้นใช้ประโยชน์ได้นานกว่าที่เคย นอกจากจะช่วยลดโลกร้อนได้อย่างยั่งยืนแล้ว ยังสามารถสร้างรายได้กลับมาได้อย่างมหาศาลอีกด้วย อย่างแบรนด์ดัง FREITAG ที่ทำกระเป๋าจากผ้าคลุมรถบรรทุกเก่าจนตอนนี้กลายเป็นที่รู้จักในระดับโลกนั่นเอง
Upcycling VS Recycling VS Reuse แตกต่างกันอย่างไร
- Upcycling คือ การนำขยะหรือของเหลือใช้มาตัดแต่งและใส่ไอเดียสร้างสรรค์ลงไปโดยยังคงคงสภาพเดิมให้เห็นอยู่ ไม่ได้แปรรูปเป็นของชิ้นใหม่เหมือน Recycling เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ของชิ้นนั้นมากขึ้น มีความเป็นเอกลักษณ์ และสามารถขายในราคาที่สูงขึ้นได้
- Recycling คือ การนำขยะหรือของเหลือใช้นั้น ๆ ไปเข้าสู่กระบวนการทางอุตสาหกรรมเพื่อแปรรูปเป็นของชิ้นใหม่ เช่น การหลอมขวดพลาสติก ขวดแก้ว หรือกระดาษ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังรวมถึงการตัดแต่งรูปทรงเพื่อให้ของชิ้นนั้นสามารถใช้งานในรูปแบบอื่นด้วย เช่น การนำขวดไวน์มาตัดทำเป็นแก้ว
- Reuse คือ การใช้ของชิ้นนั้นซ้ำให้คุ้มค่ามากที่สุด จะไม่มีแปรรูปเหมือนกับรีไซเคิล หรืออาจจะมีปรับแต่งเล็กน้อยเพื่อการใช้งานที่เหมาะสม เช่น การนำกระป๋องอลูมิเนียมมาทำเป็นที่ใส่ดินสอหรือกระถางต้นไม้
ตัวอย่างไอเดีย Upcycling ใช้สิ่งนี้ต่อยอดเป็นธุรกิจ
1. สิ่งทอ
สิ่งทอต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม เชือก หรือไนลอน สามารถนำมา Upcycling เพื่อเพิ่มมูลค่าได้ ซึ่งเอกลักษณ์ที่เฉพาะตัวจะทำให้สินค้านั้น ๆ กลายเป็นที่ต้องการ ทั้งยังส่งเสริมสไตล์ที่ไม่เหมือนใครทำให้ผู้ใช้ดูโดดเด่นขึ้นมาได้ ตัวอย่างแบรนด์ที่ทำ Upcycling จากสิ่งทอ เช่น
- Mat Archer กระเป๋าแบรนด์ไทยที่ทำจากอวนลากปลาที่ใช้งานแล้ว
ขอบคุณรูปภาพจาก Mat Archer
2. ไม้ / เฟอร์นิเจอร์
แทนที่จะเผาหรือโยนไม้เก่าทิ้งไป ลองนำมา Upcycling ให้เกิดประโยชน์จะดีกว่า โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ไม้เก่า ๆ ที่มักเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าเพราะราคาไม่สูงมากนัก แถมยังได้รูปลักษณ์ที่สวยงามแปลกตา ลองมาดูตัวอย่างแบรนด์ที่นำไม้เก่ามา Upcycling ตกแต่งเพิ่มมูลค่าไปพร้อมกัน
- The Upcycle Company แบรนด์ที่เปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่มีใครต้องการให้กลายเป็นของแต่งบ้านสวย ๆ มีทั้งเฟอร์นิเจอร์ Upcycle สำเร็จที่พร้อมใช้งานได้ทันที หรือจะเลือกซื้อสีและอุปกรณ์ต่าง ๆ จากที่นี่ไปทำเองที่บ้านก็ได้
ขอบคุณรูปภาพจาก The Upcycle Company
3. แก้ว
การรีไซเคิลแก้วใช้พลังงานและต้นทุนสูงซึ่งอาจไม่คุ้มค่ามากนัก หากเปลี่ยนเป็น Upcycle อาจช่วยประหยัดได้มากกว่า เพราะแก้วนั้นเป็นวัสดุที่แข็งแรง คงรูปทรงเดิม และทำความสะอาดง่าย หากเปลี่ยนเป็นบรรจุภัณฑ์ใหม่ที่น่าใช้กว่าเดิมได้ก็ถือว่าดีไม่น้อยเลย ดูแบรนด์นี้เป็นตัวอย่างคุณอาจจะได้ไอเดีย
- True Fruits แบรนด์ Smoothie ที่พัฒนาฝาเปิดขวด 7 แบบให้สามารถใช้กับขวดแก้วของตัวเองขนาด 250 และ 750 มิลลิลิตรได้ หนึ่งในนั้นสามารถใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ใส่เกลือหรือพริกไทยโดยที่ฝานั้นบดให้เป็นผงได้ จะใส่น้ำชาก็มีฝาแบบที่มีแผ่นกรองในตัว จะใส่แชมพูก็มีแบบฝาปั๊มให้เลือก หรือจะใส่เหรียญก็มีฝาแบบที่มีรูหยอดเหรียญให้ ทำให้ขวดแก้วขวดเดียวสามารถนำไปใช้งานได้หลากหลายกว่าเดิม
ขอบคุณรูปภาพจาก True Fruits
4. ผ้าใบ / ป้ายโฆษณา
ผ้าใบหรือป้ายโฆษณามักมีคุณสมบัติทนแดดทนฝน จึงเหมาะแก่การนำมา Upcycling เป็นกระเป๋าหรือของใช้ที่ต้องการให้กันน้ำอย่างยิ่ง ลองนึกภาพว่าถ้าไม่นำมา Upcycling ขยะเหล่านี้จะไปอยู่ที่ไหน โลกของเราคงเต็มไปด้วยป้ายโฆษณาที่ถูกทิ้งร้างไม่น้อยเลยใช่ไหมล่ะ เพื่อเป็นการลดขยะ ลองให้แบรนด์นี้เป็น Inspiration ให้กับคุณดู
- bilum. แบรนด์ที่ทำทั้งกระเป๋าจากป้ายโฆษณา ผ้าใบของเรือใบ และอื่น ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสมุดโน้ตจากโปสเตอร์โฆษณา กระเป๋าจากถุงลมนิรภัยและธงชาติ เรียกได้ว่าเป็นต้นแบบของการ Upcycling เลยก็ว่าได้
ขอบคุณรูปภาพจาก bilum.
นอกเหนือจากไอเดียข้างต้น กลุ่ม GC ก็มีไอเดีย Upcycling มาเป็นแรงบันดาลใจให้กับทุกคน ได้แก่ โครงการ Upcycling Upstyling โดยการจับมือกับ 11 ดีไซเนอร์ระดับโลกของไทยเพื่อนำขยะพลาสติกมาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ Eco-Design ที่หลากหลาย เพื่อยกระดับสินค้า Upcycling ให้มีมูลค่าสูงขึ้น ขยายโอกาสทางธุรกิจและส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
อีกทั้งยังมี โครงการ Upcycling the Oceans, Thailand ที่ได้รับความร่วมมือจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มูลนิธิอีโคอัลฟ์ นักดำน้ำทั่วประเทศ และชาวเสม็ด โดยการนำขยะพลาสติกจากท้องทะเลมา Recycling และ Upcycling ทำเป็นเสื้อผ้า มาดูกันว่ากลุ่ม GC เปลี่ยนขยะพลาสติกให้มีคุณค่าอย่างยั่งยืนได้อย่างไร
ไอเดียวิธีเริ่มต้นธุรกิจ Upcycling
สำหรับคนที่อยากทำธุรกิจ Upcycling สามารถนำวิธีเหล่านี้ไปปรับใช้เพื่อเป็นแนวทางในการเริ่มต้นธุรกิจได้
- เลือกสิ่งของที่จะ Upcycle พร้อมหาไอเดียเปลี่ยนสิ่งของให้เป็นที่ต้องการ
- จัดทำสถานที่เวิร์กชอปเพื่อผลิตสินค้า
- จัดหาทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ เครื่องมือ หรือพนักงานก็ตาม
- เตรียมความพร้อมด้านการเงินเพื่อเริ่มต้นธุรกิจ
- โปรโมตธุรกิจเพื่อให้สินค้าเป็นที่รู้จัก
สรุป
บนโลกนี้มีขยะและสิ่งของเหลือใช้มากมาย หากไม่จัดการให้ถูกวิธี โลกของเราก็จะแย่ลงเรื่อย ๆ แม้ว่าจะมีวิธีแปรรูปขยะที่หลากหลาย แต่การ Upcycling ถือเป็นวิธีรักษ์โลกแบบใหม่ที่ไม่ใช่แค่การสร้างคุณค่าให้ของเหลือใช้เพียงอย่างเดียว แต่ยังนำมาซึ่งมูลค่าที่มหาศาลด้วย สำหรับคนที่ต้องการนำไอเดีย Upcycling มาต่อยอดเป็นธุรกิจ นับว่าเป็นก้าวแรกสำคัญที่คุณได้เป็นหนึ่งในคนที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโลกที่ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนได้
ติดตามข่าวสารและคอนเทนต์ดีๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อมที่คุณไม่ควรพลาด
ได้ที่ Facebook PTT ExpresSo
