Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

Wind Farm พลังงานสะอาดเพื่อพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

12 ก.ค. 2021
SHARE

หากพูดถึงพลังงานสะอาดที่ได้รับความนิยมสูงในหลายๆ ประเทศแล้วล่ะก็ การใช้พลังงานลมย่อมติดอยู่ในอันดับต้นๆ อย่างไม่ต้องสงสัย แต่ทำไมพลังงานชนิดนี้จึงแทบไม่มีกระแสในประเทศไทย พลังงานลมมีข้อดี-ข้อเสีย เหมาะสมหรือไม่? อย่างไร? มาทำความรู้จักกับ Wind Farm แหล่งผลิตพลังงานจากสายลมเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนได้จากบทความนี้

รู้จัก Wind Farm แหล่งกำเนิดพลังงานสะอาดระดับโลก

Wind Farm หรือที่รู้จักกันในชื่อของทุ่งกังหันลม คือกลุ่มกังหันลมที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยกังหันเหล่านั้นอาจตั้งอยู่บนพื้นดินหรือในน้ำขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่เหมาะสม

จากรายงานของ International Renewable Energy Agency มีการระบุข้อมูลว่า ปี 2020 ประเทศต่างๆ บนโลกมีการผลิตงานลมเป็นสัดส่วน 26% จากการผลิตพลังงานทั้งหมด ซึ่งคิดเป็นอันดับสองรองจากพลังงานน้ำที่มีการผลิตอยู่ที่ 43% จากการผลิตพลังงานทั้งหมด

ตัวเลขดังกล่าวบอกอะไรได้บ้าง? มันแสดงให้เห็นชัดเจนว่าจริงๆ แล้วพลังงานลมก็มีบทบาทสำคัญไม่น้อยในระดับสากลแม้ว่าจะไม่เทียบเท่ากับพลังงานน้ำก็ตาม

บทความ wind farm

สิ่งที่น่าสนใจไม่ใช่แค่สัดส่วนการผลิต แต่เป็นการผลิตพลังงานที่เพิ่มขึ้น โดยอัตราการผลิตพลังงานลมนั้นสูงขึ้นราว 18% หากเทียบกับปีก่อน และมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แสดงให้เห็นถึงความนิยมจากหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะในประเทศจีนที่ปี 2020 มีการขยายอัตราการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมถึง 72.4 GW เลยทีเดียว ซึ่งการผลิตเหล่านั้นก็มาจาก Wind Farm นี่เอง

การใช้งาน Wind Farm ในระดับสากล

Wind Farm ถือเป็นตัวเลือกหลักในการผลิตพลังงานสำหรับประเทศที่ไม่สะดวกในการสร้างเขื่อนหรือมีพื้นที่ที่ลมพัดผ่านมาก เช่น ที่ราบหรือริมชายฝั่งขนาดใหญ่ ทำให้เราได้เห็น Wind Farm มากมายไม่ว่าจะอยู่ในประเทศใหญ่ๆ หรือประเทศเล็กๆ ก็ตาม

โดยอัตราส่วนการผลิตพลังงานลมในแต่ละประเทศนั้นมีดังนี้

บทความ wind farm

จะเห็นได้ชัดเลยว่าประเทศใหญ่ๆ อย่างจีน สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี นั้นเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจาก Wind Farm ลำดับต้นๆ แต่หากคิดเป็นสัดส่วนต่อประชากรแล้ว จะพบว่าประเทศอย่างเดนมาร์ก สวีเดน และไอร์แลนด์จะมีสัดส่วนการผลิตที่มากกว่า เนื่องจากมีพื้นที่ที่เหมาะสมและมีจำนวนประชากรที่ค่อนข้างน้อย

การผลิตพลังงานลมซึ่งถือเป็นพลังงานสะอาดชนิดหนึ่งได้เยอะ ย่อมหมายถึงเสถียรภาพทางพลังงานระยะยาวภายใต้กรอบจำกัดของการใช้งานพลังงานจากฟอสซิลที่ลดลงเรื่อยๆ ด้วย

แล้วประเทศไทยล่ะ อยู่จุดไหนของการผลิตพลังงาน และเรามีการพัฒนาอย่างไรบ้าง?

Wind Farm กับการผลิตพลังงานในไทย

ไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมทั้งหมดราว 1,507 MW ในปี 2020 โดยมี Wind Farm อยู่มากมาย โดยจะถูกเรียกว่า “ทุ่งกังหันลม” ตรงๆ เช่น ทุ่งกังหันลมเขาค้อ ทุ่งกังหันลมห้วยบง และทุ่งกังหันลมแหลมฉบัง เป็นต้น

การปรับให้พลังงานในประเทศถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานสะอาดเป็นหนึ่งในนโยบายที่ภาครัฐให้ความสำคัญไม่น้อย และถูกบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกปี พ.ศ. 2561-2580 ซึ่งมีหัวข้อพิจารณา เช่น การพัฒนาการพยากรณ์อากาศที่ส่งผลต่อการผลิตไฟฟ้าจาก Wind Farm การเพิ่มปริมาณการผลิต และการปรับตัวบทกฎหมายให้สนับสนุนความเป็นไปได้ในการเพิ่มการผลิตพลังงานมากขึ้น

ทว่าประเด็นจริงๆ สำหรับเรื่องนี้น่าจะเป็นแผนงานระยะสั้นสำหรับการผลิตพลังงานลม ซึ่งผลไม่เป็นไปตามที่ควรเท่าใดนัก

บทความ wind farm

แผนงานพลังงานลมที่ไม่เป็นไปตามคาดหวัง

แผนงานระยะสั้นของพลังงานลมในปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่าผู้ผลิตพลังงานไม่ได้รับการสนับสนุนเพียงพอ โดยเฉพาะการที่รัฐหยุดรับซื้อพลังงานลมไปชั่วคราว และมีการวางแผนซื้อพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจาก Wind Farm ขึ้นใหม่ในปี 2565 ทำให้เกิดความไม่มั่นใจต่อผู้ผลิตพลังงานจำนวนไม่น้อย ว่าจะเกิดการหยุดซื้อเช่นนี้ในอนาคตหรือไม่ รวมถึงการจัดพื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้าง Wind Farm ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะต้องวางแผนไม่ให้กระทบต่อชุมชนโดยรอบ เนื่องจากกังหันลมจริงๆ มีเสียงค่อนข้างดัง และต้องการพื้นที่ติดตั้งมากเพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าที่เหมาะสม

หลังจากนี้คงต้องมีการจับตามองว่าการสนับสนุนพลังงานลมไทยนั้นจะเป็นอย่างไร เพราะปัจจุบันยังมีปัจจัยต่างๆ มากมายที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่นของนักลงทุน โรคระบาด และการผลิตพลังงานชนิดอื่นๆ เข้ามาในระบบ ซึ่งการที่ไทยจะหันมาผลิตพลังงานจาก Wind Farm เพิ่มเติม ยังเป็นอนาคตที่ห่างไกลพอสมควรทีเดียว

สรุป

พลังงานลมไทยถือเป็นพลังงานที่มีการนำมาใช้ค่อนข้างน้อยหากเทียบกับพลังงานประเภทอื่นๆ แม้ว่าภาคเอกชนบางส่วนจะมีการยืนยันว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชนิดนี้ไม่น้อย และ Wind Farm ในประเทศไทยก็มีการพัฒนาอยู่เรื่อยๆ ด้วย

ประเด็นสำคัญคือในปี 2565 หลังจากที่มีแนวทางการรับซื้อไฟฟ้าจาก Wind Farm แล้วนั้น ทางภาครัฐจะมีการสนับสนุนพลังงานชนิดนี้อย่างไร เพราะแผนงานระยะยาวอาจไม่เพียงพอสำหรับการสนับสนุนผู้ประกอบการ ท่ามกลางสภาวะวิกฤตเฉกเช่นทุกวันนี้

PTT_ebook-EV

  • SUBSCRIBE TO BE
    THE FIRST INNOVATOR.

logo