แนวคิดของ Green Industry หรืออุตสาหกรรมสีเขียวนั้นได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ไม่ใช่เพียงแค่ในไทยแต่รวมถึงระดับสากลด้วย และสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการทำ Green Industry คือแหล่งพลังงาน กังหันลมผลิตไฟฟ้าจึงกลายเป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับอุตสาหกรรมในปัจจุบัน
จุดกำเนิดของกังหันลมไฟฟ้าและการก้าวเข้ามาพลังงานยุคใหม่
กังหันลมถูกผลิตขึ้นมานานนับศตวรรษเพื่อการเกษตร และถูกประยุกต์และพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยการใส่ขดลวดและสนามแม่เหล็กเข้าไป จนกลายเป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานลม
แต่แน่นอนว่ากังหันลมไม่ได้รับความนิยมมากนักในหลายๆ พื้นที่ เนื่องจากการใช้พลังงานฟอสซิลที่แพร่หลายและสะดวกกว่ามากมาย จนกระทั่งผลศึกษาออกมาว่าพลังงานฟอสซิลที่ใช้ๆ กันอยู่นี้ส่งผลกระทบที่เป็นโทษไม่น้อยเลย
ในปัจจุบันมีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ราว 415 ppm และยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยมีผลกระทบคือความร้อนและรังสีจากดวงอาทิตย์ไม่สามารถกลับคืนออกไปนอกชั้นบรรยากาศได้ ส่งผลให้โลกมีอุณหภูมิสะสมสูงขึ้น
แนวคิดการใช้พลังงานทดแทนอื่นๆ เช่นพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเป็นพลังงานหลักจึงถูกหยิบยกขึ้นมา รวมถึงการใช้กังหันลมผลิตไฟฟ้าอย่างจริงจังทั้งในเขตอุตสาหกรรมและชุมชนด้วย
Green Industry อุตสาหกรรมสีเขียวแห่งวันข้างหน้า
จากแนวคิดของการเปลี่ยนอุตสาหกรรมให้สะอาดนี้เองถูกต่อยอดเป็นการประยุกต์สร้างอุตสาหกรรมสีเขียว หรือ Green Industry ที่มุ่งเน้นให้โรงงานอุตสาหกรรมและส่วนที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด รวมถึงลดการใช้พลังงานโดยรวมเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด
การพัฒนาของ Green Industry
Green Industry ในประเทศไทยจะมีการแบ่งการพัฒนาออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่
- Green Commitment : นโยบายด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม
- Green Activity : การนำนโยบายไปปรับใช้ มีการสนับสนุนเทคโนโลยีใหม่ๆ
- Green System : วางระบบอุตสาหกรรมทั้งหมดและดำเนินการอย่างมีมาตรฐาน
- Green Culture : เปลี่ยนจากการเน้นการปรับใช้สู่วัฒนธรรมองค์กร
- Green Network : เปลี่ยนจากอุตสาหกรรมธรรมดาเข้าสู่การเชื่อมโยงต่อสังคม ชุมชน
จะเห็นได้ว่าจุดมุ่งหมายสูงสุดของ Green Industry ยังคงวกกลับเข้ามาหาเรื่องการพัฒนาชุมชน ทำให้มีการสร้างโอกาส จ้างงาน รวมถึงสร้างสังคมไร้มลพิษได้อย่างยั่งยืน
แนวทางการปฏิบัติจริง
หลายคนอาจคิดว่าแนวคิดของ Green Industry จำเป็นต้องลงทุนสูง ใช้เงินเปลืองมาก ไม่คุ้มค่าสำหรับการทำงานในระยะยาว แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่ การประยุกต์ใช้หลักการนี้มีตั้งแต่แบบง่ายๆ ไปจนถึงแบบที่ใช้งบประมาณสูง ตั้งแต่
- การรีไซเคิลขยะ
- ลดการใช้พลังงานและน้ำอย่างสิ้นเปลือง
- ดูแลสิ่งแวดล้อมในโรงงาน
- ใช้พลังงานสะอาด
ซึ่งหัวข้อการเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดนี่เองที่ต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนมากพอสมควร ทั้งในด้านของระบบการทำงาน ด้านบุคลากร และ เทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านพลังงานที่ส่งผลกระทบไปทุกภาคส่วน
ความสำคัญของกังหันลมไฟฟ้าในอุตสาหกรรมสีเขียว
ดังที่เกริ่นไปว่าพลังงานคือหนึ่งในหัวข้อที่สำคัญที่สุดในการต่อยอด Green Industry ไม่ว่าจะเป็นการปรับใช้ในระดับไหน ตั้งแต่การประหยัดพลังงานไปจนถึงการหาพลังงานทดแทน ที่ตอนนี้ยังมีสัดส่วนแค่ 13% ของการใช้พลังงานทั้งหมดในประเทศ
กังหันลมไฟฟ้าจึงกลายเป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับเขตพื้นที่ริมชายฝั่งหรือพื้นที่ห่างไกล ในปัจจุบันก็มีการนำกังหันลมไปใช้ในท่าเรือ โรงงานต่างๆ ไปจนถึงโรงงานของโครงการพระราชดำริที่มีการเปลี่ยนผ่านพลังงานเป็นพลังงานสะอาด และช่วยลดค่าไฟในระยะยาวได้เป็นจำนวนมาก ข้อจำกัดคือประเทศไทยมีจุดที่เหมาะสมในการตั้งกังหันลมค่อนข้างน้อย จึงต้องใช้กังหันลมขนาดเล็กเป็นหลัก
โดยทางกระทรวงพลังงานก็ยังมีการศึกษาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ทั้งการดึงประสิทธิภาพของพลังงานลมและพลังงานชนิดอื่นออกมา ว่าสามารถประยุกต์ใช้งานร่วมกันได้มากขนาดไหนอย่างไร ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ไม่แน่ว่าเราอาจได้เห็นเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีลมเป็นพลังงานหลักในอนาคต
เทคโนโลยีอื่นๆ ที่ใช้ร่วมกับ Green Industry
สำหรับเทคโนโลยีที่ใช้รวมกับอุตสาหกรรมสีเขียวนั้นมีหลากหลาย ซึ่งในระดับสากลก็มีการส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาในด้านพลังงานดังนี้
Smart Industry
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการทำงานอัตโนมัติเข้าร่วมกับโรงงานอุตสาหกรรม มีการรวมศูนย์การควบคุมทำให้สามารถดูแลได้ง่ายขึ้น โดยใช้เทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ดูแลอุปกรณ์ต่างๆ ในโรงงาน และใช้ AI ในการจัดการพลังงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว
Green Energy
ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดอื่นๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ มีการใช้ Solar Rooftop เข้ามาเพื่อช่วยลดค่าไฟ ลดมลพิษจากการสร้างพลังงาน
นอกเหนือจากนั้นโรงงานอุตสาหกรรมปัจจุบันหลายแห่งยังมีการเน้นการแปรรูป รีไซเคิลของที่ยังใช้ได้ กำจัดของเสียอย่างเป็นระบบ เพื่อให้โรงงานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทว่าการจะก้าวเข้าสู่ Green Industry ได้ท้ายสุดแล้วก็จะขึ้นอยู่กับการประสาทงานจากทุกภาคส่วน ไม่ใช่เพียงภาคอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว
แน่นอนว่าจากตัวเลขสถิติปัจจุบันมันก็ยังไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้ก้าวไปใช้พลังงานสะอาดอย่างเต็มที่ แต่อย่างน้อยตัวเลขการพัฒนาด้านพลังงานรวมถึงการสนับสนุนในปัจจุบันก็ทำให้เราพอเห็นภาพแล้วว่า อนาคตทางพลังงานของประเทศจะมุ่งไปในรูปแบบใด
