Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors

เปิดโลกการแพทย์ยุคปัจจุบันกับการใช้งานวัสดุ Biomaterial

14 ก.ย. 2020
SHARE

ชีววัสดุ หรือ Biomaterial คือวัสดุที่มีความเข้ากันได้ทางชีวภาพ (Biocompatibility) กับร่างกายของมนุษย์ สามารถใช้งานร่วมกับร่างกายมนุษย์ได้โดยไม่ก่อให้เกิดอันตราย โดยวัสดุดังกล่าวจะสามารถมาจากธรรมชาติหรือใช้การสังเคราะห์ขึ้นก็ได้

โดยส่วนมากแล้ว Biomaterial จะถูกใช้งานในด้านการแพทย์เป็นหลัก แต่ก็มีไม่น้อยที่มีการประยุกต์ใช้วัสดุประเภทนี้เพื่อประโยชน์ด้านอื่นๆ 

ความสำคัญของ Biomaterial ในการแพทย์ปัจจุบัน

ทำไม Biomaterial จึงมีความสำคัญในการแพทย์นัก ?

จุดประสงค์ของการใช้งาน Biomaterial คือการใช้งานเพื่อช่วยชีวิตมนุษย์ ทั้งการรักษา การทดแทน และการอัปเกรดอวัยวะบางส่วนให้ดีขึ้น ช่วยยืดอายุขัยของมนุษย์ให้ยืนยาวขึ้นได้

Biomaterial

แม้ว่าภายหลังจะมีเทคโนโลยีในการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะและการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อเข้ามา แต่ก็วิธีการเหล่านั้นยังมีข้อจำกัดด้านความเข้ากันได้ของอวัยวะ รวมถึงปริมาณของอวัยวะที่บริจาคที่มีจำกัด ทำให้การเลือกใช้งาน Biomaterial เพื่อการรักษายังคงมีอยู่มาก นอกเหนือจากนั้นแล้ว ตัวของ Biomaterial ยังมีบทบาทในการเสริมความงามและปกปิดบาดแผลต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อความมั่นใจและการใช้ชีวิตอีกด้วย 

รูปแบบการใช้งาน Biomaterial ทางการแพทย์

ชื่อของ Biomaterial อาจเป็นอะไรที่ไม่คุ้นเคย แต่ในความเป็นจริงแล้ววัสดุ Biomaterial ถูกนำมาใช้งานได้อย่างมากหลาย ยกตัวอย่างเช่น 

    • วัสดุอุดฟัน เช่น อะมัลกัม (Amalgam) และวัสดุสีเหมือนฟัน ที่ทำหน้าที่อุดช่องว่างภายในฟัน
    • คอนแทกเลนส์ (Contact lens) เช่น ซิลิโคนไฮโดรเจล​ (Silicone Hydrogel) ที่เป็นวัสดุใหม่ ช่วยให้สามารถใส่บนตาได้นานยิ่งขึ้น
  • เยื่อแก้วหูเทียม มักทำด้วยวัสดุผสมและคอลลาเจน เพื่อใช้ทดแทนเยื่อแก้วหูเดิมของผู้ป่วย
  • กระดูกและข้อเทียม ที่วัสดุทำจากโลหะ ยังมีบางส่วนทำจากเซรามิกเช่นไบโอกลาส (bioglass) นอกจากจะช่วยแทนที่กระดูกแล้วยังมีความสามารถในการยึดติดวัสดุและเนื้อเยื่อได้ดีอีกด้วย
  • เยื่อกรองสำหรับเครื่องฟอกไต ที่มักทำจากวัสดุสังเคราะห์เช่นโพลิเมอร์ ช่วยในการฟอกเลือดผ่านเครื่องกรอง
  • ไหมเย็บแผล มีทั้งวัสดุธรรมชาติที่ทำจากเอ็นไส้แกะ ไปจนถึงโพลิเมอร์สังเคราะห์โดยจะแยกออกเป็นไหมที่สามารถละลายได้ และไหมที่ไม่ละลาย
  • ผ้าพันแผลโปรตีนและเส้นใยชีวภาพ เป็นผ้าพันแผลรูปแบบใหม่ที่ใช้วัสดุประเภท Biomaterial เช่น คอลลาเจน และไบโอเซลลูโลสมาดัดแปลง เพื่อให้ได้ผ้าพันแผลที่แข็งแรง ยืดหยุ่น ช่วยทำให้เซลล์สร้างเนื้อเยื่อได้ดีขึ้น โดยประเทศไทยเองก็กำลังวิจัยเทคโนโลยีนี้ด้วยความร่วมมือของทาง ปตท.และกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อพัฒนาแผ่นปิดแผลจากไบโอเซลลูโลส ที่มีคุณสมบัติเทียบเท่าระดับสากล ให้คนไทยสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพในราคาถูกได้ในอนาคต

Biomaterial

นอกเหนือจากการใช้งานด้านบน เหล่านักวิจัยยังคงมีการทดสอบ ทดลอง อย่างต่อเนื่อง เพื่อศึกษาว่าชีววัสดุที่มีอยู่หลากหลายประเภทบนโลกนั้น วัสดุแบบไหนเหมาะสมกับการใช้งานอย่างไรมากที่สุด แน่นอนว่าไม่ใช่แค่อวัยวะภายในแต่ยังรวมถึงอวัยวะภายนอกร่างกาย เช่น นิ้ว หรือ มือ ที่ทำมาเพื่อช่วยให้ผู้พิการมีชีวิตประจำวันที่ดีขึ้นอีกด้วย

ประโยชน์อื่นๆ ของ Biomaterial นอกจากการรักษา

จากตัวอย่างด้านบน Biomaterial นั้นมีบทบาทในการรักษาผู้ป่วยอย่างแน่นอน แต่ในยุคสมัยที่แนวคิดของเทคโนโลยีก้าวไกลขนาดนี้ Biomaterial ย่อมมีงานอื่นในอนาคตรอคอยอยู่

ยกตัวอย่างเช่นการใช้เป็นวัสดุพื้นฐานของชิปที่ผ่าตัดใส่เข้าไปในตัวคน เพื่อใช้แทนบัตรประชาชนและเครดิตการ์ด รวมถึงประยุกต์ใช้สำหรับเชื่อมต่อสมองคนเข้ากับคอมพิวเตอร์ ที่ตอนนี้มันดูเป็นเรื่องน่ากลัวแต่ในอนาคตสิ่งเหล่านี้อาจเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับคนยุคต่อไปก็ได้เป็นได้ 

อนาคตของ Biomaterial ของที่น่าจับตามอง

แม้ว่าจะมีปัจจัยร่วมที่หลากหลาย ทว่าสิ่งที่ส่งผลกระทบต่ออนาคตของ Biomaterial จริงๆ คือเทคโนโลยี 3D Printing เพราะเทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยให้ทุกอุตสาหกรรมสามารถสรรค์สร้างสิ่งต่างๆ ได้โดยไม่จำกัดว่าจะมีความซับซ้อนแค่ไหน รวมถึงใช้วัสดุได้หลากหลาย ทั้งวัสดุทางการแพทย์และวัสดุใหม่อื่นๆ

Biomaterial

หากมองว่าเรื่องนี้ดูไกลตัว มันได้เกิดขึ้นจริงไปแล้ว เมื่อปี 2019 นักวิจัยได้มีการทดลองนำเซลล์ของสิ่งมีชีวิตมาเพื่อทำเป็นหัวใจเทียมขนาดเล็ก และพบว่ามันสามารถทำงานได้ใกล้เคียงกับของจริงมากๆ ซึ่งปัจจุบันทีมพัฒนาก็ยังคงวิจัยเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง และคาดว่าอนาคตเราอาจได้เห็นอวัยวะสำคัญอื่นๆ ถูกสร้างขึ้นมามากขึ้น และวันหนึ่งมันอาจใช้เพื่อทดแทนอวัยวะของผู้คนได้จริงๆ 

คุณภาพและความปลอดภัยในการใช้งานของ Biomaterial เป็นสิ่งสำคัญก็จริง ทว่าอีกประเด็นที่น่าสนใจของเรื่องนี้คือ “ต้นทุนและราคา” ที่เป็นตัวแปรสำคัญของคนส่วนใหญ่ในสังคม ด้วยวิทยาการการค้นคว้าและสังเคราะห์วัสดุต่างๆ เพื่อใช้งาน การทำให้ Biomaterial หลายชนิดที่มีปริมาณการใช้งานที่สูง ทำให้มีราคาต่ำลงเพื่อให้รักษาได้ครอบคลุมมากขึ้นก็เป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน

ประเทศไทยก็เป็นอีกประเทศที่ให้ความสำคัญกับ Biomaterial มาก โดยเฉพาะการวิจัยและพัฒนาทางการแพทย์ คงต้องติดตามกันต่อไปว่าวงการการแพทย์ของไทยจะมีการใช้งาน Biomaterials ในอนาคตอย่างไร และจะส่งผลอย่างไรกับสาธารณสุขอย่างไรบ้าง

New call-to-action

  • SUBSCRIBE TO BE
    THE FIRST INNOVATOR.

logo